ญาติผู้ถูกบังคับสูญหายร้องรัฐเร่งผ่าน พ.ร.บ.อุ้มหายฯ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.08.27
กรุงเทพฯ
200827-TH-missing-activist-1000.jpg กลุ่มผู้ชุมนุมถือโปสเตอร์รูปนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักเคลื่อนไหวชาวไทยที่ถูกลักพาตัวหายไป ในกัมพูชา ในระหว่างการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต วันที่ 10 สิงหาคม 2563
รอยเตอร์

ในวันพฤหัสบดีนี้ ญาติและครอบครัวของผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายกล่าว ในงานวันรำลึกถึงบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เรียกร้องให้รัฐบาลติดตามหาความจริง เกี่ยวกับกรณีการสูญหายของคนไทยที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผ่าน ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย (พ.ร.บ.อุ้มหายฯ) ด้วย ด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) มีข้อเสนอให้รัฐ 4 ข้อ เพื่อยุติการอุ้มหาย

“เจ็บปวดทุกนาทีที่ลืมตา คิดถึงลูก ทางการไม่สนใจ ไม่มองเห็นเราเป็นคนเหมือนกับเขาหรือเปล่า.. เขาทำร้ายลูกแม่ด้วยเหตุใด เล่นละครล้อเลียนการเมือง ก็โดนคดี (มาตรา) 112 ตามจับ ไปอยู่ต่างประเทศได้ 5 ปี ก็มีข่าวว่าเขาโดนพาสปอร์ตปลอมที่เวียดนาม… เหมือนโยนเข็มไปในทะเล ถามคนใหญ่โต ๆ ก็บอกว่าไม่รู้จัก ไม่รู้ การแสดงออกของเขาแค่นี้ ทำให้เขาต้องดิ้นรนหนีไปต่างเมือง.. ถ้าเป็นลูกของคุณ คุณจะเจ็บปวดเหมือนกันไหม”

นางกัญญา ธีรวุฒิ มารดาของนายสยาม ธีรวุฒิ ผู้ลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งหายตัวไปหลังจากถูกจับกุมที่ประเทศเวียดนาม และส่งกลับประเทศไทย ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 กล่าวในการเสวนา

งานวันรำลึกถึงบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย จัดขึ้นเนื่องในโอกาสใกล้วันที่ 30 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันสากลแห่งการบังคับสูญหายขององค์การสหประชาชาติ (UN) โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และองค์กรร่วมจัดได้เชิญครอบครัว และญาติ ของคนไทยที่ถูกบังคับให้สูญหายทั้งในและนอกประเทศ มาพูดคุยเพื่อบอกเล่าถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการที่บุคคลที่พวกเขารักถูกทำให้หายไป ขณะที่รัฐบาลกลับไม่สามารถหาเบาะแสการหายตัว หรือผู้ที่กระทำให้คนเหล่านั้นหายไปมาลงโทษได้

“กระทรวงยุติธรรมได้รายงานข้อมูล เมื่อวันที่ 11 มิถนายน 2563 ระบุว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ถูกบังคับสูญหายทั้งสิ้น 87 ราย ถ้าท่านไปถามรัฐบาล รัฐบาลจะบอกไม่รู้ว่ามีกี่คน เพราะไม่มีการบันทึก เพราะฉะนั้นจำนวนตัวเลขผู้ถูกบังคับสูญหายในประเทศไทยยังมีความคลุมเครือเป็นปริศนา”

นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน ซึ่งสามีของเธอได้หายตัวไป หลังจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวบนถนนรามคำแหง กรุงเทพฯ ในวันที่ 12 มีนาคม 2547 กล่าว

ด้าน น.ส.สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองซึ่งหายตัวไปหลังถูกกลุ่มบุคคลใช้กำลังบังคับขึ้นรถยนต์ในประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ระบุว่า พ.ร.บ.อุ้มหาย มีความสำคัญมาก เพื่อให้ประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว หรือเรียกร้องเรื่องต่าง ๆ มั่นใจว่าจะได้รับการปกป้อง

“รัฐไม่ได้ตอบมาเลยว่า ทำการสืบสวนสอบสวนไปถึงไหนแล้ว ไม่มีการแจ้งข่าวให้ครอบครัวทราบ ทางการกัมพูชาก็ออกมาในแนวเดียวกัน เราเลยไม่ทราบว่า 2 รัฐบาลทำอะไรถึงไหน หรือแค่ไหนที่รัฐบาลทำ… คนธรรมดาหายไปต้องมีร่องรอย แต่วันเฉลิมหายไป ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีใครทราบข่าวเลย… ประเทศไทยควรจะตื่นตัวเรื่องนี้หรือเปล่า แล้วควรจะร่วมกันผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันปราบปราม การทรมานและการอุ้มหายให้มันเป็นกฎหมายจริงๆ เพื่อจะเอาคนผิดมาลงโทษ ถ้ามีกฎหมายนี้ออกมา จะทำให้เราอุ่นใจ” น.ส.สิตานัน กล่าว

ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2563 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้ผ่าน ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... แล้ว เพื่อ 1. ให้ความคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการกระทำทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ 2. เพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันปราบปราม

และ 3. เยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำในลักษณะดังกล่าว รวมถึงการขจัดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงและสร้างหลักประกันความเป็นธรรมแก่ประชาชน ทั้งนี้ ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ. อุ้มหายฯ อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะได้ส่งเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

อย่างไรก็ตาม น.ส.สัณหวรรณ ศรีสด จากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (ICJ) แสดงความเห็นว่า แนวคิดของการ ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายฯ เริ่มขึ้นเมื่อ 12 ปีที่แล้ว มีการร่าง และถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาหลายครั้ง แต่ยังไม่เคยถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายจริง ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ที่ผ่าน ครม. แล้วถือว่า ยังมีจุดอ่อนหลายข้อ

“มีหลายมาตราที่ไม่สอดคล้องกับ กฎหมายระหว่างประเทศ ยกตัวอย่าง … บทนิยาม การทรมาน อุ้มหาย ถูกดึงออกจากร่างหลายครั้ง… ความกังวลคือ เปิดโอกาสให้ใช้ศาลทหารได้ ซึ่งขัดกับหลักระหว่างประเทศที่ต้องให้ขึ้นศาลพลเรือน ซึ่งเชี่ยวชาญคดีอาญามากกว่าศาลทหาร… อยากให้มีบทบัญญัติที่ป้องกันไม่ให้เกิดการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับ ถ้าเขามีความเสี่ยงที่จะถูกทรมานหรือบังคับให้สูญหาย… ต้องมีการลงโทษการปฏิบัติที่โหดร้ายด้วย ซึ่งกฎหมายไทยไม่มี” น.ส.สัณหวรรณ กล่าว

“ความผิดต่อเนื่องของการบังคับให้สูญหาย คือตราบใดที่ยังสูญหาย ถือว่าเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดยังก่อเหตุอยู่ ถ้ามี พ.ร.บ.วันนี้ พรุ่งนี้ก็ถือว่าทำผิดอยู่ กฎหมายควรจะครอบคลุม แต่ พ.ร.บ.ของรัฐยังไม่ครอบคลุม และมีข้อเสนอแนะจากสหประชาชาติมาถึงไทยโดยตรงว่า ไม่ควรที่จะมีอายุความเรื่องความผิดการทรมานและบังคับสูญหาย” น.ส.สัณหวรรณ กล่าวเพิ่มเติม

แต่เดิม ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย มีวาระเข้าพิจารณาในที่ประชุม สนช. วันที่ 7 มีนาคม 2562 แต่สุดท้ายถูกถอนออกไป การเขียนกฎหมายนี้ มีความมุ่งหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย

อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ฉบับล่าสุด โดยรัฐได้ผ่านความเห็นชอบของ ครม. แล้ว มีสาระสำคัญดังนี้

1. กำหนดฐานความผิดการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยกำหนดให้ไม่เป็นความผิดทางการเมือง ซึ่งสามี ภรรยา บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้เสียหายสามารถดำเนินการฟ้องร้องคดีได้

2. กำหนดให้ความผิดตามพระราชบัญญัติในเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ ตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และให้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีอำนาจหน้าที่สอบสวนเป็นหลัก เว้นแต่กรณีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษตกเป็นผู้ต้องหา ให้ตำรวจเป็นผู้มีอำนาจสืบสวนแทน

และ 3. กำหนดระวางโทษความผิดฐานกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เช่น ผู้ใดกระทำความผิดฐานกระทำทรมานหรือกระทำให้บุคคลสูญหาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หากกรณีผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 300,000 บาท และกรณีผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 400,000 บาท

ทั้งนี้ นางอังคณา ได้เสนอแนะให้รัฐบาลดำเนินการ 4 ข้อ ระหว่างที่ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ยังไม่ถูกบังคับใช้ เพื่อยุติการบังคับสูญหาย โดยระบุในการเสวนา ว่า 1. รัฐต้องหยุดกดดันหรือโน้มน้าวให้ครอบครัวยุติการร้องเรียน ต่อคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายของสหประชาชาติโดยทันที รัฐบาลต้องยอมรับสิทธิของประชาชน และการช่วยเหลือครอบครัวที่อยู่ในฐานะยากลำบาก ต้องไม่มีข้อแลกเปลี่ยนใด ๆ 2. รัฐสภาควรมีมติให้สัตยาบัน อนุสัญญาคนหายของสหประชาชาติ และธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ

3. ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ให้มีความเป็นประชาธิปไตย ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและความมั่นคง และในการร่างกฎหมายต้องให้ครอบครัวเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน และ 4. เสนอแนะให้รัฐบาลตอบรับคำขอจากคณะทำงานคนหายจากสหประชาชาติ ในการมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อตรวจสอบสถานการณ์การบังคับสูญหายในประเทศไทย และเพื่อมีข้อเสนอแนะต่อประเทศไทย

ทั้งนี้ หลังการยึดอำนาจของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมรวมข้อมูลระบุว่า มีประชาชนอย่างน้อย 104 ราย ที่ต้องหนีออกนอกประเทศไปเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง เนื่องจากถูกไล่ล่า

ขณะที่ มีผู้ลี้ภัยชายไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านต้องหายตัวไปแล้ว 9 คน ประกอบด้วย 1. นายอิทธิพล สุขแป้น (ดีเจซุนโฮ) 2. นายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋) 3. นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) 4. นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ 5. นายสยาม ธีรวุฒิ 6. นายกฤษณะ ทัพไทย 7. นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ (สหายภูชนะ)  และ 8. นายไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง) โดยสองรายหลังสุด หายตัวไปพร้อมกับนายสุรชัย และถูกพบเป็นศพลอยมาติดตลิ่งแม่น้ำโขง เขตจังหวัดนครพนม ในสภาพถูกผ่าท้องและยัดด้วยแท่งปูน และรายล่าสุด 9. นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ถูกกลุ่มบุคคลใช้กำลังบังคับขึ้นรถยนต์ในประเทศกัมพูชา และหายตัวไปหลังจากนั้น

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง