ญาติผู้เสียชีวิตรำลึก 8 ปี เหตุนองเลือดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2018.04.10
กรุงเทพฯ
180410-TH-victims-1000.jpg ญาติของนายทศชัย เมฆงามฟ้า จุดเทียนรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในวันครบรอบแปดปี เหตุการณ์ขอคืนพื้นที่บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ วันที่ 10 เม.ย. 2561
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช/เบนาร์นิวส์

ญาติของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อสู้เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี 2553 รวมตัวกันที่ย่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในช่วงค่ำของวันอังคารนี้ เพื่อวางดอกไม้ จุดเทียน ร้องเพลงแสดงความอาลัยในวันครบรอบเหตุการณ์ความสูญเสีย ในเหตุนองเลือดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553  และได้ประกาศไม่ขอปรองดอง หากว่ารัฐบาลไม่สามารถจับตัวผู้สั่งการฆ่าประชาชนมาลงโทษได้

ส่วนในตอนเช้าของวันเดียวกัน นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ พร้อมแกนนำกลุ่มนปช. ทวงถามความคืบหน้าการดำเนินคดีสลายการชุมนุมที่ทำให้พลเรือนเสียชีวิต รวมจำนวน 99 ราย จากเหตุการณ์นองเลือดที่เกิดในช่วงวันที่ 10 เม.ย.ไปจนถึงวันที่ 19 พ.ค. 2553

อดีตผู้ชุมนุมกลุ่มนปช. ประมาณ 100 คน พร้อมใจกันใส่เสื้อสีแดงและสีดำ ตัวหนังสือสีขาวข้อความเรียกร้องความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิต ได้วางดอกไม้ จุดเทียน ผูกผ้าสีแดง ณ บริเวณที่พบร่างผู้เสียชีวิต โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบติดตามการทำกิจกรรมและบันทึกภาพไว้ตลอดเวลา

นายบรรเจิด และ นางสุวิมล ฟุ้งกลิ่นจันทร์ พ่อและแม่ของนายเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมบริเวณสี่แยกคอกวัว ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ ด้วยเสียงสั่นเครือว่า ยังทำใจไม่ได้กับความสูญเสียที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะผ่านไปแปดปีแล้ว แต่ความยุติธรรมยังไม่เคยเกิดขึ้น

“มันทำใจไม่ได้หรอก ถึงวันนี้เรายังนึกถึงเหตุการณ์ที่ลูกเราตาย มันฝังอยู่ในใจเรา” นางสุวิมล กล่าว

“คดีไม่ไปถึงไหน เราอยากได้ความรับผิดชอบจากรัฐบาลที่ฆ่าลูกชายเรา” นายบรรเจิด กล่าวเพิ่มเติม

ทางด้าน นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของนางสาวกมลเกด อัคฮาด พยาบาลที่เสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ในเดือนพฤษภาคม 2553 หนึ่งในผู้จัดกิจกรรมในวันนี้ ใส่เสื้อยืดสีดำข้อความ Fight for Justice กล่าวกับผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ว่า จะไม่ยอมให้เหตุการณ์การนองเลือดที่เกิดขึ้นกับประชาชนเงียบเป็นอันขาด

“แม้ว่ารัฐบาลพยายามจะทำให้เหตุการณ์นี้เหมือนไม่เคยเกิดขึ้น แต่ประชาชนในเหตุการณ์ไม่มีทางลืม ดิฉันขอยืนยันว่าจะไม่ยอมให้เรื่องมันเงียบ อดีตควรถูกเปิดเผยว่าเกิดอะไรขึ้น” นางพะเยาว์ ระบุเหตุผลที่จัดกิจกรรม

ทั้งนี้ กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตและผู้มาร่วมชุมนุม กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การปรองดองที่รัฐบาลทหารพยายามรณรงค์เป็นเพียงวาทะกรรม เพราะเกือบสี่ปีที่ทหารเข้ามาปกครองไม่ได้ทำอะไรให้ความจริงเป็นที่ปรากฎ ทั้งที่ผู้ที่รู้เห็นในเหตุการณ์นองเลือดนั้นก็อยู่ในคณะรัฐบาล คสช. นี้ด้วย

“การปรองดองไม่เกิดหรอก” นางสุวิมล กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ด้วยเสียงสั่นเครือ “เขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้สูญเสีย เขาไม่ได้มีความรู้สึกกับความสูญเสียของเรา”

“จะปรองดองได้ ต้องเอาความจริงมาเปิดเผยก่อน ย้อนอดีตไปปี 53 เกิดอะไรขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐก็ตายเหมือนกัน ครอบครัวเขามีสิทธิที่จะรู้ และไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชนก็ไม่ควรมีความสูญเสียชีวิต” นางพะเยาว์ ระบุ

แกนนำ นปช. ทวงถามความคืบหน้าคดีจาก ปปช.

ในตอนเช้าของวันอังคารนี้ นายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อสู้เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมด้วยแกนนำรายอื่น ได้จัดกิจกรรมทวงถามความคืบหน้าการดำเนินคดีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ปี 2553 จากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)

นายณัฐวุฒิ พร้อมด้วยแกนนำ นปช. แต่งกายด้วยชุดคนจรจัด ไร้ที่พึ่ง แบกป้ายที่ระบุข้อความว่า “อยุติธรรม” ไว้บนบ่า เดินทางไปที่สำนักงานปปช. เพื่อทวงถามความคืบหน้าคดีที่เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธเข้าสลายการชุมนุม นปช. ทั้งนี้ นายณัฐวุฒิ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ระบุว่า รู้สึกเสียใจและเจ็บปวดเป็นอย่างมาก วันนี้ครบรอบ 8 ปี คดีทุกคดีรวมศูนย์อยู่ที่ ปปช. แต่จนถึงตอนนี้ ทางผู้ชุมนุมยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ ว่าการดำเนินคดีถึงขั้นตอนไหนแล้ว สิ่งที่ตนเพียรถามมาตลอดไม่มีความคืบหน้าเลย

“พวกผมแบกความอยุติธรรมมา 8 ปีแล้ว จะต้องให้แบกไปถึงเมื่อไร คนที่มาชุมนุมต่างเป็นชาวไร่ชาวนา จะยากดีมีจนอย่างไร ก็ต้องได้รับความยุติธรรม... คนตายเกือบร้อยแต่คดีไม่ถึงศาล จะปล่อยให้เป็นแบบนี้ไม่ได้” นายณัฐวุฒิ กล่าวกับผู้สื่อข่าว

อนึ่ง หลังจากนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว กรมดีเอสไอในยุคนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดี ได้ทำสำนวนสอบสวน และทางพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 ได้เป็นโจทก์ฟ้องร้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1 และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 2 ฐานออกคำสั่งสลายการชุมนุม จนเกิดการเสียชีวิต

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งไม่รับฟ้อง เพราะการดำเนินการฟ้องร้องข้างต้นไม่ถูกต้องตามกระบวนการ

“มันเป็นเรื่องการปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย ปปช.เขาได้วินิจฉัยแล้ว ส่วนศาลก็ได้วินิจฉัยตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาแล้ว ถ้า ปปช. ฟ้องอีก ก็พร้อมที่จะสู้คดี ผมเตรียมเอกสารไว้แล้ว” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กล่าวหลังจากทราบคำพิพากษา

ในรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ ชื่อ Descent to Chaos ที่มีข้อมูลมาจากการสัมภาษณ์พยาน สื่อมวลชน เจ้าหน้าที่รัฐ และอื่นๆ รวม 94 ปาก ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่ ในห้วงเวลา 10 เม.ย. ถึง 19 พ.ค. 2553 ว่า ยอดการเสียชีวิตและบาดเจ็บที่สูงนั้น โดยส่วนใหญ่มาจากการที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเกินความจำเป็น และมีคนชุดดำที่มีความสัมพันธ์กับ นปช. จงใจโจมตีเจ้าหน้าที่ ซึ่งยังทำให้มีการเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บอีกด้วย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง