เศรษฐาเสนองบปี 68 3.75 ล้านล้าน งบคลังพุ่งสุดเฉียด 4 แสนล้าน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.06.19
กรุงเทพฯ
เศรษฐาเสนองบปี 68 3.75 ล้านล้าน งบคลังพุ่งสุดเฉียด 4 แสนล้าน ภาพมุมกว้างของห้องประชุมรัฐสภาขณะการลงคะแนนเสียงนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 วันที่ 22 สิงหาคม 2566
ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงเสนอร่าง พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 มูลค่า 3.75 ล้านล้านบาท เข้าสู่การอภิปรายของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2567 ร่วม 2.72 แสนล้านบาท ด้านฝ่ายค้านอภิปรายโจมตีว่า ประเทศอาจจะเสียหายจากการที่รัฐบาลพยายามใช้งบกว่า 1.52 แสนล้านบาท กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และกระตุ้นเศรษฐกิจไม่สำเร็จ

“งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 3,752,700 ล้านบาท มีที่มาจากรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ จำนวน 2,887,000 ล้านบาท และเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 865,700 ล้านบาท” นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร 

นายเศรษฐา ยังแสดงความเชื่อมั่นว่า แม้งบประมาณจะขาดดุลเพิ่มขึ้นแต่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้

“รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ จำนวน 908,224 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.2 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 27.9 และเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปีที่ผ่านมา การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ” นายกรัฐมนตรี ระบุ

การอภิปราย ร่าง พรบ. งบประมาณ ปี 2568 ของสภาผู้แทนราษฎร จะใช้เวลาระหว่างวันที่ 19 - 21 มิถุนายน 2567 และมีการลงมติวาระที่ 1 โดยฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้านได้เวลาอภิปรายเท่ากันคือ 20 ชั่วโมง

ร่าง พรบ. งบประมาณ ปี 2568 กระทรวงที่จัดสรรงบมากที่สุดคือ กระทรวงการคลัง 390,314 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 63,294 ล้านบาท รองลงมาคือ ศึกษาธิการ 340,584 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,413 ล้านบาท มหาดไทย 294,863 ล้านบาท ลดลง 56,732 ล้านบาท และกลาโหม 200,293 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,179 ล้านบาท

นายชัยธวัช ตุลาธน สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และผู้นำฝ่ายค้าน ชี้ว่า การดำเนินโครงการของรัฐบาลเป็นการดำเนินการแบบไร้ยุทธศาสตร์ 

“เจ๊งไม่ว่า แต่เสียหน้าไม่ได้… โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเกิดขึ้นมาอย่างฉาบฉวย หาเสียงเฉพาะหน้าโดยไม่ได้คิดให้เสร็จตั้งแต่ต้น นโยบายเรือธงนี้คิดไปทำไป กลับไปกลับมาจนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีความชัดเจน” ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าว

ส่วนที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากฝ่ายค้านคือ ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ วงเงิน 152,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายงบกลาง 805,745 ล้านบาท ซึ่งจะถูกใช้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นโยบายหาเสียงหลักของเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล 

“พรรคแกนนำรัฐบาลจึงเหลือความหวังเดียว หากผลักดันดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงที่ได้หาเสียงสำเร็จ ความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลจะฟื้นคืนกลับมา… แนวคิดการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนี้อาจจะใช้ได้กับประเทศไทยเมื่อ 20 ปีก่อน แต่ไม่น่าจะสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริงใน พ.ศ.นี้” นายชัยธวัช ระบุ 

ขณะเดียวกัน น.ส. ศิริกัญญา ตันสกุล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้ว่า รัฐบาลใช้งบประมาณอย่างเกินตัวซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อประเทศ

“ปัญหาคือพอเราใช้จ่ายเงินเกินตัว แต่หาเงินไม่ทัน มันจะทำให้ชีวิตเราเสี่ยง รอบนี้เราไม่ได้เสี่ยงแค่คน ๆ เดียว เพราะรัฐบาลนี้ที่ใช้เงินมือเติบแบบนี้ ท่านกำลังพาประเทศไปเสี่ยงด้วย การกู้จนเต็มเพดานแบบนี้ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือเกิดเหตุการณ์ที่เราไม่คาดฝันขึ้น เราจะไม่เหลือพื้นที่ ไม่เหลืองบประมาณที่จะไปรองรับสถานการณ์เช่นนั้นได้เลย” น.ส. ศิริกัญญา กล่าว

ต่อประเด็นโจมตีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นายดนุพร ปุณณกันต์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เชื่อว่า โครงการนี้จะไม่เป็นเช่นที่ถูกท้วงติง

“โครงการดิจิทัลวอลเล็ตอาจจะถูกท้วงติงจากฝ่ายค้านบ้าง นักวิชาการบางกลุ่มบ้าง ผมเรียนครับว่าดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ทำครั้งเดียวแล้วจบ แต่จะกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะกลางและยาว… วลีที่ฝ่ายค้านบอกว่า จัดงบปี 2568 แบบเจ๊งไม่ว่าเสียหน้าไม่ได้ จึงไม่เป็นความจริง ประเทศไทยเจ๊งไม่ได้” นายดนุพร กล่าวระหว่างการอภิปราย

สำหรับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกบรรจุอยู่ในหมวดยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จัดสรรงบประมาณการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5,781.9 ล้านบาท 

มีเป้าหมายจะลดการสูญเสีย และความรุนแรง 80 % โดยระบุว่า “จะใช้แนวทางสันติวิธีแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดสันติสุขอย่างต่อเนื่อง พัฒนากระบวนการยุติธรรมและการเยียวยาบนหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้ง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และพัฒนาศักยภาพของพื้นที่”

ขณะที่ใน งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ 206,858.5 ล้านบาท การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็น 1 ใน 10 หัวข้อการใช้งบจ่ายบูรณาการด้วยเช่นกัน

ตลอดช่วงปี 2548-2567 รัฐบาลใช้เงินในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ร่วม 5 แสนล้านบาท แต่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547 - 2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,540 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง