ไทยประหารนักโทษเด็ดขาดรายแรก ในรอบ 9 ปี
2018.06.18
กรุงเทพฯ

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยในวันจันทร์ ว่าได้ดำเนินการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดรายหนึ่ง อายุ 26 ปี ด้วยการฉีดสารพิษ ซึ่งเป็นการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้าย เพื่อชิงทรัพย์ ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการประหารชีวิตนักโทษ การประหารชีวิตโดยการฉีดสารพิษ นับเป็นรายที่ 7 โดยครั้งหลังสุดเกิดขึ้นในปี 2552 เมื่อ 9 ปีมาแล้ว
สำหรับคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 ที่จังหวัดตรัง นักโทษเด็ดขาดดังกล่าวได้ทำร้ายร่างกาย ชายวัยรุ่นอายุ 17 ปี โดยใช้มีดแทงผู้ตายรวม 24 แผล และบังคับเอาทรัพย์สิน คือ โทรศัพท์มือถือและกระเป๋าสตางค์ เป็นเหตุให้เหยื่อถึงแก่ความตาย
แถลงการณ์ของ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตอนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยในวันนี้ ว่า การประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชาย (ขอสงวนนาม) อายุ 26 ปี รายนี้ เกิดขึ้นเมื่อเวลา 15.00-18.00 น. ตามเวลาของประเทศไทย หลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และ ศาลอุทธรณ์ ที่พิพากษาให้ประหารชีวิต นักโทษชายรายนี้ด้วยการฉีดสารพิษ ด้วยความผิดฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์
“การบังคับโทษประหารชีวิตดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 ประกอบมาตรา 19 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการประหารชีวิตนักโทษ พ.ศ.2546 ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการด้วยวิธีการฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย นับเป็นผู้ต้องขังรายที่ 7 นับแต่มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2546 ซึ่งเปลี่ยนวิธีการบังคับโทษประหารชีวิตจากการยิงเสียให้ตาย เป็นการฉีดสารพิษ” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ระบุ
โดย รายงานของกรมราชทัณฑ์ระบุว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 จนถึงวันนี้ มีการบังคับโทษประหารชีวิตมาแล้ว จำนวน 326 ราย โดยแบ่งเป็นการใช้อาวุธปืนยิง จำนวน 319 ราย โดยรายสุดท้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2546 หลังจากนั้น เป็นการประหารโดยการฉีดยาสารพิษ จำนวน 6 ราย เริ่มครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2546 และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2552
หลังจากข่าวการประหารชีวิตนักโทษชายรายนี้เผยแพร่ตามสื่อมวลชนไทย สังคมออนไลน์ได้ออกมาแสดงความเห็นอย่างดุเดือด ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยประชาชนที่เห็นด้วยกับการประหารชีวิตส่วนใหญ่ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเว็บไซต์ข่าว ระบุว่า เห็นด้วยในการคงโทษประหารชีวิต เพื่อจะได้ตัดวงจรการทำผิดรุนแรงซ้ำซาก โดยเฉพาะการเพิ่มโทษประหารชีวิตในคดีข่มขืนทุกกรณี ในขณะที่นักสิทธิมนุษยชนประณามการลงโทษด้วยการประหารชีวิต
“ไม่น่าเชื่อว่าประเทศไทยจะกลับมาประหารชีวิตคนจริงๆ ทั้งที่ยกเลิกมาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว” นายสุรพงษ์ กองจันทึก ทนายความและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนโพสต์ข้อความลงในเฟสบุคส่วนตัว
ที่ผ่านมา องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม รณรงค์ขอให้รัฐบาลไทยยุติการลงโทษด้วยการประหารชีวิต และเรียกร้องให้ยึดคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในการพิจารณาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ UPR เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ว่าจะเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต
จากรายงาน “สถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตปี 2559” (Death Sentences and Executions in 2015) ของ แอมเนสตี้ ระบุว่า ปัจจุบันมีประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติไปแล้วจำนวน 141 ประเทศ หรือมากกว่า 2 ใน 3 ของโลก และจากการสำรวจในกลุ่มประเทศสมาชิกในประชาคมอาเซียน พบว่า ประเทศกัมพูชา และ ฟิลิปปินส์ ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิต สำหรับความผิดอาญาทุกประเภทไปแล้ว ส่วน พม่า ลาว และ บรูไน ไม่มีการประหารชีวิตประชาชนมากว่า 10 ปี ติดต่อกัน ในขณะที่ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ยังมีโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายและยังมีการประหารชีวิตนักโทษในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่
อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประหารชีวิต ถือเป็นบทลงโทษทางอาญาที่หนักที่สุดตามกฎหมายไทย ซึ่งมีโทษ 5 อย่าง คือ ปรับ ริบทรัพย์สิน กักขัง จำคุก และประหารชีวิต โดยกรมราชทัณฑ์ หวังว่าการประหารชีวิตในครั้งนี้ จะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่คิด จะก่ออาชญากรรมร้ายแรงหรือกระทำผิดกฎหมายได้ยั้งคิดถึงบทลงโทษนี้
“แม้หลายประเทศได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้วก็ตาม แต่ก็มีอีกหลายประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่ เช่นเดียวกับประเทศไทย อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งเน้นการปกป้องสังคมและพลเมืองส่วนใหญ่ให้พ้นจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม มากกว่าเน้นสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่กระทำผิดกฎหมาย” พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวทิ้งท้าย