ผู้ว่าฯ ยะลาจับมือผู้ส่งออกสนับสนุนเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนแทนยางพารา

มารียัม อัฮหมัด
2017.09.04
ยะลา
170904-TH-durian-620.jpg นายดลเดช พัฒนรัฐ (คนซ้ายสุด) ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ขณะเยี่ยมชมโรงงานแปรรูปทุเรียนแช่แข็ง ควีน โฟรเซ่น ฟรุต ที่ปทุมธานี วันที่ 24 สิงหาคม 2560
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ประสบความสำเร็จในการตกลงร่วมกับผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ ให้รับซื้อผลผลิตจากชาวสวนในสามจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเป็นการขยายฐานตลาดให้กับเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ และเพื่อการชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรที่เลิกการทำสวนยางแล้วมาปลูกทุเรียนทดแทน

ทั้งนี้ นายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และคณะ ได้เดินทางไปพูดคุยกับบริษัท ควีน โฟรเซ่น ฟรุต จำกัด ผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ ในจังหวัดปทุมธานี ในวันพฤหัสบดี (24 สิงหาคม 2560) ที่ผ่านมานี้ ในการหาแนวทางในการสนับสนุนการปลูกทุเรียนเพื่อการส่งออก

"เราหวังจะดันทุเรียนให้ราคาดี เพื่อมาช่วยทดแทนรายได้ของชาวสวนยางที่เปลี่ยนอาชีพจากสวนยางมาปลูกทุเรียน" นายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์  หลังการประชุมกับผู้บริหารของบริษัท ควีน โฟรเซ่น ฟรุต

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แสดงผลผลิตทุเรียนในปี 2557 ไว้ที่ 631,773 ตัน ปี 2558 ที่ 601,884 ตัน และ ปี 2559 ที่ 521,878 ตัน

ในปี 2557 มีการส่งออกทุเรียนไปยังตลาดต่างประเทศ ประมาณ 393,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท  โดยส่งออกเป็นทุเรียนสด ราวๆ 360,000 แสนตัน และทุเรียนแช่แข็ง 1.7 หมื่นตัน ที่เหลือเป็นประเภทอื่น โดยมีตลาดใหญที่สุดคือประเทศจีน ที่รับซื้อทุเรียนสด 149,950 ตัน และเป็นทุเรียนแช่แข็งอีกประมาณ 8,290 ตัน

สำหรับตัวเลขการผลิตทุเรียนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ในปี 2559 นั้น เป็นผลผลิตจากปัตตานี 3,266 ตัน จากยะลา 22,926 ตัน และจากนราธิวาส 6,940 ตัน

"เราจะรับซื้อทุเรียนจากภาคใต้ มากกว่า 8,000 ตัน และตลอดปีที่ผ่านมาได้ส่งทุเรียนไปจีน 60 เปอร์เซ็น ตะวันออก 30 เปอร์เซ็นต์ และภายในประเทศ 10 เปอร์เซ็นต์" นายจิระ พยุรภร ผู้จัดการโรงงานแช่แข็ง บริษัทควีน โฟเซ่น ฟรุต จำกัด กล่าวแก่เบนานิวส์ หลังจากการพบปะกับคณะผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา

ด้าน น.ส.กาญจนา แย้มพราย ประธานบริษัท ควีน โฟเซ่น ฟรุต จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดต่างประเทศยังให้ความนิยมในผลิตภัณฑ์ทุเรียนของไทยเป็นอย่างมาก

“ในส่วนของแนวโน้มตลาดเนื้อทุเรียนแช่แข็ง จะยังคงขยายตัวโดยเฉพาะตลาดจีน ยุโรป ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และในอนาคตการทำเนื้อทุเรียนแช่แข็ง จะต้องมีการพัฒนาเป็นเนื้อทุเรียนอบแห้ง” น.ส.กาญจนา กล่าว

“อยากให้รัฐสนับสนุนการส่งออก เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง ได้พัฒนาสู่ตลาดจีนต่อไป” น.ส.กาญจนา กล่าวเพิ่มเติม

ในห้วงเวลาสี่ห้าปีที่ผ่านมา ราคายางได้ตกต่ำกว่าจุดคุ้มทุนที่สำนักเศรษฐกิจการเกษตรประเมิณไว้ที่ 50.30 บาท ต่อหนึ่งกิโลกรัม จากราคาสูงสุดที่กว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม ตามเลขของการยางแห่งประเทศไทย ในห้วงเวลาที่ผ่านมา เกษตรกรจึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลหาอาชีพเสริมให้ เพื่อเป็นการจุนเจือครอบครัว

ในสัปดาห์ที่แล้ว ราคาเฉลี่ยแผ่นยางดิบในตลาดภาคใต้ อยู่ที่กิโลกรัมละ 52.80 บาท เท่านั้น

นายอับดุลสอมัด อับดุวาฮับ เกษตรกร ในจังหวัดยะลา กล่าวว่า ครอบครัวของตนเป็นอดีตชาวสวนยางพาราที่หันมาปลูกทุเรียน เชื่อว่าการร่วมมือครั้งนี้ จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่กลับมาดีอีกครั้ง หลังจากตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพ

“ทางครอบครัวมีสวนทุเรียนที่พึ่งปลูกใหม่หลังจากโค่นยางพาราขาย ประมาณ 18 ไร่ แล้วยังมีของชาวบ้านอีกจำนวนมากที่หันมาปลูกทุเรียน คาดว่า อีก 4 ปี ผลผลิตจะออกมาจำนวนมากแน่นอน ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีมากที่บริษัทจะรับซื้อในราคาที่พอใจของทั้งสองฝ่าย เรายินดีมากที่จะพัฒนาผลผลิตของเราให้ได้ตามตลาดต้องการ และมาร่วมมือกับบริษัท” นายอับดุลสอมัด กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ตอนนี้ ทุเรียนที่รับซื้อจากต้นกิโลกรัมละ 40-45 บาท หนึ่งต้นขายได้เงินประมาณ 20,000 บาท ในอนาคตคิดว่าถ้าพวกเราพัฒนาผลผลิตให้ดีตามที่ตลาดต้องการ เราจะมีรายได้เพิ่มกว่าปีนี้แน่นอน” นายอับดุลสอมัดกล่าว

ประธานชาวสวนยางจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ประเทศไทยมีเนื้อที่สวนยางทั้งหมด 12-22 ล้านไร่ เฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีพื้นที่ปลูกยางประมาณ 4 หมื่นกว่าไร่ จังหวัดยะลามีการปลูกยางมากที่สุด 2 หมื่นไร่ จังหวัดนราธิวาส 1 หมื่นกว่าไร่ และจังหวัดปัตตานี 1 หมื่นไร่

นายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า ได้มีเกษตรชาวสวนยางจำนวนมาก ได้เปลี่ยนอาชีพมาปลูกทุเรียนแทน โดยทางจังหวัดพร้อมให้การสนับสนุน

“ทางจังหวัดพร้อมสนับสนุนงบประมาณแก่ชาวสวนทุเรียน เพื่อส่งเสริมการดูแลรักษาผลผลิต ส่งเสริมความรู้โดยมอบให้เกษตรจังหวัดรับผิดดูแลด้านนี้ต่อไป รวมทั้งสามารถรองรับผลผลิตที่จะออกมาในอีกสามสี่ปีข้างหน้านี้ เป็นจำนวนมาก หลังชาวสวนยางจำนวนมากโค่นต้นยาง หันมาปลูกทุเรียนแทน มั่นใจว่าการจับมือกับบริษัทจะสามารถตอบโจทย์ปัญหาของพี่น้องในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน” นายดลเดชกล่าวเพิ่มเติม

ด้าน น.ส.กาญจนา แย้มพราย ประธานบริษัทฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ แม้ว่าทุเรียนจะไม่สมบูรณ์เต็มที่ แต่บริษัทจะยังซื้อผลผลิตจากเกษตรกรอยู่ เพราะสามารถนำมาแปรรูปในรูปแบบต่างๆ ได้ จะมีการคัดคุณภาพของทุเรียนที่เกษตรกรปลูก

“การคัดทุเรียนที่จะมาแช่แข็ง ทางโรงงานคัดเป็นเกรดๆ ไป แยกเป็น 3 เกรด คือ เกรดเอ เนื้อทุเรียนสีเหลือง เม็ดสวยเต็มพู รับประทานได้ทั้งสดและแปรรูป เกรดบี ไม่เป็นเม็ด หรือพู เป็นเศษทุเรียน มีทั้งสีเหลือง สีขาวปะปนกัน นิยมแปรรูปเป็นไอศกรีม ไส้ขนมหรืออบแห้ง และเกรดซี สีไม่ค่อยเหลืองแต่เม็ดยาวเต็มพู รับประทานทั้งสดและแปรรูป โดยนำไปบรรจุถุงต่อไป และทุเรียนไม่ค่อยดีทางบริษัทเราก็รับซื้อด้วย เพื่อช่วยเหลือชาวเกษตรกร พร้อมแปรรูปอบแห้งฟรีซดรายด์บรรจุซองสุญญากาศ” น.ส.กาญจนากล่าว

"การทำเนื้อทุเรียนแช่แข็งนอกจากช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับทุเรียนตกไซส์แล้ว ยังทำให้ชาวสวนไม่ต้องรีบตัดทุเรียนอ่อนขาย คาดอีก 4 ปีข้างหน้า ทุเรียนที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเจ้าของสวนยางพาราได้โค่นต้นยางทิ้งแล้วหันมาปลูกทุเรียน” น.ส.กาญจนากล่าว

นายจิระ พยุรภร ผู้จัดการโรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดต้องการทุเรียนพันธุ์หมอนทองสำหรับการแปรรูปเป็นทุเรียนแช่แข็ง โดยระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศจีนนิยมบริโภคทุเรียนแช่แข็งมาก

“สำหรับทุเรียนที่นิยมนำมาแช่แข็งต้องเป็นพันธุ์หมอนทองเท่านั้น เพราะทุเรียนหมอนทองมีเนื้อมาก รสชาติหวานมัน เนื้อแน่น กลิ่นไม่แรง สุกประมาณ 75-90 เปอร์เซ็นต์ อัตราส่วนทุเรียนผลและเนื้อทุเรียนแช่แข็ง อยู่ที่ 70:30 คือ ทุเรียนผล 1,000 กิโลกรัม ทำเนื้อทุเรียนแช่แข็งได้ 312.5 กิโลกรัม และทุเรียนปอกเป็นพูเสียบไม้ไอศรีมแช่แข็ง พร้อมบรรจุภัณฑ์ ตอนนี้ ตลาดสิงคโปร์และจีนโตสุดๆ ได้วางขายตามห้างในกรุงเทพ ราคาหนึ่งชิ้น 113 บาท ถือว่าเป็นผลิตผลที่น่ากินหรือวัฒนธรรมการกินของสาวจีนอีกแบบหนึ่งในปัจจุบัน” นายจิระกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง