รัฐบาลไทยดำเนินคดี เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เหตุไม่ปิดกั้นเนื้อหาผิดกฎหมาย

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.09.24
กรุงเทพฯ
200924-TH-social-media-1000.jpg นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (คนที่สองจากขวามือ) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการ ปอท. (ขวามือ) แถลงข่าวการแจ้งความดำเนินคดีเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย วันที่ 24 กันยายน 2563
ภาพโดยพรรคพลังประชารัฐ

ในวันพฤหัสบดีนี้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าร้องเรียนต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ให้ดำเนินคดีกับเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ หลังจากฝ่าฝืนคำสั่งศาลอาญาไม่ยอมดำเนินการปิดกั้นเนื้อหาผิดกฎหมาย หรือเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามเวลาที่กำหนด

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยดำเนินคดีทางอาญากับแพลตฟอร์ม ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ เพราะบริษัทฯ ดังกล่าวไม่ทำตามคำสั่งศาลอาญา ที่ระบุให้เจ้าของแพลตฟอร์มดำเนินการปิดกั้นเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ภายในเวลา 15 วัน ซึ่งก่อนหน้าที่จะครบกำหนดเวลา ทางกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ส่งจดหมายเตือนไปยังแพลตฟอร์มต่างๆ ถึงสองครั้งแล้ว แต่เมื่อเกินกำหนดเวลาแล้วแพลตฟอร์มยังให้ความร่วมมือไม่ครบถ้วน ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ศาลสั่ง จึงต้องนำส่งเอกสารหลักฐานทั้งหมดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีต่อไป

“วันนี้ เป็นครั้งแรกที่เราได้ดำเนินการในการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในการดำเนินคดีกับแพลตฟอร์มที่ไม่ได้ให้ความร่วมมือตาม มาตรา 27 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ” นายพุทธิพงษ์ ระบุ

พร้อมกันนี้ นายพุทธิพงษ์ ได้มอบเอกสารหลักฐานให้กับ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ประกอบด้วยจดหมายพร้อมคำสั่งศาลไปยังแพลตฟอร์มต่าง ๆ อาทิ เฟซบุ๊ก ที่ขอให้ปิดกั้นเนื้อหาจำนวน 661 รายการ ซึ่งปิดกั้นให้แล้วจำนวน 225 รายการ แต่ยังคงเหลืออีก 436 รายการ ขณะที่ ทวิตเตอร์ ที่ขอให้ปิดกั้นจำนวน 69 รายการ ปิดกั้นแล้ว 5 รายการ คงเหลืออีก 64 รายการ อินสตาแกรมอีก 1 รายการ

“ยูทูบ เราขอไป 289 รายการ ซึ่งเขาเข้าใจกฎหมายประเทศไทย และปิดกั้นให้ทั้งหมดแล้ว เมื่อคืนที่ผ่านมา” นายพุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายพุทธิพงษ์ กล่าวต่อด้วยว่า หลังจากวันนี้ กระทรวงฯ จะดำเนินการรวบรวมคำสั่งศาลที่สั่งให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ปิดกั้นเนื้อหาที่เกี่ยวกับ การพนัน ยาเสพติด ลามก การละเมิดลิขสิทธิ์ รวมไปถึงการหมิ่นสถาบันหลักของชาติ อีกจำนวนกว่า 3,000 รายการ ประกอบด้วย เฟซบุ๊ก 1,748 รายการ ยูทูบ 607 รายการ ทวิตเตอร์ 261 รายการ และเว็บไซต์อื่น ๆ อีกกว่า 400 รายการ ซึ่งนายพุทธิพงษ์ระบุว่า หากไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาล ในกรอบระยะเวลาที่กำหนด ก็จะเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีเช่นเดียวกับวันนี้

ด้าน พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ ระบุว่า คดีดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามมาตรา 20 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่มีการนำเข้าข้อมูลที่ผิดกฎหมายที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของประเทศ ข้อมูลที่เป็นความผิดอาญาตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา หรือ ข้อมูลที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และมีการยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งให้ปิดกั้น จากนั้น เมื่อผู้ให้บริการยังไม่มีการปิดกั้น ก็ต้องดำเนินการต่อในมาตรา 27 ซึ่งเป็นโทษที่ระบุไว้ตามกฎหมาย

“ตอนนี้ ทาง ปอท. รับไว้เป็นคดีอาญาแล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลว่า บริษัทฯ ผู้ให้บริการตั้งอยู่ในประเทศไทย หรือนอกประเทศไทย กรณีเฟซบุ๊ก เราอาจต้องเรียกเฟซบุ๊กประเทศไทยมาถามว่า เขาเกี่ยวข้องไหม ถ้าเขายอมรับ ก็สามารถเปรียบเทียบปรับตามมาตรา 27 ได้เลย แต่ถ้าเขาปฏิเสธบอกว่าเป็นการดำเนินการของบริษัทฯ ในต่างประเทศ ก็จะเป็นความผิดนอกราชอาณาจักร เราก็ต้องติดต่ออัยการสูงสุด กระทรวงการต่างประเทศ สถานทูต การดำเนินคดีก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ก็จะดำเนินการให้เร็วที่สุด” พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ระบุ

ทั้งนี้ มาตรา 27 ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ระบุว่า หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ให้ระวางโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท และปรับเป็นรายวันอีก ไม่เกินวันละ 5,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

ล่าสุดในวันเดียวกัน เบนาร์นิวส์ได้ติดต่อขอความคิดเห็นไปทางเฟซบุ๊ก สำนักงานใหญ่ แต่ไม่ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่บริษัทฯ

ส่วน ทวิตเตอร์ ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นกับสำนักข่าวรอยเตอร์

แจ้งความดำเนินคดีผู้โพสต์อีก 5 ราย เกี่ยวเนื่องการชุมนุมเมื่อสุดสัปดาห์

นอกจากนี้ นายพุทธิพงษ์ ยังได้ยื่นหลักฐานเพื่อขอให้ บก.ปอท. ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมจำนวน 5 คน ที่โพสต์ข้อความที่เป็นความผิดตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในช่วงระหว่างการชุมนุมใหญ่ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม วันที่ 19-20 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งทางกระทรวงได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด จนพบว่าใครเป็นคนแรกที่ได้นำเข้าในระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีทั้งหมด 5 ราย อยู่ทางเฟซบุ๊ก 2 ราย และ ทวิตเตอร์ 3 ราย

“ใน 5 คนนี้ มีนักการเมือง 3 ราย ซึ่งเราใช้ มาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในการยุยง ทำให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง ความสงบเรียบร้อย โดยทั้ง 5 รายนี้ ใช้โซเชียลมีเดียในการโพสต์หมิ่นสถาบันฯ เราใช้ พ.ร.บ.คอมฯ ทั้งหมดไม่ได้ใช้อย่างอื่น” นายพุทธิพงษ์ ระบุ

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในทุกหมวดแม้แต่หมวดพระมหากษัตริย์ และให้พลเอกประยุทธ์ยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่

ในวันเดียวกันนี้ ทางรัฐสภาได้มีการประชุมร่วมเป็นวันที่สองในการพิจารณาญัตติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 6 ฉบับ ที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ว่าจะรับร่างหรือไม่ ซึ่งในที่สุด ทางรัฐสภาได้ลงมติ 431 เสียง ต่อ 255 เสียงให้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแทนการลงมติว่าจะรับร่างฯ หรือไม่ โดยมีสมาชิก 28 ราย งดลงคะแนน

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ที่ประกอบด้วยสมาชิกทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล 45 คน ต้องศึกษาให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน แต่สมาชิกพรรคฝ่ายค้านได้ประท้วง เห็นว่าเป็นการถ่วงเวลา และอาจไม่ทันสมัยประชุมสภา จนทำให้ยืดเยื้อ ซึ่งจะทำให้การชุมนุมของประชาชนที่เรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามท้องถนนบานปลาย

ที่หน้ารัฐสภา กลุ่มประชาชนปลดแอก แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และผู้ต่อต้านรัฐบาลหลายพันคน ได้ปิดถนนหน้ารัฐสภาเพื่อกดดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ และได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การแปะสติกเกอร์หมุดคณะราษฎร 2 แห่ง ที่ประตูรัฐสภาและพื้นถนน

“ที่ประชาชนบอกให้แก้ ไม่แก้ องค์กรอิสระที่ไม่มีส่วนเชื่อมโยงกับประชาชน คอยแต่ขัดขวางประชาธิปไตยอย่างศาลรัฐธรรมนูญ เอาออกไป ยุบพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า เอามันออกไป” นายอานนท์ นำภา หนึ่งในแกนนำประท้วงกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง