กกต. รับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 149 คน
2019.05.08
กรุงเทพฯ

ในวันนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจำนวน 26 พรรคการเมือง จำนวนทั้งสั้น 149 คน ซึ่ง กกต. ระบุว่าเป็นไปตาม พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ มาตรา 128 หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า พรป.เลือกตั้งฯ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 91
นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกประกาศรายชื่อผู้ได้รับการเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 และ 129 ทำให้ได้จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 149 คน จาก 26 พรรคการเมือง ซึ่งขณะนี้ ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว โดยใช้สูตรคำนวณแบบที่ทุกพรรคจะได้รับการจัดสรรจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเมื่อรวมแล้วไม่เกิน 150 คน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการคิดคำนวณตามมาตรา 128
“กกต. พิจารณาสูตรนี้ตามกฎหมาย” นายแสวง แถลงต่อผู้สื่อข่าว
“และเมื่อดูตามคำวินิจฉัยมติของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว กรณีที่ไม่สามารถจัดสรรจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อได้ตามที่วงเล็บเจ็ดกำหนด ให้ใช้วิธีการคำนวนตามมาตรา 128 ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และจัดสรรให้ทุกพรรคการเมือง และไม่ได้มีปัญหาความชอบธรรม โดย กกต. ได้พิจารณาตามมาตรา 128 วงเล็บ 1-7” รองเลขาธิการ กกต. กล่าวเพิ่มเติม
รองเลขาธิการ สำนักงาน กกต. ระบุด้วยว่า จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 149 คน ที่ประกาศในวันนี้ จะถูกคำนวณคะแนนใหม่ หลังการเลือกตั้งซ่อม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต ในเขต 8 จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงกรณีอื่น ที่อาจเกิดขึ้นภายในหนึ่งปีต่อจากนี้ โดยสิทธิในการออกเสียงในสภาผู้แทนราษฎร จะยังคงมีจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายที่รับรองไว้แล้วว่า สามารถเปลี่ยนแปลงได้
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทย ซึ่งได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตมากที่สุด ไม่ได้ที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเลย พรรคอนาคตใหม่ ได้มากที่สุดถึง 50 ที่นั่ง รวมถึงนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค พรรคประชาธิปัตย์ได้ 19 คน พรรคพลังประชารัฐได้ 18 คน พรรคภูมิใจไทย 12 คน ส่วนพรรคอื่นๆ อีก 22 พรรค ได้ที่นั่งรวม 50 คน ซึ่งในจำนวนนี้ มีพรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่ได้คะแนนความนิยมต่ำกว่าค่าเฉลี่ยคะแนน ส.ส. 1 คน (ประมาณ 71,000 เสียง) ได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อด้วย
โดยเมื่อรวม ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อแล้ว พบว่า พรรคเพื่อไทย ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. มากที่สุดถึง 136 ที่นั่ง รองลงมาคือ พรรคพลังประชารัฐ 115 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่ 80 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 52 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 51 ที่นั่ง พรรคเสรีรวมไทย 10 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่ง พรรคประชาชาติ 7 ที่นั่ง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 ที่นั่ง พรรคเพื่อชาติ 5 ที่นั่ง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนา 3 ที่นั่ง พรรคพลังท้องถิ่นไทย 3 ที่นั่ง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 ที่นั่ง นอกจากนั้นเป็นพรรคเล็ก ที่ได้ ส.ส. รวมทั้งหมด 1 ที่นั่ง อีกจำนวน 13 พรรคการเมือง
พปชร มั่นใจตั้งรัฐบาล – เพื่อไทย อนาคตใหม่ ประท้วง กกต.
นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวในช่วงเช้า ก่อนที่ กกต. ประกาศผลรับรอง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อว่า มีความมั่นใจที่พรรคพลังประชารัฐจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และจะได้เดินหน้าพูดคุยกับพรรคการเมืองอื่นๆ หลัง กกต. ประกาศรับรองผลเรียบร้อยแล้ว พร้อมย้ำว่าทุกพรรคการเมืองควรเคารพกติกา ผลออกมาอย่างไรควรยึดตามนั้น
ด้านพรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ กกต. คำนวณ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อนั้น ต้องกระทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 โดยเคร่งครัด กล่าวคือ การคำนวณ สส. บัญชีรายชื่อ ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดได้ที่นั่ง ส.ส. เกินจำนวนที่จะพึงมีได้
“กล่าวอีกนัยหนึ่ง พรรคจะได้จำนวน ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ ก็ต่อเมื่อได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ส.ส. พึงมี (ส.ส. พึงมีหนึ่งคน เท่ากับคะแนนเสียงประมาณ 71,000 คะแนน) ดังนั้น การคำนวณที่ต่างไปจากนี้ ถือว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เช่น การจัดสรรที่นั่ง ส.ส. ให้พรรคการเมืองขนาดเล็กที่ได้คะแนนประมาน 30,000 คะแนน จึงมิชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ
“ตามที่มีพรรคการเมืองหรือบุคคลแสดงความเห็นว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวเท่ากับเป็นการรับรองว่าสูตรในการคำนวณ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อนั้น คือ “สูตรที่แจกพรรคเล็ก” พรรคเห็นว่าเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวว่าเป็นเช่นนั้น” พรรคเพื่อไทยกล่าวแย้ง
ในตอนเช้า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งกล่าวว่า ส.ส. ของพรรคหายไป 7 คน ยื่นหนังสือที่สำนักงาน กกต. ขอให้ดำเนินการให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ
“คำวินิจฉัยนี้ ไม่ได้หมายความว่าเป็นการเปิดไฟเขียวให้กับ กกต. นำสูตรการคำนวณ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์แบบที่กระจายให้กับพรรคเล็ก หรือที่เรียกกันว่าสูตร "27 พรรค" มาใช้ได้ทันที ยืนยันว่าเรื่อง พรป.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 นั้น "เป็นคนละเรื่องกัน" กับการคำนวณ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์” นายปิยบุตรกล่าว
นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พรรคที่เคยรวมกลุ่มจะจัดตั้งรัฐบาลอาจจะไม่สามารถทำได้
“สำหรับผม กกต. จำเป็นที่จะต้องตีความและยึดสูตรการคำนวณตามข้อกฎหมาย คือพรรคที่จะได้ ที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ คือต้องเกินเจ็ดหมื่นเสียง กกต. จำเป็นที่จะต้องเคารพเสียงของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง หากมี 27 พรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ส. เสียงในการจัดตั้งรัฐบาล ก็จะเปลี่ยน เสียงไปอยู่กับพรรคเล็กๆ พรรคที่เคยคิดว่าจะตั้งรัฐบาลได้ ก็อาจจะทำไม่ได้ เพราะเสียงถูกลดทอนจาก 250 กว่าเสียงไป”
ทั้งนี้ ในตอนเช้าของวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่มติศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 128 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่ ซึ่งศาลมีมติ 9:0 ระบุว่า ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ไทม์ไลน์การตั้งรัฐบาล
โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ถึงไทม์ไลน์ทางเมืองหลังจากที่ กกต. ประกาศรับรอง ส.ส. ทั้งหมดว่า รัฐบาลจะได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรายชื่อ ส.ว. ภายใน 3 วัน หลังจากมีการรับรองผลการเลือกตั้ง และสภาผู้แทนราษฎรต้องจัดประชุมนัดแรกให้ได้ภายใน 15 วัน หลังจากประกาศผลการเลือกตั้ง และต้องมีการจัดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาร่วมกัน เพื่อเลือกประธานรัฐสภา แล้วทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อเพื่อให้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานรัฐสภา จะได้เรียกประชุมร่วมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไป