ตำรวจ ปอท.จัดตั้งศูนย์ IO รับมือข่าวลวงแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2018.09.06
กรุงเทพฯ
180906-TH-technology-1000.jpg ชายหนุ่มเดินผ่านคัทเอาท์ของงานมหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคม ในกรุงเทพฯ 29 กันยายน 2554
เอเอฟพี

โฆษกกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) แสดงความกังวลกับสถานการณ์ เฟคนิวส์ หรือข่าวลวงบนโลกไซเบอร์ ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรง ระบุหน่วยงานได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านการข่าว (IO – Information Operation) พร้อมมีการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านเฟคนิวส์ที่เข้มงวดขึ้น

พันตำรวจเอกศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก บก.ปอท. ให้สัมภาษณ์พิเศษกับเบนาร์นิวส์ ถึงสถานการณ์เฟคนิวส์ หรือ ข่าวลวง ในสังคมออนไลน์ มีแนวโน้มว่าจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น หลังสถิติการเข้าแจ้งความดำเนินคดีมีจำนวนเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา ซึ่งเฟคนิวส์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองและความมั่นคง มีความร้อนแรงมากกว่าเฟคนิวส์ประเภทอื่นๆ เนื่องจากมีความพยายามสร้างข่าวลวง เพื่อทำลายชื่อเสียงรัฐบาลทหารที่กำลังบริหารงานประเทศอยู่ในขณะนี้ โดยกลุ่มที่หวังผลทางการเมือง และกลุ่มที่หวังผลเป็นรายได้จากยอดผู้เข้าชมและแชร์ ประกอบกับการที่ประเทศไทยกำลังจะจัดให้มีการเลือกตั้งในปีหน้า ทำให้เฟคนิวส์ประเภทนี้จัดอยู่ในความกังวลอันดับหนึ่งของเจ้าหน้าที่

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงมันมากกว่าเฟคนิวส์ประเภทอื่น ... เราใช้หลักการทางอาชญาวิทยา ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ในการต่อต้านเฟคนิวส์” พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

รองโฆษก ปอท.เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ด้วยว่า หน่วยงานได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านการข่าว (Information Operations – IO) ต่อต้านเฟคนิวส์ โดยศูนย์ฯ นี้ ทำหน้าที่ติดตามข้อมูลอันเป็นเท็จที่ถูกปล่อยเข้ามาในระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง สังคม ความมั่นคง สื่อลามก การก่อการร้าย เมื่อพบแล้วก็จะนำมากากบาทสีแดง พร้อมข้อความว่าข้อมูลนี้เป็นเท็จ เป็นข่าวปลอม อย่าส่งต่อ แล้วนำกลับเข้าสู่ระบบ เพื่อเตือนให้ประชาชนในสังคมออนไลน์รู้ว่า อย่าหลงเชื่อจนตกเป็นเหยื่อของการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

นอกจากนี้ ยังมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นในการปราบปราม ดำเนินคดีเจ้าของเฟสบุ๊ค เพจ เว็บไซต์ และบุคคลที่เข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ หลายคดีเช่น เพจเฟสบุ๊ค “KonthaiUK”, “Raststas.com” รวมถึง อดีตนักการเมืองควบคู่ไปด้วย ซึ่งผลจากปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่พบว่า จำนวนประชาชนที่เข้าไปชอบและแชร์ข้อความหรือเนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายมีจำนวนน้อยลง

“ตัวเลขการคลิก Like และ Share ในเพจนั้นๆ มันน้อยลง จากเดิมที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย แล้วจำนวนคนแชร์มันเยอะขึ้น เป็นเพราะประชาชนเริ่มระวังตัวในการกระทำความผิด เริ่มรู้ว่าเราบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นขึ้น” รองโฆษก ปอท. กล่าว

รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศหลังจากที่นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ทำให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากกลุ่มผู้เห็นต่างผ่านทางโซเชียลมีเดียตลอดมา และถูกกล่าวหาว่าใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือในการใช้จัดการกับกลุ่มบุคคลที่เห็นต่างดังกล่าว

“เราไม่ได้ตกเป็นเครื่องมือของใคร ถ้ามีหน่วยงาน หรือผู้เสียหายมาแจ้งความ ไม่ว่าใครก็ตาม แล้วมีการกระทำความผิดเข้าข่ายตาม พ.ร.บ.คอมฯ เราก็รับ ... เราไม่บิด ไม่ดัน ทำตามหลักฐานทุกอย่าง สุดท้ายถ้าพนักงานสอบสวนทำไม่ดี เราก็โดนฟ้อง” รองโฆษก ปอท. ระบุ

ตำรวจ ปอท. แสดงแผนผังการดำเนินคดีกับแอดมินเพจ KhonthaiUK ในความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา14(2) และกลุ่มผู้เผยแพร่หรือส่งต่อข้อความฯ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา14(5) วันที่ 12 มิถุนายน 2561 (ภาพโดย กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว)
ตำรวจ ปอท. แสดงแผนผังการดำเนินคดีกับแอดมินเพจ KhonthaiUK ในความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา14(2) และกลุ่มผู้เผยแพร่หรือส่งต่อข้อความฯ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา14(5) วันที่ 12 มิถุนายน 2561 (ภาพโดย กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว)

 

สถานการณ์ดิจิทัลในประเทศไทย

จากการเปิดเผยข้อมูลของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเคลื่อนที่ใช้งานอยู่ในปี 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 121.53 ล้านเลขหมาย จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 69.11 ล้านคน ขณะที่ We Are Social เอเจนซีจากสหราชอาณาจักร และ Hootsuite ผู้ให้บริการการตลาดบนโซเชียลมีเดีย ระบุว่ามีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกในช่วงเดือนมกราคม ปี 2561 มากกว่า 4,000 ล้านราย และคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน โดยที่โซเชียลมีเดียยอดนิยมยังคงเป็น “Facebook” และ “YouTube”

ทางด้านเฟสบุ๊ค เปิดเผยข้อมูลผู้ใช้เฟสบุ๊คในประเทศไทย จากฐานข้อมูลในเดือนกรกฎาคมปี 2561 ว่า ประชาชนเข้าสู่ระบบเฟสบุ๊คโดยเฉลี่ยมากกว่า 52 ล้านคนต่อเดือน ซึ่งเฟสบุ๊คได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะปกป้องสิทธิของประชาชนผู้ใช้เฟสบุ๊ค เพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงออกได้อย่างเสรีและปลอดภัย แต่เฟสบุ๊คก็พร้อมจะลบเนื้อหาหรือจำกัดการเข้าถึงเนื้อหา ที่ละเมิดต่อมาตรฐานความปลอดภัยของชุมชน หรือละเมิดกฎหมายของประเทศหนึ่งประเทศใด หากได้รับการร้องขอ

“เราอาจมีการจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในประเทศที่อ้างว่าถูกละเมิดกฎหมาย” ข้อความในเฟสบุ๊ค ที่ส่งมาให้เบนาร์นิวส์ระบุ “สำหรับประเทศไทย เราได้ระงับการเข้าถึงเฉพาะเนื้อหาที่ผิดกฎหมายในประเทศ หรือภูมิภาคที่อ้างว่าถูกละเมิดกฎหมายเท่านั้น”

เฟสบุ๊ค ได้รายงานสถิติการระงับการเข้าถึงเนื้อหาที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย โดยปี 2559 เฟสบุ๊กระงับการเข้าถึงเนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมายมาตรา 112 จำนวนทั้งสิ้น 40 เนื้อหา และในปี 2560 เฟสบุ๊กระงับการเข้าถึงเนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมายมาตรา 112 จำนวนทั้งสิ้น 364 รายการ ซึ่งเฟสบุ๊ค ระบุว่า “เป็นไปตามการร้องขอจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) และกระทรวงเทคโนโลยีฯ” และอีก 1 รายการ เป็นคำร้องขอส่วนบุคคลในคดีหมิ่นประมาท

ข่าวลวง กับ เสรีภาพในการแสดงความเห็น

ที่ผ่านมา ประชาชน นักการเมือง นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย วิจารณ์ถึงการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความเห็นบนพื้นที่สาธารณะ

นายปริญญา หอมเอนก นักวิชาการด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ระบุว่า การจัดการข่าวลวง กับ การจำกัดสิทธิเสรีภาพ แตกต่างกัน การอ้างสิทธิเสรีภาพในการสร้างข่าวลวง หรือ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อคนเพียงกลุ่มเดียว แต่สร้างความเสียหายต่อสาธารณะ ไม่เรียกว่าเสรีภาพในการแสดงออก แต่เป็นการกลั่นแกล้ง สร้างความแตกแยก ควรต้องมีการระงับยับยั้ง แต่การแสดงความเห็นที่เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมบนพื้นที่สาธารณะสมควรได้รับการสนับสนุน

“เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ คือห้ามการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ ใครโพสต์อะไรลงไปก็ต้องรับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองพูด ไม่ใช่อ้างสิทธิเสรีภาพแล้วไม่ต้องรับผิดชอบก็ได้ แต่ถ้าคนโพสต์มั่นใจว่าข้อมูลของตัวเองไม่เป็นเท็จ ก็ไปต่อสู้กันในศาล” นักกฎหมายมหาชนรายหนึ่ง กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ทั้งนี้ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ในฐานะรองโฆษก ปอท. ยืนยันว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไม่เคยปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นบนพื้นที่สาธารณะ หรือแม้แต่การเข้าชมเพจ หรือเว็บไซต์ต่างๆ แต่ย้ำว่าการแสดงความเห็นควรเป็นไปด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์และมีเนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริง ในขณะที่ผู้รับข่าวสารควรใช้วิจารณญาณในการตรวจสอบข้อมูลก่อนส่งต่อ เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวง

“เราไม่เคยห้ามการเข้าชม... แต่ชม แล้วชอบ แล้วแชร์ โดนแน่นอน” รองโฆษก ปอท. กล่าวทิ้งท้าย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง