พระราชโองการ: การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่บังควร
2019.02.08
กรุงเทพฯ

ในคืนวันศุกร์นี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัววชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระราชโองการ ว่า การเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ มหิดล โดยพรรคไทยรักษาชาติ เพื่อเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้นั้น เป็นการกระทำที่มิบังควรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ ในช่วงกลางวัน ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ ได้ยื่นชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักษาชาติ ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และหลังจากนั้นได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า เป็นมติของกรรมการบริหารพรรคฯ ที่เห็นว่า ทูลกระหม่อมฯ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ จากการที่ท่านทำงานเพื่อสังคมมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นโครงการ To Be Number 1 ซึ่งช่วยเหลือเยาวชนให้ห่างไกลจากยาเสพติด หรือ การเป็นผู้แทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ท่านได้เดินทางไปในและต่างประเทศ และเห็นถึงความเดือดร้อน ปัญหาของพี่น้องประชาชน ท่านจึงเป็นผู้มีความเหมาะสมที่สุดในขณะนี้
“ทางพรรคฯ จึงได้มีการประสานงานติดต่อและท่านเองก็ทรงมีพระเมตตาตอบรับ และยินยอมให้พรรคไทยรักษาชาติให้เสนอพระนามท่านเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ ระบุว่า การนำเสนอชื่อเชื้อพระวงศ์นี้ ไม่ได้มีความได้เปรียบหรือเสียเปรียบทางการเมือง แต่อยู่ที่ประชาชนจะเป็นผู้พิจารณาต่อไป” ร.ท.ปรีชาพล กล่าว
ต่อมา ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้ทรงโพสต์ข้อความลงในอินสตาแกรม ขอบคุณสำหรับความรักและกำลังใจในการสนับสนุนในครั้งนี้ พร้อมระบุด้วยว่า ได้ลาออกจากฐานันดรศักดิ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 และต้องการจะใช้สิทธิอย่างสามัญชน เพื่อนำประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรือง
“ดิฉันได้ลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ และอยู่ในฐานะสามัญชนแล้ว ดิฉันจึงขอใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างสามัญชนภายใต้รัฐธรรมนูญกฏหมาย และข้าพเจ้ายินยอมให้พรรคไทยรักษาชาติใช้ชื่อ เพื่อเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงการแสดงถึงสิทธิ เสรีภาพ และความไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆ เหนือปวงชนชาวไทยตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หากแต่การกระทำครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้กระทำด้วยความจริงใจและความตั้งใจเสียสละ ในการขอโอกาสนำประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง” ส่วนหนึ่งของข้อความที่ปรากฎของทูลกระหม่อมฯ
ช่วงดึกของคืนวันศุกร์ สถานีโทรทัศน์ต่างๆ ได้ออกอากาศพระราชโองการฯ ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีความตอนหนึ่งว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเป็นศูนย์รวมและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนชาวไทย พระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ ทรงดำรงสถานะอยู่เหนือการเมือง และทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประเทศชาติและประชาชนมาโดยตลอด
“ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทั้งยังเป็นพระเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ แม้จะทรงกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปแล้วตามกฎมณเฑียรบาล โดยได้กราบบังคมทูลพระกรุณาเป็นลายลักษณ์อักษร หากยังทรงสถานะและดำรงพระองค์ในฐานะสมาชิกแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์... การนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นการกระทำที่มิบังควรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง” พระราชโองการฯ ส่วนหนึ่งกล่าว
ประยุทธ์รับเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ
ด้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เผยแพร่แถลงการณ์ ระบุว่า ยินดีตอบรับคำเชิญของพรรคพลังประชารัฐในการเป็นผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในนามของพรรคฯ โดยในแถลงการณ์ระบุว่าด้วย ตนได้พิจารณาอย่างรอบคอบและถ้วนถี่ดีแล้วถึง แนวนโยบายของพรรคฯ โดยมิได้มุ่งหวังว่าจะเป็นการสืบทอดอำนาจทางการเมือง แต่ต้องการทำงานเพื่อประชาชนประเทศชาติอย่างต่อเนื่องเป็นสำคัญ
“ผมจึงขอตอบรับการเชิญ โดยยินยอมให้พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ผมขอยืนยันว่า ผมมิได้มุ่งหวังจะสืบทอดอำนาจใด ๆ เพียงแต่มุ่งหวังถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยรวมเป็นสำคัญอย่างแท้จริง โดยจะเร่งบริหารและพัฒนาประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุ
โดยในช่วงบ่าย นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้นำเอกสารการตอบรับของพลเอกประยุทธ์ มายื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พร้อมให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ระบุว่า พรรคฯ เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะเห็นว่าเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุดในเวลานี้ โดยพิจารณาเฉพาะตัวบุคคล ไม่ได้พิจารณาถึงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ พร้อมปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นการสืบทอดอำนาจรัฐบาลทหารแต่อย่างใด
“เรายืนยันตั้งแต่ต้นว่าพรรคฯ เกิดขึ้นจากผู้มีอุดมการณ์ร่วมกันที่ต้องการเห็นประเทศชาติข้ามจุดเปลี่ยนผ่านนี้ ไปสู่ความสงบสุขให้ได้ สามารถพัฒนาทุกด้านให้ก้าวทันโลก ไม่มีการสืบทอดอำนาจให้ใคร พรรคนี้ไม่มีเจ้าของ สั่งไม่ได้... ไม่เกี่ยวเลยกับการสืบทอดอำนาจ ในรูปแบบใด ในทุกรูปแบบ” นายอุตตม กล่าว