ครม. เห็นชอบรับชาวต่างชาติประเภทอยู่ยาว 9 เดือน เข้าไทย
2020.09.15
กรุงเทพฯ

ในวันอังคารนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบรับหลักการอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่ประสงค์จะอาศัยในประเทศไทยระยะยาว เดินทางเข้าไทยได้ โดยแต่ละรายจะสามารถอยู่ได้นานที่สุด 9 เดือน ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าชาวต่างชาติทุกรายที่จะเดินทางเข้าไทยต้องกักตัว 14 วันก่อน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวหลังการประชุม ครม. ระบุว่า ที่ประชุมเห็นชอบในการให้วีซ่านักท่องเที่ยวแบบใหม่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการระบาดขอโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จะได้มีการประชุมเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดในอนาคต
“สิ่งสำคัญที่สุดผมก็ยืนยันว่า มันต้องมีสเตทควอรันทีน 14 วัน ทุกคน กลุ่มพวกนี้มาอยู่ยาว ไม่ว่าจะเรื่องท่องเที่ยวหรือสุขภาพ สามารถใช้เวลาในการสเตทควอรันทีนได้อยู่แล้ว ในอัลเทอเนทีฟควอรันทีน หรือในพื้นที่ที่กำหนดได้ ต้องไม่แพร่ระบาดข้างนอก… เรื่องการออกวีซ่า นักท่องเที่ยวแบบใหม่ สเปเชียลทัวริสต์วีซ่า ก็มีการหารือกันในเรื่องนี้ เดี๋ยวต้องรอฟัง ศบค. อีกครั้งนึง ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นด้วยอะไรด้วยอีกหลายส่วน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ด้าน นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ ซึ่งสามารถพักในประเทศไทยได้นาน 270 วันว่า การอนุญาตมีหลักเกณฑ์หลายอย่างที่ชาวต่างชาติต้องปฏิบัติตาม
“1. เป็นบุคคลต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางมาพำนักระยะยาวภายในประเทศไทย 2. ยอมรับการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ประกาศใช้ภายในประเทศไทย และตกลงยินยอมกักตัวในห้องพักจำนวน 14 วัน 3. มีหลักฐานสถานที่พักอาศัยระยะยาวภายในประเทศไทย ได้แก่หลักฐานการชำระเงินค่าโรงแรมที่พัก หรือโรงพยาบาลที่พัก… ตามระยะเวลาที่ประสงค์จะพำนัก มีสิทธิขอรับการตรวจ ลงตราประเภทนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ โดยเสียค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ครั้งละ 2,000 บาทได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลา 90 วัน” นางสาวรัชดา กล่าว
“ภายหลังจากที่ครบกำหนดเวลาอนุญาต 90 วันแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมีอำนาจอนุญาตให้อยู่ต่อไปได้อีก 2 ครั้ง ๆ ละ 90 วัน โดยคนต่างด้าวต้องยื่นคำขอตามแบบ และเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนด โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564” นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติม
นางสาวรัชดา ระบุว่า แนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษนี้ เพื่อต้องการนำนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจ โดยประเทศไทยมีความปลอดภัยเรื่องโควิด-19 เป็นอันดับ 1 ของโลก จึงต้องการให้ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพ และกำลังซื้อสูงเดินทางเข้ามาพำนักในประเทศไทย เป็นระยะยาว โดยนางสาวรัชดา กล่าวแก่บางกอกโพสต์ว่า คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเดือนละ 1,200 คน และจะสร้างรายได้ประมาณ 1 พันล้านบาทต่อเดือน
เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 ปี 2563 (มีนาคม-มิถุนายน) ติดลบอยู่ 12.2 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่ติดลบ 12.5 เปอร์เซ็นต์ โดยตลอดทั้งปี สภาพัฒน์คาดการณ์ว่า จีดีพีไทยจะติดลบประมาณ 7.5 เปอร์เซ็นต์ โดย นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ของปี 2563 หดตัวสูง เพราะการปิดเมือง ทำให้เศรษฐกิจหลายภาคส่วนต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ขณะที่การส่งออกลดลงจากอุปสงค์ที่หดตัวในต่างประเทศ
และในวันเดียวกันนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ได้ปรับตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา โดยได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของไทยทั้งปีจะหดตัว 8 เปอร์เซ็นต์ เลวร้ายกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิถุนายนนี้ว่า จะติดลบ 6.5 เปอร์เซ็นต์
นางสาวอุ้ย (สงวนนามสกุล) ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวบนเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี อายุ 42 ปี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ได้รับผลกระทบอย่างหนักช่วงที่รัฐบาลประกาศมาตรการโควิด-19 อย่างเข้มงวด โดยเห็นด้วยหากรัฐบาลจะเปิดรับชาวต่างชาติเข้าประเทศอีกครั้ง
“ถ้าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ก็พร้อมนะ ขอให้เปิดจริง ๆ เถอะ มันต้องรับฝรั่งเข้ามาบ้าง เพราะไม่มีเงินแล้ว ส่วนตัวคิดว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศเขาก็น่าจะกังวลเรื่องเดินทางอยู่เหมือนกัน เพราะนั่งเครื่องบินมาก็แออัด อยู่ใกล้ชิดกันระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็เชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขประเทศไทยนะ เขามาถึงก็ต้องกักตัว 14 วัน ผ่านอีกหลายด่านกว่าจะมาถึงเราที่เกาะ ที่ผ่านมาเราก็พยายามเข้มงวดเรื่องมาตรการทำความสะอาด” นางสาวอุ้ย กล่าว
ไทยจับมือสหรัฐฯ คุมโควิด-19
ในวันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ พร้อมด้วยนายไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เอกอัครทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมชมสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (USAMD-AFRIMS) เพื่อหารือความร่วมมือที่สำคัญด้านการสาธารณสุข ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกาในการวิจัยทางการแพทย์ การเฝ้าระวังโรค การพัฒนามาตรการตอบโต้ทางการแพทย์
นายอนุทินระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขไทย ร่วมมือกับประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิดผ่านศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข (TUC) และ AFRIMS มาอย่างต่อเนื่อง ร่วมศึกษาวิจัยทดลองทางคลินิกโรคเขตร้อน การผลิตวัคซีนเอชไอวี และวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก รวมทั้งตั้งแต่ช่วงแรกที่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้ช่วยสืบค้นผู้สัมผัส และช่วยในการตรวจทางห้องปฏิบัติการหาเชื้อโควิด 19 ซึ่ง AFRIMS เป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการวิจัยทางการแพทย์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ โดยหลังจากนี้จะให้ความสำคัญเรื่องการรักษาและการผลิตวัคซีน
นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงานข่าว