นายกฯ ลั่นไม่ดีเบต ไม่ใช่เพราะกลัวแต่เสียเวลา
2019.02.26
กรุงเทพฯ

ในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอบคำถามสื่อมวลชน กรณีถูกเรียกร้องให้ไปขึ้นเวทีดีเบตประชันวิสัยทัศน์กับผู้เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองต่างๆ ว่า ตนจะไม่ไปดีเบต เพราะไม่มีจำเป็นและไม่ได้มีความกลัว พร้อมย้ำวิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หัวหน้าพรรคการเมือง และผู้เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองต่างๆ ออกมาเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าร่วมในเวทีประชันวิสัยทัศน์กับพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนได้ศึกษาข้อมูล และนโยบายของผู้เข้าชิงตำแหน่งนายกฯ ของแต่ละพรรคการเมือง ก่อนตัดสินใจคงคะแนนให้
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องไปร่วมเวทีดีเบตดังกล่าว เพราะส่วนใหญ่ใช้เวทีในการตอบโต้ โจมตีกัน เถียงกันอย่างไม่มีสาระ ในตอนต้น เนื้อหาก็ดิ้นไปกับการโจมตีคนอื่นๆ แต่จะพูดถึงนโยบายในตอนท้ายซึ่งไม่มีคนสนใจ ที่สำคัญตนกำลังทำงานอยู่ ไม่อยากเสียเวลาในการประดิษฐ์คำพูดออกมาให้ปวดหัว
“ผมคงไม่ไปหรอก ตอนนี้ไม่ว่าใครจะมากระตุ้นอย่างไร ผมก็ไม่ได้โกรธ ไม่ได้กลัวด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
“วิสัยทัศน์ของผม ในฐานะถ้าผมจะเป็นนายกฯ คนต่อไป คือ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ตลอดเวลา 5 ปี รัฐบาลนี้ ได้ทำงานไปแล้วทั้งหมด 11 ด้าน เช่นเดียวกับวาระของชาติในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย หรือ การแก้ไขข้อบกพร่องด้านมาตรฐานความปลอดภัยของการบินพลเรือนได้สำเร็จ ซึ่งงานทุกด้านได้แสดงฝีมือให้ทุกคนเห็นหมดแล้ว โดยระบุว่า หากในอนาคตตนได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป จะได้สานต่องานที่ได้เริ่มต้นไว้ ที่ผ่านมาตนได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ และแผนแม่บทต่างๆ รวมถึงกฎหมายการเงิน การคลัง การจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งไม่ได้แก้ไขที่ปลายทางอย่างเดียว แต่ทุกอย่างได้มีกฎหมายกำหนดไว้หมดแล้ว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อไปอีกว่า งานหลายเรื่องสำเร็จได้ด้วยการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ และสิ่งที่รัฐบาลทำวันนี้ ถือเป็นวิสัยทัศน์ ซึ่งอนาคตต้องทำแบบนี้ ในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ดีกว่าสร้างความทะเลาะเบาะแว้ง และให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้
ในตอนท้ายของการแถลงข่าวหลังการประชุมประจำสัปดาห์ พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำด้วยว่า ไม่อยากให้ 5 ปีกับสิ่งที่ทำมาทั้งหมดเสียเปล่า แล้วทุกอย่างกลับไปสู่จุดตั้งต้นใหม่ ผู้คนกลับมาโจมตีกันอีก ส่วนตนเองนั้น เลยจุดที่จะมาบอกว่าการเข้ามานั้นผิดหรือถูก มา 5 ปีแล้ว
“อย่าลืมว่าที่เข้ามานั้นเป็นการเข้ามาแก้ปัญหาให้ประเทศชาติในขณะนั้น และเมื่อเข้ามาแล้วต้องมีอำนาจเพื่อให้บริหารงานได้ แก้ปัญหาได้อย่างต่อเนื่อง แล้วเหตุใดจึงต้องออกมาตีกันไปมาอีกรอบ ลืมทั้งหมดแล้วหรือยัง ตั้งแต่ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม ลืมกันหมดแล้วใช่ไหมจ๊ะ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
หลายพรรคฯ เรียกร้องให้ประยุทธ์ดีเบต
ก่อนหน้านี้ พรรคพลังประชารัฐ ได้ทำจดหมายสอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสามารถขึ้นเวทีประชันวิสัยทัศน์ร่วมกับผู้เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนอื่นได้หรือไม่นั้น ในเบื้องต้น นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แสดงความเห็นว่าบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ สามารถเข้าร่วมการดีเบตที่ กกต. จัดขึ้นได้ ในขณะที่วันนี้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งกำลังพิจารณากฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องอยู่ และต้องรอมติจาก กกต.
ในเรื่องนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย และผู้เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในนามพรรคเพื่อไทย กล่าวกับสื่อมวลชน ถึงการขึ้นเวทีดีเบตของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงพื้นที่เรียกคะแนนเสียงจากประชาชนอยู่แล้ว เพราะพล.อ.ประยุทธ์ มีหมวกสามใบ ทั้งนายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. และแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งตนเห็นว่า คนที่เสนอตัวเป็นนายกฯ จึงน่าจะร่วมดีเบตในทุกเวที เช่นเดียวกับแคนดิเดตนายกฯ คนอื่นๆ เพื่อนำเสนอสิ่งที่ตัวเองจะทำ พร้อมๆ กับแคนดิเดตนายกฯ คนอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า คนที่ประกาศตัวว่าพร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรีควรจะร่วมดีเบต เนื่องจากจะทำให้ประชาชนได้เห็นวิสัยทัศน์ เพราะผู้นำในประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ล้วนผ่านกระบวนการนี้
“ถ้านายกเข้าใจการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็ไม่ควรปฏิเสธการดีเบต มันไม่ใช่แค่ควรดีเบต แต่ต้องดีเบต เพื่อให้ประชาชน รู้ว่า ถ้านายกฯอยู่ไปอีก 4 ปี จะเป็นอย่างไร จะคิดยังไง แต่นายกฯ อาจจะคุ้นชินกับระบบทหาร ซึ่งไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย จึงเลี่ยงการดีเบต” นายฐิติพล ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์
ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย แสดงความกังวล หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไปร่วมเวทีดีเบต คงต้องระวังคำพูดในการแสดงวิสัยทัศน์ เนื่องจากมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่ผู้สมัคร ส.ส. และไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค รวมถึงไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง จึงต้องระมัดระวังในเรื่องความเป็นกลาง โดยเฉพาะหากเป็นการพูดเรื่องนโยบายของพรรคฯ ที่เป็นผู้เสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ ที่อาจมีความหมิ่นเหม่ที่จะทำผิดกฎหมาย