กรมคุ้มครองสิทธิฯเดินหน้าแก้กฎหมายบางตัว ลดการใช้โทษประหารชีวิต

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.04.12
กรุงเทพฯ
180412-TH-prisoners-1000.jpg เจ้าหน้าที่เรือนจำเฝ้าผู้ต้องขังในเรือนจำคลองเปรม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2545
เอเอฟพี

ในวันพฤหัสบดีนี้ นางปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า กรมคุ้มครองสิทธิฯ กำลังดำเนินการศึกษา เพื่อหาแนวทางปรับแก้กฎหมายอาญา เพื่อลดการใช้โทษประหารชีวิต ให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องขององค์การสากล และแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ซึ่งพบว่า มีกฎหมาย 63 ตัว ที่มีโทษประหารชีวิต

นางปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยพยายามที่จะลดการใช้โทษประหารชีวิต โดยกรมคุ้มครองสิทธิฯ ได้ดำเนินการศึกษา และทำข้อเสนอแนะให้มีการปรับแก้กฎหมายบางฉบับ เพื่อลดการใช้โทษประหารชีวิตให้สอดคล้องตามแนวทางของ แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 และข้อเรียกร้องขององค์กรสากลระหว่างประเทศ

“จุดเริ่มต้นของความพยายามแก้ไขกฎหมายมาจากข้อเสนอแนะในแผนสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 3 ซึ่งจากการศึกษาเราก็พบว่า มีกฎหมาย 63 ตัว ที่มีโทษประหารชีวิต บางฐานความผิด มีโทษประหารชีวิตอย่างเดียว ไม่ได้ให้ศาลได้ใช้ดุลพินิจให้จำคุกตลอดชีวิต อันนี้จะต้องมาดูว่า จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมในอนาคตโดยให้ศาลใช้ดุลพินิจเพิ่มว่า จะให้ประหารชีวิต หรือ จำคุกตลอดชีวิตก็ได้ หลังจากนั้น กรมคุ้มครองสิทธิจะเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมาย นี่คือ ความพยายามของไทยเกี่ยวกับข้อเรียกร้องเรื่องโทษประหารชีวิต” นางปิติกาญจน์กล่าว

“ประเทศไทยไม่มีการประหารชีวิตมาเกือบ 10 ปีแล้ว ระบบกฎหมายไทยหลังจากศาลชั้นต้น อุทธรณ์ ฎีกา แล้ว เรามีระบบของเรา ถ้าใครถูกตัดสินประหารชีวิตต้องทูลเกล้าฯถวายฎีกากับในหลวงขอลดโทษทันที กลุ่มผู้ต้องโทษประหาร กลุ่มนี้ก็รอทูลเกล้าฯถวายฎีกา ดังนั้นหลังวันมงคล นักโทษกลุ่มนี้ก็จะถูกลดโทษจากประหารชีวิตเหลือจำคุกตลอดชีวิต ก็เลยเป็นที่มาว่า ในรอบหลายปีมานี้จึงไม่มีการประหาร” นางปิติกาญจน์กล่าวเพิ่มเติม

การเปิดเผยครั้งนี้ สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่รณรงค์ให้ทั่วโลกยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยการเปิดเผยรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตทั่วโลกปี 2560 พบว่า  มีเพียง 23 ประเทศที่ใช้โทษประหารชีวิตจากทั้งหมด 195 ประเทศ ส่วนประเทศไทยไม่มีการลงโทษประหารชีวิตมาแล้ว 9 ปี ด้านอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเปิดเผยว่า ไทยกำลังพยายามแก้กฎหมายบางฉบับเพื่อลดการพิพากษาประหารชีวิต

รายงานของแอมเนสตี้ฯ เปิดเผยว่า มีคนอย่างน้อย 993 คน จาก 23 ประเทศ ถูกประหารชีวิตในปี 2560 โดยสถิตินี้ไม่นับรวมในประเทศจีนที่เชื่อว่า มีการประหารชีวิตมากกว่า 1,000 ครั้ง แต่ไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการในช่วงปีที่ผ่านมา สำหรับเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่ทำการประหารชีวิต คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเปิดเผยว่า ไทยยังคงเป็นหนึ่งใน 56 ประเทศที่มีโทษประหารชีวิต โดยในปี 2560 มีการตัดสินโทษประหารชีวิต 75 ครั้ง ถือว่าลดลงจากปี 2559 ที่มีการตัดสินประหารชีวิต 216 ครั้ง ซึ่งแอมเนสตี้ฯ รณรงค์ให้ประเทศไทยยกเลิกโทษประหารชีวิต เนื่องจากเชื่อว่าเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม และลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“ขณะนี้ ประเทศไทยใกล้จะกลายเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติแล้ว หากไม่มีการประหารชีวิตติดต่อกันครบ 10 ปี สหประชาชาติจะถือว่า เป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติทันที ซึ่งจะกลายเป็นพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของไทย” นางปิยนุชกล่าว

“แอมเนสตี้ฯ เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินการตามเจตน์จำนงที่ระบุไว้ในแผนสิทธิมนุษยชนฯ โดยประกาศพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ และเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทลงโทษด้วยการประหารชีวิต รวมทั้งให้ลงนามและให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สอง ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต” ปิยนุชกล่าวทิ้งท้าย

แอมเนสตี้ฯ ยังเปิดเผยอีกว่า ในปี 2560 ทั่วโลกมีประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว 142 ประเทศทั้งทางปฎิบัติ และทางกฎหมาย โดยกินี และมองโกเลีย ถือเป็นสองประเทศล่าสุดที่ยกเลิกโทษประหารชีวิต

ข้อมูลของ กรมราชทัณฑ์ระบุว่า จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ประเทศไทยมีผู้ต้องโทษประหารชีวิตทั้งหมด 502 คน เป็นชาย 414 คน หญิง 82 คน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย ดำเนินการประหารชีวิตผู้ต้องโทษครั้งสุดท้ายในปี 2552 ซึ่งทำให้จนถึงปัจจุบัน เข้าสู่ปีที่ 9 ที่ประเทศไทยไม่มีการประหารชีวิตแล้ว โดยหากในปี 2561 และ 2562 ประเทศไทยไม่มีการประหารชีวิต ไทยก็จะถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการยกเลิกโทษประหารเช่นกัน เพราะหากไม่มีการประหารชีวิตเป็นระยะเวลา 10 ปี สหประชาชาติถือว่า ประเทศนั้นได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฎิบัติแล้ว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง