นายกรัฐมนตรียืนยันเลือกตั้งปี 2561

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.04.12
กรุงเทพฯ
TH-prayuth-1000 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในระหว่างการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560
เบนาร์นิวส์

ในวันพุธ (12 เมษายน 2560) นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า จะจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2561 โดยจะจัดหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10

“ขอได้เพียงอย่างเดียวปีหน้าเถอะ จะทำอะไรค่อยไปเดินหน้ากันตอนโน้น ขั้นตอนการเลือกตั้งก็ต้องไปเริ่มกันปีหน้า แล้วมันก็ยังอยู่ในกรอบเวลาผมเลยนะนั่น 8 เดือน กฎหมายลูกเขามีหมด ปีนี้ถึงพิธีพอดี ใช่ไหม พอปีใหม่ไปแล้วมันก็จะเริ่มตั้งกรรมการเตรียมการเลือกตั้ง สมัคร หาเสียง มันก็ค่อยทยอยไป ไม่ใช่พอบอกปีใหม่ปั๊บ เริ่มวันที่ 1 เลย มันใช่ที่ไหนเล่า ต้องเดินหน้าเรื่องการจัดการเลือกตั้ง การหาเสียง ให้ประชุมพรรค เขามีเวลาตั้ง 5 เดือน อย่ามาทวงผม ทนผมหน่อยน่า” นายกรัฐมนตรีระบุ

พล.อ.ประยุทธ์เพิ่มเติมว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งอยู่ในขั้นตอนการเขียนใหม่ทั้งหมด โดยเหตุผลที่ต้องเขียนใหม่เพื่อให้กฎหมายมีความทันสมัย เหมาะสม และดีขึ้นกว่ากฎหมายที่ผ่านมา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้เวลาในการเขียน เมื่อกฎหมายทั้ง 4 ฉบับเสร็จสิ้น จึงจะสามารถเดินหน้าสู่การเลือกตั้งได้

ขณะเดียวกัน พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการกองทัพบก และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า คสช.จะยังไม่ยกเลิก มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 จนกว่าจะเสร็จสิ้นพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และพิธีบรมราชาภิเษก เนื่องจากจำเป็นต้องเอาไว้รักษาความสงบเรียบร้อย หากเกิดกรณีฉุกเฉิน

“ผมต้องคุมสถานการณ์ให้ได้ ไม่ให้เกิดอะไรขึ้น เพราะบางทีจุดเล็กๆ อาจจะเกิดอะไรขึ้นมาได้” พล.อ.เฉลิมชัยกล่าว

สำหรับหมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 รัฐบาลยังไม่ได้ระบุวันที่ชัดเจน แต่กำหนดให้เป็นช่วงปลายเดือนตุลาคม 2560

โดยได้กำหนดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ 5 วัน ดังนี้ งานวันที่หนึ่ง พระราชพิธีพระราชกุศลออกพระเมรุมาศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ในเวลา 17.30 น. งานวันที่สอง พระราชพิธีเชิญพระบรมศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปยังพระเมรุมาศ ในเวลา 07.00 น. และเวลา 17.30-22.00 น. พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ งานวันที่สาม พระราชพิธีเก็บพระบรมอัฐิ ณ พระเมรุมาศ เวลา 08.00น. งานวันที่สี่ พระราชพิธีพระราชกุศลพระบรมอัฐิ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เวลา 17.30 น. และงานวันที่ห้า พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลและเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานพระวิมานบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เวลา 10.30น.จากนั้นเวลา 17.30 น.พระราชพิธีบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศวิหาร

ขณะที่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 จะจัดขึ้นหลังจากเสร็จสิ้น พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯแล้ว

โรดแมปสู่ประชาธิปไตย

หลังจากการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 โดยรัฐบาลทหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้กล่าวให้คำมั่นว่า ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งภายใน 15 เดือน ซึ่งจะอยู่ในเดือนสิงหาคม 2558 และต่อมาได้ระบุเรื่องแผนการเลือกตั้งครั้งแรกระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 โดยกล่าวต่อตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นว่า ประเทศไทยจะมีเลือกตั้งในต้นปี 2559

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวว่า ไทยจะไม่มีการเลือกตั้ง จนกระทั่งเดือนกันยายน 2559

หากในที่ประชุมสหประชาชาติ เดือนกันยายน 2558 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการเลือกตั้งอีกครั้ง โดยระบุว่า ประเทศไทยจะจัดการเลือกตั้งในช่วงกลางปี 2560 และในเดือนสิงหาคม 2559 นายกรัฐมนตรีได้ย้ำอีกครั้งว่า การเลือกตั้งจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2560

ในเดือนมกราคม และเมษายน 2560 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า รัฐบาลไม่ได้เลื่อนโรดแมป แต่จะจัดการเลือกตั้งขึ้น หลังจากเสร็จสิ้นเสร็จสิ้นพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งยังไม่ได้มีการระบุชัดเจน แต่มีการประมาณว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี-กลางปี 2561

วันเลือกตั้งตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ

ตามมาตรา 267 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ประกาศใช้ในวันที่ 6 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา กำหนดให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 10 ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

จากนั้นให้ กรธ. ส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแก่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้แล้วในระยะเวลา 60 วัน หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ ให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาให้แล้วเสร็จใน 10 วัน จากนั้นส่งกลับยัง สนช. 15 วัน ถ้า สนช. เห็นชอบจะเข้าสู่ชั้นทูลเกล้าฯ กรอบเวลา 120 วัน และจะใช้เวลาจัดการเลือกตั้ง 5 เดือน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง