พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลแล้ว ห้ามเข้าออกประเทศ เคลื่อนย้ายคน และคุมเวชภัณฑ์

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.03.25
กรุงเทพฯ
200326-TH-covid-travel-ban-1000.jpg นักท่องเที่ยวในที่พักโดยสาร พร้อมป้ายให้เว้นที่นั่ง 'รักษาระยะห่างทางสังคม' เพื่อป้องกันและสกัดกั้นการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ หนึ่งวันก่อนรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน วันที่ 25 มีนาคม 2563
เอเอฟพี

ในวันพุธนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ยืนยันว่า ประเทศไทยจะสามารถผ่านวิกฤตการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ไปได้ โดยมีประกาศห้ามคนเข้าออกประเทศ ห้ามการเคลื่อนย้ายคน และคุมเรื่องเวชภัณฑ์ต่างๆ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงพบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่ม 107 ราย

ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องถิ่นทั่วราชอาณาจักรไทย ให้ตั้งด่านตรวจจุดสกัด เฝ้าระวังการเดินทางข้ามพื้นที่จังหวัด และพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยงติดต่อโรค มีผลตั้งแต่ 00:01 น. วันพฤหัสที่ 26 มีนาคม โดยในรอบกรุงเทพฯ มีการตั้งด่านแล้ว 7 จุด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่า ตนเองจะเป็นผู้มีอำนาจสั่งการตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) โดยได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงต่าง ๆ เป็นผู้อำนวยการสถานการณ์ด้านนั้น ๆ และจะใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้น เพื่อแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ซึ่งประกาศรวมถึง ห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทย โดยยกเว้นผู้มีใบอนุญาตทำงาน เจ้าหน้าที่สถานทูต และเจ้าหน้าที่ต่างประเทศอื่นๆ

“รัฐบาลจะมีช่องทางตามกฎหมาย เข้าควบคุมหรือบริหารสถานการณ์ได้.. จะมีการออกข้อกำหนด คือ ข้อห้าม หรือข้อปฏิบัติบางอย่าง เช่น ห้ามเข้าออกสถานที่บางแห่ง ห้ามหรือจำกัดการเข้าออกราชอาณาจักร และการเคลื่อนย้ายประชาชนจำนวนมากข้ามเขตพื้นที่ การควบคุมการใช้พาหนะ เส้นทางจราจร การควบคุมสินค้าและเวชภัณฑ์” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

“วันนี้เราต้องยอมรับความจริงว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของภาวะวิกฤตจากไวรัสโควิด19 และสถานการณ์อาจจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และเลวร้ายยิ่งขึ้นกว่านี้อีกหลายเท่า ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ รวมทั้งรายได้ และการใช้ชีวิตของคนไทยทุกคน ด้วยเหตุนี้ ผมในฐานะนายกรัฐมนตรี จึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการต่างๆ ด้วยความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เราสามารถหยุดการแพร่ระบาดพร้อมกับลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ในหนังสือประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ ในวันนี้ ระบุว่า “การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร สำหรับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปควบคู่กัน ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึง 30 เมษายน 2563”

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเกี่ยวกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า จะให้อำนาจนายกรัฐมนตรี สามารถออกคำสั่งโดยไม่จำเป็นต้องผ่านมติที่ประชุมได้

“กรณีจำเป็นเร่งด่วนนายกรัฐมนตรีอาจจะพิจารณาสั่งการไปในนามของ ศอฉ.นี้ได้ โดยไม่ต้องเรียกประชุมคณะกรรมการ หรือจะเชิญคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง 4-7 คน มาประชุมแล้วสั่งการ ถือเป็นมติของศูนย์นี้ โดยไม่ต้องเรียกประชุมเต็มคณะทั้ง 40 คน แล้วสามารถตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจตั้งที่ปรึกษาได้” นายวิษณุ กล่าว

โดยมาตรการของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้

1. การห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง ตามที่กำหนดในมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 17 มีนาคม 2563 หรือตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพ หรือจังหวัดสั่ง 2. ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค สนามกีฬา สถานบันเทิง แหล่งท่องเที่ยว และตลาด โดยอาจมีเงื่อนไขตามความเหมาะสม 3. ปิดช่องทางเข้ามาในราชอาณาจักร ทุกช่องทาง โดยให้เข้าได้เฉพาะผู้ได้รับอนุญาต หรือคนไทยที่ต้องการจะกลับประเทศแต่จำเป็นต้องมีเอกสารรับรอง 4. ห้ามกักตุนสินค้า ยา เวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม สินค้าอื่นที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน 5. ห้ามชุมนุม ห้ามทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในสถานที่แออัด 6. ห้ามเสนอข่าวหรือเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับ โควิด-19 ที่ไม่เป็นความจริง 7. ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพและจังหวัด กำกับดูแลเขตรับผิดชอบ ให้หน่วยราชการช่วยประชาสัมพันธ์มาตรการ ให้โรงพยาบาลเตรียมความพร้อมรับมือผู้ป่วยที่อาจเพิ่มขึ้น และอาจดัดแปลงสถานที่อื่นใช้รองรับผู้ป่วยด้วย ให้มีการกักตัวประชาชนที่เดินทางข้ามเขตตามมาตรการ 8. ให้ผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว หรือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี กักตัวในที่พักยกเว้นต้องไปพบแพทย์

9. มาตรการเกี่ยวกับการออกนอกราชอาณาจักร ให้อำนวยความสะดวกให้กับชาวต่างชาติที่ไม่มีธุระหรือที่อยู่ในไทยเดินทางออกนอกประเทศ 10. มาตรการดูแลความสงบเรียบร้อยในกรุงเทพมหานคร ให้มีการตั้งจุดตรวจเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย 11. มาตรการป้องกันโรค ให้ทำความสะอาดอาคาร เจ้าหน้าที่ต้องใส่หน้ากาก ล้างมือ นั่งห่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตร และไม่ให้ทำกิจกรรมในที่แออัด 12. สถานที่ที่เปิดให้บริการตามปกติ ได้แก่ สถานพยาบาล สถานที่ขายอาหาร สถาบันการเงิน สถานที่ขายเชื้อเพลิง และบริการขนส่งสินค้าและอาหาร 13. คำแนะนำเกี่ยวกับการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ให้ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด 14. การจัดงานบุญ หรืองานศพ หากจะดำเนินการต้องดำเนินตามมาตรการควบคุมโรค

15. โทษ ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ 1-6 ต้องรับโทษตามมาตรา 18 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และอาจมีความผิดตามมาตรา 52 พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ หรือมาตรา 41 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ และ 16. การใช้บังคับข้อกำหนดนี้ให้ใช้บังคับทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสามารถออกข้อกำหนดเปลี่ยนแปลง เพิ่มหรือลดมาตรการ/เงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาได้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 107 ราย รวมป่วยสะสม 934 ราย

ในวันเดียวกัน นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยระบุว่า ประเทศไทยยังคงพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่ผู้เสียชีวิตยังคงที่ โดยผู้ป่วยอาการหนัก 4  ราย ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

“มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 13 ราย สะสมแล้ว 70 ราย รายงานผู้ป่วยใหม่เพิ่มวันนี้คือ 107 ราย ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 860 ราย เสียชีวิต 4 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม 934 ราย”

“ในขณะนี้ประชาชนที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล มีการเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนา ก็ต้องนำเรียนว่า ท่านมีโอกาสนำโรคไปแพร่กระจายให้กับคนใกล้ชิด กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัคร ให้สำรวจผู้เดินทางกลับภูมิลำเนา ให้คำแนะนำปฏิบัติตัวแยกตนเองอยู่บ้าน 14 วัน และเว้นระยะห่างทางสังคม 1-2 เมตร ดีที่สุดสวมหน้ากากอนามัย ใช้หน้ากากผ้า” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ผู้ป่วย 107 รายที่พบใหม่ สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มที่ประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 27 ราย โดยในนั้นมีผู้ที่ไปร่วมพิธีทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซีย 4 ราย โดยอาศัยอยู่ในจังหวัดสงขลา และยะลา 2. ผู้ป่วยรายใหม่ 13 ราย ในนั้นเป็นแพทย์ 2 ราย และมีผู้ต้องขังด้วย 3. กลุ่มที่ยังไม่ได้สอบสวนโรค 67 ราย

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 423,121 คน มีผู้ติดเชื้ออย่างน้อยใน 170 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 18,919 คน รักษาหายแล้ว 108,619 คน ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ อิตาลี จีน สเปน อิหร่าน และฝรั่งเศส เป็นต้น

ประเทศที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ จีน อิตาลี สหรัฐอเมริกา สเปน เยอรมนี และประเทศอื่น ๆ ตามลำดับ โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในขั้นระบาดใหญ่ หรือ Pandemic แล้ว

กองทัพบกออกมาตรการสู้โควิด-19

ทั้งนี้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า กองทัพบกมีกำลังพลที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัส โควิด-19 จำนวน 5 นาย กำลังพลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงและอยู่ระหว่างการกักตัว ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข 238 นาย โดยทั้งหมดได้กักตัวอยู่บ้านแล้ว

พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวว่า กองทัพบกจะมีมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยเช่นกัน โดยมีคำสั่งสรุป เคร่งครัดเรื่องการเข้า-ออกบ้านพักราชการ หรือบริเวณโดยไม่จำเป็น และห้ามบุคคลภายนอกเข้า, ห้ามเดินทางออกนอกเขตกองทัพ หรือจังหวัด ยกเว้นได้รับคำสั่งหรือฉุกเฉิน, ให้ผู้บังคับบัญชาปรับปรุงอาคารสถานที่เพื่อลดความความแออัดและความเสี่ยงในการติดโรค, ให้รักษาวินัย เว้นระยะห่าง 2 เมตร และให้ใช้อุปกรณ์ส่วนตัวเพื่อดำรงชีวิต

ทั้งมี การงดการปล่อยลาพักของทหารกองประจำการ เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรค การเยี่ยมญาติ ต้องเป็นไปตามมาตรการระวังป้องกันโรคระบาด หากออกนอกพื้นที่ต้องกักตัว 14 วัน, ให้ทุกหน่วยพิจารณาจำกัดทางเข้า-ออกของหน่วย มีเจ้าหน้าที่คัดกรอง และเจ้าหน้าที่ต้องใส่หน้ากาก, ผู้บังคับกองร้อยและผู้บังคับกองพัน จะต้องเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด โดยมีผู้บังคับการกรม และ ผบ.พล หรือเทียบเท่า เป็นผู้กำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง หากไม่กำกับการปฏิบัติฯ หรือได้รับการรายงาน ฯ ถือว่าขัดคำสั่ง จะมีผลในการปรับย้ายทันที

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง

ความคิดเห็น

PLaudge
Nov 17, 2023 05:30 AM

Give us a heads up asap <a href=http://cialiss.buzz>cialis from usa pharmacy</a> Endocarditis, nephritis, meningitis, and hepatitis are potential complications