แม่ทัพภาคที่ 4 สั่งเร่งสอบ กรณีผู้ต้องสงสัยหมดสติ ในค่ายทหาร ปัตตานี

มารียัม อัฮหมัด
2019.07.22
ปัตตานี
190722-TH-suspect-insurgent-1000.jpg นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ หลังถูกนำตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร ระหว่างการซักถาม วันที่ 21 กรกฎาคม 2562
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

ปรับปรุงข้อมูล เวลา 14:00 ET 2019-08-27

ในวันจันทร์นี้ พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบ กรณีที่ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ขณะเข้ากระบวนการซักถามที่ค่ายอิงยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 62 โดยหลายฝ่ายสงสัยว่าเป็นการทรมาน เร่งรัดให้มีการตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้น หากพบเป็นความผิดพลาดจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ก็จะทำการลงโทษสถานหนัก

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม 2562 เวลาประมาณ 03.00 น.นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ อายุ 34 ปี ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงหมดสติ ขณะถูกควบคุมตัวภายใต้พรก.ฉุกเฉิน ในหน่วยซักถาม หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี กรณีดังกล่าวกลายเป็นที่วิพากษ์-วิจารณ์บนอินเทอร์เน็ต โดยมุ่งประเด็นว่า นายอับดุลเลาะ ถูกเจ้าหน้าที่ทรมานระหว่างการซักถามหรือไม่

ต่อกรณีนี้ พันเอก ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ได้เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุ พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผู้อำนวยการ กอ.รมน. ภาค 4 ได้สั่งการให้เร่งรัดตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด

“การควบคุมตัวเพื่อซักถามในเบื้องต้นพบว่า เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอน ยังไม่พบหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่า เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ซึ่งสอดคล้องกับผลตรวจร่างกายของแพทย์ที่ระบุ ไม่พบร่องรอยบาดแผลฟกช้ำภายนอกร่างกาย แต่สมองมีอาการบวม ซึ่งน่าจะเกิดจากการขาดออกซิเจน ในขณะช็อค หมดสติ หรือเกิดจากการปั๊มหัวใจช่วยชีวิต โดยผู้ป่วยมีค่าน้ำตาลในเลือด และค่าเม็ดเลือดขาวสูงผิดปกติ”

“จะพิสูจน์เหตุการณ์ว่า ความจริงที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากสาเหตุอะไร แล้วก็ท่านก็ยืนยันว่า พร้อมที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ถ้าพบว่า เจ้าหน้าที่ได้กระทำความผิดจริง ก็จะมีมาตรการลงทัณฑ์สถานหนัก ทั้งทางวินัย และอาญาทหารขั้นเด็ดขาด” พันเอกปราโมทย์ ระบุ

พันเอกปราโมทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทัพพร้อมให้มีการพิสูจน์ความจริง ด้วยการให้คณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชน จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากองค์กรต่างๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในสังคมเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างอิสระ ด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม เพื่อหาข้อสรุปและแนวทางที่เหมาะสม ให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายโดยเร็วที่สุด

โดยให้ข้อมูลว่า การคุมตัวนายอับดุลเลาะ สืบเนื่องจากการซัดทอดของ นายอิบรอเฮง มะเซ็ง ผู้ก่อการร้ายระดับแกนนำ ที่ถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 โดยนายอิบรอเฮงระบุว่า นายอับดุลเลาะ ได้ช่วยเหลือสนับสนุนการก่อเหตุในพื้นที่อำเภอสายบุรี ปัตตานีหลายครั้ง เจ้าหน้าที่จึงได้เชิญตัวนายอัลดุลเลาะจากบ้านพักในพื้นที่ ตำบลตะบิ้ง อำเภอสายบุรี เพื่อมาซักถาม โดยผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนา และภรรยา อยู่ในเหตุการณ์

“ลงบันทึกประจำวัน ที่สถานีตำรวจภูธรสายบุรี และส่งเข้าหน่วยซักถามหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร ผลการตรวจร่างกายของแพทย์ โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร พบร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง จึงนำตัวไปซักถามเบื้องต้น มีอาการเครียด จึงให้ไปพักยังห้องพัก ในหน่วยซักถามตั้งแต่เวลา 21.30 น. (เสาร์ที่ 20 กค.) จนกระทั่งเวลาประมาณ 03.00 น. (อาทิตย์ที่ 21 กค.) เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบว่า นอนหมดสติ จึงได้นำตัวส่งแพทย์” พันเอกปราโมทย์ ระบุ

ด้าน นางซุไมยะห์ มิงกา ภรรยานายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ เชื่อว่า อาการของนายอับดุลเลาะ ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ จึงได้นำเรื่องดังกล่าวไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะเชื่อว่า นายอับดุลเลาะ ถูกทรมานระหว่างการซักถาม

“ได้เดินทางไปแจ้งความที่ สภ.เมือง จ.ปัตตานี เพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานแล้ว กรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสามี ไม่เชื่อว่า อาการสมองบวมเกิดได้เอง และตอนนี้ได้ตัดสินใจนำสามีมารักษาตัวที่โรงพยาบาล มอ. (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) หาดใหญ่แล้ว มีความหวังว่า ครอบครัวจะได้รับความเป็นธรรมจากสิ่งที่เกิดขึ้นจากทุกฝ่าย” นางซุไมยะห์ กล่าว

ต่อกรณีที่เกิดขึ้น นายอาบู ฮาฟิส อัลฮากิม โฆษกของคณะพูดคุยฝ่ายมาราปาตานี ตั้งข้อสังเกตต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่า นายอับดุลเลาะ อาจมีอาการบาดเจ็บจากการทรมานให้ขาดอากาศหายใจ หรือดื่มน้ำในปริมาณมาก

“สภาวะสมองบวม (Cerebral Edema) เฉียบพลัน ในกรณีผู้ถูกคุมขังคดีความมั่นคงเกิดขึ้นได้เมื่อเหยื่อถูกทรมานโดยการคลุมหัว ทำให้ขาดออกซิเจน (Hypoxia) หรือการบังคับให้ดื่มน้ำในปริมาณมาก (Water Intoxication) จะไม่มีบาดแผลหรือ ร่องรอยของการทรมานให้เห็น จากภายนอกได้ ดังนั้นในกรณีของนายอับดุลเลาะ ฝ่ายรัฐต้องตอบโจทย์ให้ชัดเจนว่า มีการกระทำดังกล่าวหรือไม่ และหากมี ใครเป็นผู้กระทำ” นายอาบูฮาฟิซ กล่าว

ขณะที่ นายกัสตูรี มะห์โกตา หนึ่งในแกนนำกลุ่มมาราปาตานี ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณี นายอับดุลเลาะ บนเฟสบุ๊คส่วนตัวเป็นภาษามาเลย์ ว่า รู้สึกสะเทือนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้นโดยองค์กรระหว่างประเทศ

“.. ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทย .. ควรต้องอยู่ใต้อำนาจการตรวจสอบระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันการใช้กำลังเกินขอบเขตของกองกำลังฝ่ายไทย ซึ่งมักประพฤติตนตามใจชอบอย่างทารุณ” นายกัสตูรี ระบุ

ต่อกรณีเดียวกัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติควรดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ เป็นกลาง และมีประสิทธิภาพโดยทันทีต่อกรณี นายอับดุลเลาะ มิใช่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทหารสอบสวนกันเอง

“การสอบสวนต้องนำมาซึ่งผลที่แน่ชัดว่า นายอับดุลเลาะถูกเจ้าหน้าที่รัฐทรมานหรือถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายระหว่างถูกควบคุมตัว ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม เวลา 16.00 น. จนถึงวันที่ 21 กรกฎาคม เวลา 03.00 น. หรือไม่ โดยการสอบสวนดังกล่าว ควรเป็นภารกิจของหน่วยงานอิสระ ไม่ใช่ปล่อยให้ทหารสอบสวนกันเอง หากการสอบสวนพบว่า มีการทรมานเกิดขึ้น ทางการไทยจะต้องให้การประกันว่า จะมีการดำเนินคดีอาญาในศาลยุติธรรม เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดี และลงโทษผู้กระทำผิด” นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุ

“เพื่อป้องกันการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ ทางการไทยต้องผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... เป็นวาระเร่งด่วน...”
 นางปิยนุช ระบุ

คนร้ายวางระเบิดโจมตีรถทหารที่ยะลา เจ้าหน้าที่เจ็บ 4 นาย

ในวันจันทร์นี้ ร.ต.อ.สุริยา เกื้อดำ รองสารวัตรสอบสวน สภ.บันนังสตา จังหวัดยะลา ได้รับแจ้งจาก หน่วยเฉพาะกิจทหาร ที่ 33 ว่า เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดโจมตี เจ้าหน้าที่ทหารพราน บนถนนภายในหมู่บ้าน บ.ตะโล๊ะดือลง บ้านย่อยของบ้านป่าหวัง อ.บันนังสตา จนเป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย

“รถยนต์กระบะของทหาร ถูกสะเก็ดระเบิดเป็นรูพรุน จอดตั้งอยู่ริมทาง ข้างทางพบหลุมระเบิดขนาดกว้าง มีเศษดิน ชิ้นส่วนระเบิดกระจัดกระจายไปทั่งบริเวณ ส่วนคนเจ็บ ถูกนำส่ง รพ.บันนังสตาไปก่อนหน้า ทราบชื่อ ร.ต.อนุวัฒน์ ชูชนะ ผบ.ร้อย.ทพ.3304, อส.ทพ.เอกชัย ศรีคำลือ, อส.ทพ.ประทีบ เถมินพนา และ อส.ทพ.ชูเกียรติ์ อุตร์อ่าง ทั้งหมดได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย” ร.ต.อ.สุริยา กล่าว

“ก่อนเกิดเหตุ ร.ต.อนุวัฒน์ ได้นำกำลังออกจากฐานที่ตั้ง บก.ร้อย ทพ.3304 เดินทางด้วยรถยนต์กระบะไปติดต่อราชการที่ ฉก.ทพ.33 เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุ คนร้ายได้กดระเบิดชนิดแสวงเครื่อง น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 40 ก.ก. ซึ่งซุกซ่อนด้วยการเจาะฝังใต้ผิวถนน เกิดระเบิดขึ้น รถยนต์ถูกสะเก็ดระเบิดได้รับความเสียหาย กำลังพลได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย และมีอาการหูอื้อ แน่นหน้าอก

ร.ต.อ.สุริยา สันนิษฐานว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นการก่อเหตุร้ายเพื่อมุ่งร้ายต่อชีวิตของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่

ในช่วงกว่าหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครลาดตระเวน ในพื้นที่ชายแดนใต้ จนทำให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 ราย และได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 22 รายแล้ว

เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพื้นที่ระเบิดโจมตีเจ้าหน้าที่ทหาร ในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 (มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์)
เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพื้นที่ระเบิดโจมตีเจ้าหน้าที่ทหาร ในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 (มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์)

มาตาฮารี อิสมาแอ ในนราธิวาส มีส่วนในรายงานฉบับนี้

* แก้ไขข้อมูลเป็น นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ถูกควบคุมตัวภายใต้อำนาจ พรก.ฉุกเฉิน จากรายงานก่อนหน้าว่า ภายใต้กฎอัยการศึก

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง