แม่ทัพภาคสี่ตั้งกรรมการสอบ เหตุยิงสามชาวบ้านเสียชีวิต
2019.12.17
นราธิวาส

ในวันอังคารนี้ พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่สี่ ได้แถลงข่าวว่า บุคคลสามรายที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิตบนเทือกเขาตะเว จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันจันทร์นั้น ในเบื้องต้นพบว่าเป็นพลเรือน และได้สั่งการให้หน่วยต้นสังกัดสอบสวนเหตุที่เกิดขึ้น เพื่อลงโทษทางวินัยและอาญา หากมีเจ้าหน้าที่ตั้งใจกระทำผิดจริง พร้อมทั้งกำหนดให้คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีผู้นำศาสนาและพลเรือนเป็นกรรมการ ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงคู่ขนานเพื่อความยุติธรรมอีกด้วย
ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ แม่ทัพภาคที่ 4 และเจ้าหน้าที่ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ ฉก.ทพ.ที่ 45 ได้นำกำลังขึ้นไปบนเทือกเขาตะเว ด้านหลังหมู่บ้านอาแน ม.8 ต.บองอ อำเภอระแงะ นราธิวาส เพื่อค้นหากลุ่มชายติดอาวุธ จนเกิดการยิงปะทะกัน ทำให้มีเสียชีวิต 3 ราย โดยเชื่อว่าทั้งสามรายเป็นสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบที่หลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ แต่ทางญาติๆ แย้งว่าบุคคลทั้งสาม เป็นชาวบ้านที่ขึ้นเขาไปตัดไม้ ไม่ได้เป็นคนร้ายแต่อย่างใด
พล.ท.พรศักดิ์ ได้กล่าวชี้แจงว่า เหตุการณ์ดังกล่าว มีความสืบเนื่องมาจากเหตุปะทะกับกลุ่มคนร้าย เมื่อ 4 ธันวาคม 2562 ในพื้นที่ หมู่ 13 ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งคนร้ายได้หลบหนีไปได้ จนกระทั่งเมื่อวานนี้ เจ้าหน้าที่ได้พบกับกลุ่มคนต้องสงสัย จึงมีการยิงกันขึ้น
“เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุได้เจอกับกลุ่มบุลคลไม่ทราบฝ่าย ประมาณ 4-5 คน เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวเพื่อตรวจสอบ แต่กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้วิ่งหลบหนี พร้อมกับได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 3-4 นัด เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการยิงตอบโต้ และเมื่อเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบมีผู้เสียชีวิต 3 ราย ส่วนที่เหลือได้หลบหนีไปได้” พล.ท.พรศักดิ์ กล่าวในการแถลงข่าวในจังหวัดนราธิวาสในวันอังคารนี้
“อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในเบื้องต้น พบว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย เป็นราษฎรในหมู่บ้าน มิใช่ผู้ก่อเหตุรุนแรง ถึงแม้เจ้าหน้าที่จะปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง แต่ได้สำคัญผิดว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ที่ปรากฏภาพข่าวความเคลื่อนไหวในพื้นที่ดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อเกิดความสูญเสียขึ้น เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคนก็ไม่สามารถที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบได้ โดยจะต้องเข้าสู่กระบวนการตามขั้นตอนของกฎหมาย พร้อมกับตั้งคณะกรรมการสอบสวนของหน่วย เพื่อดำเนินการกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางวินัยและทางอาญาขั้นเด็ดขาด โดยไม่มีข้อละเว้น” พล.ท.พรศักดิ์ กล่าว
พล.ท.พรศักดิ์ ยังระบุว่า ยังได้มอบหมายให้คณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นองค์กรอิสระจากผู้แทนของทุกภาคส่วน ที่ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ เข้าทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงคู่ขนานอย่างเป็นอิสระ โปร่งใส เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาให้เหมาะสม และเกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
“แต่บทสรุปดังกล่าว จะไม่มีข้อพันธะผูกพันทางกฎหมาย” พล.ท.พรศักดิ์ ระบุ
ทั้งนี้ พล.ท.พรศักดิ์ กล่าวอีกว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ในห้วงเวลาที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้เปิดแผนเข้ากดดันกลุ่มคนร้ายในพื้นที่ป่าภูเขาทุกพื้นที่ พร้อมได้ออกคำสั่งห้ามราษฎรขึ้นไปหาของป่า หรือกระทำสิ่งอื่นใดในพื้นที่ป่าภูเขา โดยได้แจ้งผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เทือกเขาเมาะแต และเทือกเขาตะเว ถือเป็นพื้นที่หวงห้ามเด็ดขาด เพราะเป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ ได้เคยปะทะกับกลุ่มคนร้ายมาแล้วหลายครั้ง
ญาติแย้งไม่ใช่โจรใต้
ในวันนี้ ศูนย์เด็กเล็กบ้านอาเน หมู่ 8 ตำบลบองอ อำเภอระแงะ กลายเป็นศูนย์รวมของชาวบ้านกว่าร้อยชีวิตที่ไปรวมตัวกัน เพื่อรอรับศพชาย 3 คน ที่ถูกยิงบนเทือกเขาตะเว โดยมีผู้เสียชีวิต ประกอบด้วย นายมะนาซี สะมะแอ อายุ 27 ปี นายฮาพีซี มะดาโอะ อายุ 24 ปี และ นายบูดีมัน มะลี อายุ 26 ปี ทั้งหมดเป็นชาวตำบลบองอ อำเภอระแงะ นราธิวาส
นายอิบรอเฮง มะลี บิดาของนายบูดีมัน มะลี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ว่าตนได้ยินเสียงปืนตั้งแต่ตอนเช้าของวันจันทร์ และได้ยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของทั้งสามราย
“ลูกชายกับนายฮาฟีซี มะดาโอ๊ะ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของตน และเพื่อนของทั้งคู่ คือ นายมะนาซี ถูกยิงบนเขาแน่นอน เพราะมีคนที่ทราบเกี่ยวกับเหตุการณ์และกลับมาเล่าว่าคนที่เสียชีวิตคือสามคนนี้ โดยคนที่รู้เรื่องคือชาวบ้านไปที่ขึ้นไปตัดไม้เมื่อวาน พอได้ยินเสียงปืนจึงรีบวิ่งลงมา และเล่าให้ชาวบ้านฟัง จากนั้นก็วิ่งกลับขึ้นไปอีก จนถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและยึดโทรศัพท์เอาไว้ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะปล่อยตัวกลับมา และมีเสียงยิงปืนขึ้นฟ้าตามมาด้วย" นายอิบรอเฮงกล่าว
“ผมยืนยันว่าลูกชายและหลาน รวมถึงเพื่อนของเขาไม่ใช่โจร ไม่ใช่คนร้ายตามที่เป็นข่าว พวกเขาแค่เข้าไปตัดไม้บนภูเขาเพื่อหารายได้ และยืนยันว่าปืนที่พบไม่ใช่ของลูกชายแน่นอน สิ่งที่ต้องการคือความยุติธรรม เพราะลูกกับหลานไม่ใช่คนร้าย เป็นชาวบ้านหาเช้ากินค่ำ แต่ตัวผมเองเคยถูกจับนานมากแล้ว จำไม่ได้” นายอิบรอเฮง กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายมาหามะรอยาลี สะมะแอ บิดาของนายมะนาซี สะมะแอ กล่าวว่า ตนยังไม่ได้นอนเลยตั้งแต่เมื่อคืน เพราะรอรับศพลูก ซึ่งในภายหลังเจ้าหน้าที่และชาวบ้านขึ้นไปเก็บศพบนเทือกเขาตะเว
“สงสารร่างเขาคงทรมาน ตอนนี้อยากได้ร่างของลูกและความเป็นธรรมให้เขา เพราะเขาไม่ใช่โจร ปืนไม่ใช่ของเขาแน่ ขอให้แม่ทัพหรือผู้เกี่ยวข้องให้ความเป็นธรรมกับพวกเขาทั้งสามและครอบครัว แก้ข่าวด้วยว่าเขาไม่ใช่คนร้าย เขาเป็นชาวบ้านไปตัดไม้” นายมาหามะรอยาลี กล่าว
ทั้งนี้ จากรายงานล่าสุด ได้มีการทำพิธีศพทั้งสามราย ที่กุโบร์ในหมู่บ้านหลังสองทุ่ม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในระหว่างการแถลงข่าว นางพรวิลัย บวรณรงค์เดช คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิฯ กอ.รมน. กล่าวว่า คณะกรรมการฯ จะให้ความเป็นธรรมต่อผู้เสียหาย
“ผู้เสียชีวิตทั้งสามรายอยู่ในสภาพที่นอนเสียชีวิตอยู่ข้างกองไม้แปรรูปโดยที่ไม่มีอาวุธปืนแต่อย่างใด และเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้มีการจัดฉาก ซึ่งขอให้ชาวบ้านทุกคนไว้วางใจการสอบสวนข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่” นางพรวิลัย กล่าว
ด้าน น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวทางเฟซบุ๊กว่า “การค้นหาความจริงการฆ่าชาวบ้านตายสามคน ที่นราธิวาสต้องเป็นคณะกรรมการที่เป็นอิสระ มีความสามารถ ถ้าไม่เช่นนั้นก็เป็นได้แค่โฆษกของผู้มีอำนาจ”
ทั้งนี้ ได้เกิดเหตุการณ์ยิงผิดตัว อย่างน้อยสี่ครั้ง ในช่วง 7 ปี ที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2555 เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ทหารพรานยิงชาวบ้านขณะจะไปละหมาดศพ เหตุเกิดใน ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 4 ราย และมีผู้รอดชีวิต 1 ราย เหตุการณ์ที่สอง เกิดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2558 โดยเจ้าหน้าที่ได้ยิงชาวบ้านเสียชึวิต 2 ราย และนักศึกษามหาวิทยาลัยฟาฏอนี เสียชีวิตอีก 2 ราย ในระหว่างการปิดล้อมหมู่บ้านโต๊ะชุด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เพื่อค้นหาผู้ก่อความไม่สงบ เหตุการณ์ที่สาม เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2560 ซึ่งชาวบ้านถูกยิงได้รับบาดเจ็บ 3 ราย ขณะนั่งรถยนต์กระบะ เพราะเจ้าหน้าที่ทหารที่ด่านตรวจเข้าใจผิดสงสัยว่าเป็นรถยนต์ของคนร้ายขับผ่านด่าน เหตุเกิดบริเวณ ต.กระเสาะ อ.มายอ จ.ปัตตานี และล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุยิงคนตัดไม้บนเทือกเขาตะเว
นายกฯ ยืดการบังคับใช้ พรก. ฉุกเฉิน
ในวันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้บรรดาประกาศและคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดขึ้น ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 1/2550 เรื่อง การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2550 และตามประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ดังกล่าว เท่าที่ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ในวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ให้มีผลใช้บังคับต่อไป จนกว่านายกรัฐมนตรีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น โดยให้มีผลในวันที่ 20 ธันวาคม 2562 นี้
ต่อคำถามผู้สื่อข่าวถึงการให้ความปลอดภัยแก่ประชาชนในพื้นที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า
“วันนี้ก็สามารถดำเนินการได้มากพอสมควรนะครับ คราวนี้ จะแก้แค้นกันเหรอ จะแก้แค้นรัฐบาลได้อย่างไร จะแก้แค้นเจ้าหน้าที่ได้อย่างไร ในเมื่อตัวเองก็ใช้อาวุธสงคราม มาทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์หรือเจ้าหน้าที่เนี่ย มันผิดอยู่แล้ว มันผิดกฎหมายอาญาปกติอยู่แล้ว” พลเอกประยุทธ์กล่าว