ตร. เอาผิดเจ้าของบริษัทนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ โทษสูงสุดจำคุก 10 ปี
2018.05.31
กรุงเทพฯ

ในวันพฤหัสบดีนี้ พล.ต.อ.วีระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วย นายบรรจง สุกรีฑา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และนายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ เลขานุการกรมศุลกากร ได้ร่วมกันแถลงผลการตรวจสอบการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมลพิษว่า จะดำเนินคดีอาญากับเจ้าของบริษัทรีไซเคิลที่เป็นชาวฮ่องกงและไต้หวัน โดยจะบังคับใช้บทลงโทษหนักที่สุด คือ จำคุก 10 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ เพื่อป้องกันไม่ให้สามารถตั้งโรงงาน หรือนำเข้าได้อีก
หลังจาก พล.ต.อ.วีระชัย ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบโรงงานคัดแยกขยะและโรงงานรีไซเคิล ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และแหลมฉบัง ชลบุรี หลายโรงงาน ซึ่งพบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากที่กลายเป็นขยะพิษ ที่นำเข้าจากต่างประเทศโดยผิดกฎหมาย จึงได้มีการสืบสวนขยายผลนำไปสู่การตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ 7 ตู้ พบว่าเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่สำแดงเท็จว่าเป็นพลาสติก จึงได้อายัดไว้ทั้งหมด
พล.ต.อ.วีระชัย กล่าวว่าตู้คอนเทนเนอร์ที่อายัดไว้ มีความเชื่อมโยงกับโรงงานคัดแยกขยะและรีไซเคิลที่เข้าตรวจค้นก่อนหน้านี้ พร้อมระบุว่า จะดำเนินคดีอาญากับเจ้าของบริษัทฯ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดด้วยอัตราโทษสูงสุด ซึ่งจะไม่ใช่การเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายของศุลกากรเหมือนที่ผ่านมา เพื่อเป็นการยับยั้งการกระทำผิดซ้ำ
“จากการตรวจสอบโรงงานทั้งที่ อ.แหลมฉบัง จ.ชลบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา พบการกระทำผิดหลายอย่าง อีกทั้งสำแดงสินค้าเป็นเท็จ และอาจมีพฤติกรรมเลี่ยงภาษี ซึ่งจะส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบย้อนหลังทั้งหมด... ส่วนเจ้าของบริษัทฯ จะถูกดำเนินคดีอาญา และส่งฟ้องศาล เพื่อให้มีลายนิ้วมือ ต่อไปนี้จะได้ขออนุญาตตั้งโรงงานไม่ได้” พล.ต.อ.วีระชัย กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
โรงงานที่ถูกตรวจสอบ ได้จ้างแรงงานจากลาวและเมียนมาเป็นส่วนใหญ่ มีการหลอมตะกั่วด้วยการใช้อุณหภูมิที่สูง เพื่อนำไปใช้ใหม่ รวมทั้งการสกัดทองคำจากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ จอคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีสารที่ก่อให้เกิดอันตรายเป็นส่วนประกอบ เช่น ปรอท แคดเมียม และสารที่มีมลพิษชนิดอื่นๆ ซึ่งประชาชนที่ได้ผลกระทบได้ร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่
ขยะพิษจากจีนสู่ไทย
จากการสืบสวนขยายผลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังการบุกเข้าตรวจค้นโรงงานคัดแยกขยะและรีไซเคิล จำนวน 6 โรงงาน รวมถึงตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 7 ตู้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีความเชื่อมโยงกันในการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลกมายังประเทศไทย โดยสำแดงสินค้าอันเป็นเท็จ แล้วส่งไปยังโรงงานเพื่อนำมาแยกชิ้นส่วน ส่วนที่ดีส่งกลับไปยังประเทศจีน ส่วนที่เป็นขยะพิษก็ดำเนินการกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งวัสดุอิเล็กทรอนิกส์หลายประเภท ยังย่อยสลายไม่ได้
โดยปฏิบัติการตรวจค้นโรงงานขยะอุตสาหกรรม เริ่มต้นที่ บริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีเจ้าของเป็นชาวฮ่องกง ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ คีย์บอร์ด สายไฟ ซีพียู คอมพิวเตอร์ ฯลฯ เพื่อนำมาคัดแยกและแปรรูป จากการสืบสวนขยายผล พบว่ามีโรงงานในเครือข่ายที่มีเจ้าของคนเดียวกันในบริเวณใกล้เคียง จึงเข้าตรวจค้นในเวลาต่อมา ประกอบด้วย บจ.หย่งถังไทย บจ.นอวส์สกายเมทัล บจ.ทรัพย์เจริญ รีไซเคิล บจ.ซันเหลียนไทย ทั้งหมดตั้งอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา
“บริษัทต่างชาตินำเข้าขยะเหล่านี้มาจากต่างประเทศ โดยสำแดงสินค้าเป็นเท็จ โดยพบว่ามีการลักลอบนำเข้ามารอบละประมาณ 10 ตันต่อเดือน โดยมีที่มาจากหลายประเทศ โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย และกระจายไปยังโรงงานต่างๆ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา” นายสรศักดิ์ มีนะโตรี รองอธิบดีกรมศุลกากร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
นายสรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ถูกพักค้างอยู่ที่ประเทศฮ่องกงหลายแสนตัน เนื่องจากนำเข้าประเทศจีนไม่ได้ เพราะจีนประกาศห้ามนำเข้าฯ เมื่อปลายปี 60 นักธุรกิจชาวจีนจึงขนย้ายเครื่องจักรและแรงงานมาก่อตั้งในไทย และลักลอบนำขยะเหล่านี้เข้ามาคัดแยกเอาวัสดุที่รีไซเคิลได้และเป็นประโยชน์ส่งกลับไปประเทศจีน ส่วนขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ก็จะนำใส่กระสอบแอบทิ้งไว้ในบ่อขยะในประเทศไทย
ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขยายผลต่อเนื่องไปตรวจค้นโรงงานของบริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มีเจ้าของเป็นคนไต้หวัน พบซากขยะอุตสาหกรรมจำนวนมากที่มีลักษณะเช่นเดียวกับที่พบในโรงงานที่ จ.ฉะเชิงเทรา
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษเจ้าของโรงงานในหลายฐานความผิด อาทิ สำแดงเท็จในการนำเข้า หลีกเลี่ยงภาษีอากรศุลกากร ลักลอบนำเข้าวัตถุอันตราย จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ฯลฯ ซึ่งทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาต และสั่งปิดโรงงานที่ผิดกฎหมายไปแล้ว
“เราพบโรงงานที่ตั้งใจทำผิดกฎหมาย ข้อแรกไม่มีผู้บริหารเป็นคนไทยเลย สองเป็นแรงงานต่างด้าวทั้งหมด มีการจ้างบริษัททำบัญชี ทำบัญชีเท็จหลีกเลี่ยงการเสียภาษี รวมทั้งความผิดตาม พรบ.สาธารณสุข และ พรบ.โรงงาน” รอง ผบ.ตร. ระบุ
“ขบวนการที่นักธุรกิจกลุ่มนี้ เคลื่อนย้ายขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลกที่ตกค้างที่ฮ่องกงมาประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยขณะนี้เป็นแหล่งศูนย์รวมรองรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ของโลกไปเรียบร้อยแล้ว” พล.ต.อ.วีระชัย กล่าวต่อสื่อมวลชน
ด้านนายบรรจง สุกรีฑา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในวันนี้ ประเทศไทยมีบริษัทที่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด 7 บริษัท โควต้านำเข้ารวมประมาณ 117,000 ตันต่อปี แต่ปิดไปแล้วบางส่วน หลังพบการกระทำผิด
“เรายังมีความจำเป็นต้องนำเข้ากากของเสียอันตรายบางส่วนมารีไซเคิล เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมในประเทศ และเราเองก็ส่งออกกากอุตสาหกรรมบางประเภทไปย่อยสลายที่ต่างประเทศด้วย เพราะเราไม่มีเครื่องย่อยสลาย ซึ่งกระทำได้เฉพาะประเทศสมาชิกตามอนุสัญญาบาเซิลเท่านั้น” นายบรรจง แถลงต่อผู้สื่อข่าว
ในขณะที่ นายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ รองโฆษกกรมศุลกากร ระบุว่า จากนี้ไปจะเพิ่มมาตรการเข้มงวด โดยจะดำเนินการตรวจตู้สินค้าทุกตู้ และหากพบว่าเป็นการลักลอบนำเข้าผิดกฎหมาย ก็จะส่งกลับไปประเทศต้นทางทันที เพื่อเป็นการปิดกั้นการทำขยะพิษเข้าประเทศตั้งแต่ต้นทาง