ฮิวแมนไรท์วอทช์ ร้องไทยยกเลิกคดีกับผู้เรียกร้องเลือกตั้ง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.02.02
กรุงเทพฯ
180202-TH-summons-620.jpg แกนนำและผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลชูหมายเรียกตามข้อกล่าวหาในความผิดต่างๆที่ สน.ปทุมวัน วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้เรียกร้องในวันศุกร์นี้ ให้รัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดีกับนักเคลื่อนไหว จำนวน 39 ราย ที่ถูกตั้งข้อหาต่างๆ เพราะการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว ที่ย่านสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม-สนามกีฬา เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน ได้ตั้งข้อหา 7 แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ในข้อหายุยงปลุกปั่น (ม.116 ของกฎหมายอาญา) และขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 (ห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป) และต่อมาได้ตั้งข้อหากับผู้ร่วมชุมนุมอีก 32 คน ในความผิดฝ่าฝืน พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ (พ.ร.บ.ชุมนุมฯ) มาตรา 7 ที่ห้ามจัดการชุมนุมใกล้เขตพระราชวังเกิน 150 เมตร (พระราชวังสระปทุม)

“สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นสัญญาณที่น่ากังวล ในเมื่อปีนี้ คสช. บอกว่าเป็นปีที่จะเตรียมพร้อมไปสู่การเลือกตั้ง แต่ถ้ากิจกรรมของทุกฝ่ายทำไม่ได้เลย เราพอจะเห็นเค้าลางแล้วว่า มันจะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย อันนี้ เป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล” นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของฮิวแมนไรท์วอทช์ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ ในขณะร่วมสังเกตการณ์ การเข้ารายงานตัวของกลุ่มผู้ถูกหมายเรียก ที่ สน.ปทุมวันในวันนี้

“จุดยืนของฮิวแมนไรท์วอทช์ที่ได้ออกแถลงการณ์ในช่วงเช้าวันนี้ ไม่ว่าจะข้อหา ม.116 หรือขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/58 ควรจะยกเลิก มันไม่ควรจะไปถึงชั้นศาล มันควรจะยกเลิกตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน ตอนนี้” นายสุณัย กล่าวเพิ่มเติม

ในวันศุกร์นี้ ผู้ถูกออกหมายเรียกจำนวนหนึ่งพร้อมด้วยทนายความ ได้เดินทางเพื่อมารายงานตัวที่ สน.ปทุมวัน หลังจากได้รับหมายเรียกในก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งกับทนายความว่า จะนำตัวทุกคนไปขออำนาจศาลฝากขังทันทีและต้องไปยื่นประกันตัวต่อศาลโดยตรง  ทางทนายความและผู้ถูกหมายเรียกจึงขอเลื่อนการเข้ารายงานตัวออกไปเป็นวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 เนื่องจากบางคนไม่สามารถหาหลักทรัพย์สำหรับประกันตัวต่อศาลได้ทัน

“ประชาชนประมาณ 30 คน ได้เดินทางมาเพื่อพบพนักงานสอบสวนโดยยืนยันบริสุทธิ์ใจว่าจะไม่หลบหนีและให้การปฎิเสธ คดีนี้ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มีโทษไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท สำหรับคนที่โดน ม.116 จำคุกไม่เป็น 7 ปี เมื่อมาพบตามหมายโดยปกติพนักงานสอบสวนต้องใช้ดุลยพินิจในการปล่อยตัว” นางภาวิณี ชุมศรี ทนายความ ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ถูกออกหมายเรียกกล่าวแก่สื่อมวลชน

“พวกเรา จริงๆ แล้วตั้งใจเดินทางมาเพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ยินดีที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และจะไม่หลบหนี แต่เนื่องจากพนักงานสอบสวนได้แจ้งให้ทนายทราบว่า จะมีการควบคุมตัว ไปขอผัดฟ้องที่ศาล โดยให้ยื่นขอประกันตัวที่ศาลเอง ซึ่งอาจใช้หลักทรัพย์ 1-2 หมื่นบาท สำหรับประชาชนธรรมดา ส่วน ม.116 แกนนำ 7 คน อาจใช้ 2 แสนบาท ดังนั้น จึงจะขอเลื่อนออกไปก่อนหนึ่งนัด ไปรวบรวมหลักทรัพย์ประกันตัว” นางภาวิณีกล่าว

นางภาวิณีกล่าวว่า ทนายความได้ยื่นเรื่องขอเลื่อนการเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนไปเป็นวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561

น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หนึ่งในผู้ถูกออกหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ม.116 และ การขัดคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะยื่นขออำนาจศาลฝากขังตนเองนั้น เป็นเรื่องที่คาดการณ์เอาไว้อยู่แล้ว เนื่องจากในการจัดกิจกรรมเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ได้พูดพาดพิง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ​ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคง และดูแลคดีการชุมนุมครั้งนี้โดยตรง

“ที่ว่าจะฝากขังเรา ไม่ผิดคาดเท่าไหร่ เพราะ พล.อ.ประวิตรคงจะแค้นเรา เพราะเราพูดเรื่องนาฬิกาบนสกายวอล์ค ตอนแรกตั้งใจว่าจะเข้ารายงานตัววันนี้ โดยเตรียมหลักประกันไว้แล้ว แต่เมื่อทราบว่าจะมีการฝากขังทั้งกลุ่มใหญ่ เลยขอมติของคนทั้งกลุ่มว่าจะทำอย่างไร สรุปว่าขอให้เลื่อน ทนายความเลยทำหนังสือให้เซ็นว่า เลื่อน ซึ่งก็จะได้เข้ารายงานตัวในภายหลัง” น.ส.ณัฏฐากล่าว

ในอีกเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับ พลเอกประวิตร ในวันพฤหัสบดี พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พระราชวัง ดำเนินคดีกับกลุ่มประชาชนอีกกลุ่มที่รวมตัวชูป้ายให้กำลังใจ พล.อ.ประวิตร ที่หน้ากระทรวงกลาโหม เช่นกัน เนื่องจากอาจเข้าข่ายความผิดของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สรุปสถิติทางเสรีภาพหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พบว่า มีผู้ถูกเรียกรายงานตัว หรือมีเจ้าหน้าที่เข้าเยี่ยมบ้านอย่างน้อย 1,319 ราย ถูกจับกุมอย่างน้อย 597 คน ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 หมิ่นเบื้องสูง อย่างน้อย 82 คน ถูกตั้งข้อหามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น อย่างน้อย 64 คน และมีกิจกรรมเกี่ยวกับเสรีภาพถูกปิดกั้น-แทรกแซง อย่างน้อย 152 ครั้ง ซึ่งสถิตินี้เป็นการรวบรวมถึงวันที่ 30 กันยายน 2560

ในวันนี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ โดยระบุว่า การกระทำของรัฐบาลทหารไทยหลังการรัฐประหารด้วยการห้ามการชุมนุม เป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากล และกติการะหว่างประเทศ

“กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี คุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมอย่างสงบ นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐบาลทหารไทยได้คุกคามและดำเนินคดีอย่างต่อเนื่องกับบุคคลที่แสดงความเห็นโดยการพูด การเขียน การโพสต์ข้อความ และการวิพากษ์วิจารณ์อื่น ๆ ต่อระบอบปกครองของทหาร” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ภาษาไทยระบุ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง