ทหารหญิงอิสลามฝ่ายธุรการและมวลชน ขออนุมัตินายกฯ ใช้ฮีญาบกับเครื่องแบบทหาร
2016.01.27

ในวันพุธ (27 มกราคม พ.ศ. 2559) นี้ เจ้าหน้าที่ทหารหญิงที่นับถือศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ทางชมรมทหารหญิงอิสลามชายแดนใต้ ได้ร่างหนังสือเตรียมที่จะยื่นถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติให้ทหารหญิงที่ปฏิบัติภารกิจด้านธุรการและที่ต้องเข้าหามวลชน สามารถสวมใส่ผ้าคลุมได้ตามหลักศาสนาอิสลาม และป้องกันฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบกล่าวหารัฐบาลว่าไม่เคารพหลักศาสนาอิสลาม
ทหารหญิงมุสลิมที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้รายหนึ่งกล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า สาเหตุที่ทางกลุ่มทหารหญิงมุสลิมต้องการให้ผู้บังคับบัญชาอนุญาตการใช้ผ้าคลุมฮีญาบนั้น เพื่อให้ถูกต้องตามหลักศาสนาซึ่งจะทำให้ถูกต้องเหมาะสมในเข้าหามวลชน และป้องกันการที่ฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบนำไปสร้างเงื่อนไขเพื่อทำลายข้าราชการ
“เขาจะไปบอกชาวบ้านว่า คนที่ทำงานกับภาครัฐจะต้องทำตามรัฐ ต้องยอมเปิดแม้กระทั่งผมทั้งที่รู้ว่าบาป ทั้งที่รู้ว่าคือไปนรก เรารู้มาตลอดว่ามีการพูดแบบนี้ พยายามขอกับผู้บังคับบัญชาเพื่อขอใส่ฮีญาบเวลาลงพื้นที่ แต่ผู้บังคับบัญชาไม่ยอมให้ใส่” ทหารหญิงมุสลิมท่านหนึ่งกล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้
ทหารหญิงมุสลิมคนเดียวกัน กล่าวว่า เหตุผลข้างต้น ทำให้มีการคุยกับเพื่อนทหารที่เป็นมุสลิม และคุยกันว่าจะส่งหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาอนุมัติให้ทหารหญิงที่นับถือศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทำหน้าที่ธุรการ และที่ทำหน้าที่เข้าหามวลชน ให้สามารถใส่ผ้าคลุมได้
“พวกเราคิดว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเข้าใจความรู้สึกของทหาร และเชื่อว่าท่านเข้าใจหัวอกทหารด้วยกันว่า มีอุปสรรคแค่ไหนถ้าชาวบ้านมองเราอยู่คนละฝ่าย มั่นใจว่านายกรัฐมนตรีจะช่วยพวกเราได้ อยากให้เรื่องนี้ ถึงนายกรัฐมนตรีด้วยเร็ว” ทหารหญิงคนเดียวกันกล่าว
“เวลาเข้าพื้นที่ ชาวบ้านจะมองเราไม่ค่อยเป็นมิตร เพราะเขามองว่าเราไม่มีผ้าคลุม แต่เขามีผ้าคลุม มองเราไม่เหมือนเขา มองเราต่างกับเขา สิ่งนี้ ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งเวลาทำงานในพื้นที่นี้ แต่ภารกิจที่จะต้องทำ คือ ต้องทำให้ชาวบ้านมองเราเป็นมิตร เป็นพวกเดียวกัน” ทหารหญิงคนเดียวกันกล่าวเพิ่มเติม
ในกรณีนี้ พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การแต่งกายของทหารหญิงยังคงเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงกลาโหม และหากทางทหารหญิงมุสลิมร้องขออย่างเป็นทางการ ก็เป็นเรื่องของผู้ที่มีอำนาจจะรับพิจารณาดำเนินการ
“ปัจจุบันเครื่องแบบของเจ้าหน้าที่ทหารยังเป็นไปตามกฎระเบียบของกระทรวงกลาโหม ซึ่งเรื่องนี้ ยังไม่มีการร้องขอจากทหารหญิงมุสลิม ที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ แต่ถ้าหากมีการร้องขอก็จะเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจที่จะดำเนินการในเรื่องของการแก้ระเบียบ” พันเอกปราโมทย์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นายมูฮำหมัดรุสลัน มะเซะ นักวิชาการประจำโรงเรียนปอเนาะบ้านดอน อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า “การปกปิดร่างกายหรือการแต่งกายอย่างมิดชิดในผู้หญิงอิสลาม ในคัมภีร์อัลกุรอานมีมากกว่าสิบโองการ ที่กล่าวถึงเรื่องของการคลุมฮีญาบและการห้ามมองไปยังผู้ที่สามารถแต่งงานกันได้ การสวมใส่ฮีญาบก็หมายความถึงการแต่งกายแบบอิสลามของสตรี คือความจำเป็นในการปกปิดร่างกาย เป็นการห้ามเปิดเผยเรือนร่างต่อผู้ที่สามารถแต่งงานได้”
บางหน่วยงานอนุมัติการใช้ผ้าคลุมศีรษะ
กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหญิงที่นับถือศาสนาอิสลามคลุมผ้าคลุมศีรษะขณะปฏิบัติงานในหน่วยบริการได้
ในเดือนกรกฎาคม 2558 นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหญิงที่นับถือศาสนาอิสลาม สามารถแต่งกายตามหลักศาสนา และคลุมผ้าคลุมศีรษะได้ ซึ่งเป็นไปตามสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา โดยได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการแต่งกายของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานสาธารณสุข 3 ฉบับ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2542 ได้แก่ 1. การแต่งกายของแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร 2. การแต่งกายเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และ 3. การแต่งกายของพนักงานผู้ช่วยกายภาพบำบัด โดยได้มีหนังสือกำชับให้ปฏิบัติตามหนังสือที่ สธ 0208/42/ว12 ลงวันที่ 12 มกราคม 2543 เป็นต้นมา
ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงฝ่ายธุรการ การใช้ผ้าคลุมศีรษะได้
อย่างไรก็ตาม นางสาวต่วนไสนี (ไม่ขอออกนามสกุล) กล่าวว่า เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปสมัครเพื่อเป็นข้าราชการตำรวจ ของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากทราบว่าตำรวจธุรการสามารถใส่ผ้าคลุมปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ทางเจ้าหน้าที่ ของ ศชต. บอกว่า วันสอบคัดเลือกไม่สามารถใส่ผ้าคลุมได้จนกว่าจะมาเป็นข้าราชการ ทำให้ต้องตัดสินใจไม่ไปคัดเลือก
“เพราะคิดว่า ถ้าเรายังไม่ได้เป็นข้าราชการยังไงๆ เรามีสิทธิ์ที่จะใส่ชุดไหนก็ได้ที่สุภาพ โดยไม่ใช่ว่าต้องถอดผ้าคลุมผม ซึ่งมันบาป ขนาดยังไม่ได้เป็นข้าราชการ เขายังไม่ให้ใส่ แล้วถ้าเป็นแล้ว คงมีทางบีบให้เราไม่ใส่อีกจนได้ อยากเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้ง คณะกรรมการอิสลามในพื้นที่ ดำเนินการเรื่องนี้กับรัฐบาลให้ชัดเจน มีคำสั่งที่สามารถปฏิบัติได้จริง” นางสาวต่วนไสนีกล่าว
นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รุนแรงเป็นรอบที่สองเมื่อต้นปี 2547 เป็นต้นมา รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว 264,953 ล้านบาท ส่วนงบประมาณปี 2559 ตั้งไว้จำนวน 30,866 ล้านบาท ในพื้นที่ มีอัตรากำลังพลในกรอบ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า 6-8 หมื่นนาย เฉพาะเจ้าหน้าที่ทหารพราน มีกำลัง 12 กรม 172 กองร้อย กับอีก 9 หมวดของทหารพรานหญิง