องค์กรสิทธิฯ จชต. โวยแสดงอัตลักษณ์สองแชะ
2020.05.20
ปัตตานี

ในวันพุธนี้ กลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แสดงความกังวลต่อการทยอยตัดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ใช้บริการ ที่ไม่ได้ไปแสดงตัวตน ตามที่คณะกรรมการการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกองทัพภาคที่ 4 ได้ออกมาตรการมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อป้องกันการใช้มือถือจุดระเบิดหรือการถูกสวมสิทธิหมายเลขโทรศัพท์เพื่อก่ออาชญากรรม
ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม ปีที่แล้ว คณะกรรมการการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับกองทัพภาคที่ 4 ได้รณรงค์แคมเปญ “2 แชะอัตลักษณ์ ลงทะเบียนมั่นใจ ปลอดภัย ไร้ปลอมแปลง” เชิญชวนให้ผู้ใช้มือถือทั้งแบบเติมเงินและแบบรายเดือนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมแสดงตัวตนโดยให้ถ่ายรูปเจ้าตัวและบัตรประชาชนไว้ นอกจากนั้น พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ได้ชี้แจงว่า มาตรการดังกล่าว ยังเป็นการป้องกันการใช้ซิมการ์ดมือถือ เพื่อการจุดระเบิดอีกด้วย
ล่าสุด ประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ (รวมถึง 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา) ที่ใช้ CAT, DTAC, AIS และ TRUE ที่ไม่ยอมยืนยันตัวตนจำนวนมาก ถูกระงับสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตแล้ว โดยทาง กสทช. ชี้แจงว่า ได้เปิดช่องทางให้โทรออกได้สำหรับเบอร์ฉุกเฉิน ไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้เท่านั้น
จากข้อมูลของ กอ.รมน. ภาค 4 มีผู้ใช้ซิมการ์ดในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จำนวนทั้งสิ้น 1.5 ล้านหมายเลข เป็นหมายเลขจดทะเบียนรายเดือนเพียง 300,000 หมายเลข เท่านั้น ปัจจุบันนี้ ทาง กอ.รมน. ได้ดำเนินการบริการให้ผู้ใช้บริการโทรศัพท์ลงทะเบียนโดยระบบสองแช๊ะอัตลักษณ์ไปแล้วทั้งสิ้น 888,813 เลขหมาย โดยใช้เจ้าหน้าที่ทหารทั้งสิ้น 7,305 นาย ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2562 อย่างก็ตาม ผู้ให้บริการเครือข่ายไม่สามารถให้ข้อมูลแก่เบนาร์นิวส์ได้ว่า ณ ปัจจุบัน ได้ตัดสายที่เจ้าของไม่แสดงแล้วทุกสายหรือไม่
ในวันนี้ องค์การด้านสิทธิมนุษยชน ได้แก่ เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) มูลนิธินูซันตาราเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กลุ่มบุหงารายาเพื่อการศึกษา กลุ่มด้วยใจ และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลในเรื่องนี้ เพราะไม่ไว้วางใจทหารว่า จะนำรูปและบัตรประชาชนไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องหรือไม่
“ในจังหวัดใต้สุดแดนมีความเหลื่อมล้ำมาก กอ.รมน. ตัดสัญญานมือถือแบบเติมเงิน ไม่เว้นแม้ช่วงโควิด-19 ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าชาวบ้านจะต้องใช้ติดต่อสื่อสาร ไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้ ยิ่งช่วงนี้ จะต้องเรียนออนไลน์และในพื้นที่กำลังจะมีเทศกาลรายอ ก็ไม่สามารถโทรขออภัยกันได้ ถือเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิ เป็นการที่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ โดยเฉพาะกับมลายูมุสลิม” น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“อีกทั้งได้นำเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้ามาใช้ครั้งแรก โดยรัฐไทยที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเทคโนโลยีของการตรวจจับใบหน้าที่อาจตกเป็นแพะ ชาวบ้านจึงไม่ไว้ใจรัฐ ไม่ไว้ใจทหาร และไม่ไว้ใจกระบวนการยุติธรรมที่อาจตามมากับสองแชะ ไม่ใช่ไม่ไว้ใจเทคโนโลยี” น.ส.พรเพ็ญกล่าว
ทั้งนี้ น.ส.พรเพ็ญ กล่าวว่า จากการเปิดรับร้องเรียน ในห้วงเวลาสามวันนี้ ผู้ที่มีความเดือดร้อนในพื้นที่ร้องเรียนเข้ามา 50 คน โดยส่วนใหญ่แบบเติมเงิน และใช้เครือข่าย AIS ซึ่งบริษัท AIS ไม่ตัดสัญญาณซิมแบบเติมเงินทั้งหมด 4 แสนคน ในครั้งเดียวแต่ทยอยตัด เพื่อป้องกันการการลุกฮือ โดยเชื่อว่ามีหลายหมื่นคนที่ถูกตัดสัญญานไปแล้ว
ด้านนายอิสมะแอ ดอเลาะ ชาวจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า มือถือของตนในเครือข่าย CAT ถูกตัดเมื่อสิ้นเดือนนี้ และตนเองมึความกังวลต่อการถูกถ่ายรูปและบัตรประชาชน
"ผมสอบถามเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการให้จึงสามารถกลับมาใช้งานได้เป็นปกติ ผมกังวลนิดหน่อยว่าทหารอาจนำไปทำอย่างอื่น แต่ก็หวังว่าเขาจะไม่ทำอะไรที่ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายต่อประชาชน การลงทะเบียนซิม ก็ต้องสแกนใบหน้าเหมือนกัน แต่เรารู้สึกกังวลเพราะทหารกำกับเหมือนเราถูกบังคับ การเปิดบัญชีที่เซเวนก็ต้องสแกนใบหน้าแต่เราไม่กังวลเพราะเราไปทำโดยสมัครใจ" นายอิสมะแอ กล่าวเบนาร์นิวส์
ขณะเดียวกัน นายสมคิด นาคะพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เขต 41 จังหวัดยะลา ชี้แจงกล่าวว่า การลงทะเบียนยืนยันตัวตนสิ้นสุด เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 63 ซิมโทรศัพท์หมายเลขนั้นจะระงับการโทรออก แต่เพื่ออำนวยความสะดวก กรณีเร่งด่วนฉุกเฉินโดยเฉพาะในห้วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงเปิดระบบให้สามารถรับสายและโทรออกหมายเลขฉุกเฉิน จำนวน 3 หมายเลข ประกอบด้วย สายด่วนแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย 191, สายด่วนแจ้งเหตุเพลิงไหม้ 199, และสายด่วนนเรนทร 1669 รวมทั้งเปิดระบบ SMS สิทธิดังกล่าวจะขยายเพิ่มเป็นกรณีพิเศษตั้งแต่วันที่ 1-31 พ.ค. 63 นี้เท่านั้น หากในระยะเวลาดังกล่าวยังไม่ทำการลงทะเบียนยืนยันตัวตน ซิมหมายนั้นจะดับทันทีโดยไม่สามารถใช้งานใด ๆ ได้อีก
“เพื่อให้การใช้ซิมโทรศัพท์ของประชาชนในพื้นที่เป็นไปโดยราบรื่น ขอให้รีบดำเนินการลงทะเบียน 2 แชะ ยืนยันตัวตน ซึ่งมาตรการที่กำหนดขึ้นมีวัตถุประสงค์หลัก คือ การปกป้องและรักษาสิทธิ์ของผู้ใช้ซิมโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก โดยภาพถ่ายทั้งตัวบุคคลและบัตรประชาชน จะส่งต่อไปยังระบบของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือโดยตรง” นายสมคิดกล่าว
นายสมคิด กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาพบว่า มิจฉาชีพและกลุ่มผู้ไม่หวังดี มักนำบัตรประชาชนของบุคคลอื่นไปใช้ซื้อซิมโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสามารถลงทะเบียนทำธุรกรรมทางการเงิน หรือนำมาใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย โดยเจ้าของซิมต้องกลายเป็นจำเลยโดยไม่มีส่วนรู้เห็น ดังนั้นการลงทะเบียนซิมในรูปแบบ 2 แช๊ะ ยืนยันตัวตน จะทำให้ไม่มีใครนำชื่อเราไปใช้ในการซื้อซิมได้ในทุกกรณี