ชาวประมงพาณิชย์ค้านข้อเรียกร้องประมงพื้นบ้านต่อรัฐ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.03.21
กรุงเทพฯ
180321-TH-fishing-1000.jpg ชาวประมงพื้นบ้านในอำเภอปะนาเระ ปัตตานี ออกหาปลาในท้องทะเล เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559
ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์

ชาวประมงพาณิชย์ จาก 22 จังหวัดชายฝั่งทะเลกว่าหนึ่งพันราย รวมตัวที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในวันพุธนี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐทบทวนข้อตกลงที่รัฐได้ทำไว้กับสมาคมประมงพื้นบ้านเกี่ยวกับเรื่องเขตทำประมง เมื่อสัปดาห์ก่อน และได้ขอให้รัฐรับซื้อเรือที่ไม่มีใบอนุญาตทำประมงจากเจ้าของเรือ และอำนวยความสะดวกเรื่องแรงงานต่างชาติให้กับเรือประมง

การรวมตัวของชาวประมงพาณิชย์ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากการที่ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำข้อตกลงรับข้อเรียกร้องของสมาคมประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2561 ในการขอให้แก้ พระราชกำหนดการประมง (พ.ร.ก.ประมงฯ) ซึ่งมีเงื่อนไขโดยสรุปคือ

หนึ่ง ให้ รมว.เกษตรฯ รับรองว่า จะเสนอหลักการขอแก้ไขพระราชกำหนดการประมง ที่เกี่ยวข้องกับประมงพื้นบ้านเข้าสู่คณะรัฐมนตรี ภายใน 6 เดือน เช่น การแก้ไขนิยามประมงพื้นบ้าน การห้ามประมงพื้นบ้านทำประมงนอกชายฝั่ง เป็นต้น สอง ให้ รมต.เกษตรฯ รับรองว่าจะแก้ไขปัญหาเครื่องมือประมง เช่น การจับปลากะตัก ด้วยเครื่องมือครอบ ซ้อนยก ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในเวลากลางคืน และการประมงอวนลาก โดยให้แต่งตั้งคณะทำงานวิชาการภายในเดือนมีนาคมนี้ 2561 และกำหนดขนาดพันธุ์สัตว์น้ำที่เล็กเกินกว่าการทำประมงให้เสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2561

ประการที่สาม ให้ รมต.เกษตรฯ รับรองว่าจะทำข้อเสนอถึงหัวหน้า คสช. เพื่อขอแก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 24/2558 ให้ประมงพื้นบ้านสามารถขึ้นทะเบียนได้ โดยจัดประชุมร่วมกับประมงพื้นบ้าน ภายในเดือนเมษายน 2561 ประการที่ 4 ให้ รมว.เกษตรฯ ทำหนังสือยืนยันนโยบายรัฐบาล เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวกับเครื่องมือประมงอวนรุน ลอบพับ (คอนโด, ไอ้โง่) เรืออวนลากผิดกฎหมาย ที่มีการลักลอบทำการประมงถึงจังหวัดชายฝั่งทะเลทุกจังหวัด ภายในวันที่ 19 มีนาคม 2561 และประการที่ 5 การมอบหมายให้นายอรุณชัย พุทธเจริญ รองอธิบดีกรมประมง และนายสะมะแอ เจ๊ะมูดอ ผู้แทนชาวประมงพื้นบ้านมีอำนาจหน้าที่ติดตามการดำเนินงานตามข้อตกลง

ซึ่งชาวประมงพาณิชย์เห็นว่า ข้อเสนอที่ 2 ข้อที่ 4 และ ข้อที่ 5 ของสมาคมประมงพื้นบ้านนั้น จะกระทบต่อการทำประมงพาณิชย์ จึงเรียกร้องให้มีการทบทวนข้อเสนอดังกล่าว จึงได้รวมตัวมาเรียกร้อง และส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมกับ นายกฤษฎา จนได้ข้อสรุปว่า นายกฤษฎาจะรับข้อเสนอของชาวประมงพาณิชย์เข้าพิจารณา

ทั้งนี้ นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนชาวประมงพาณิชย์ กล่าวหลังการประชุมร่วมกับนายกฤษฎาวันพุธนี้ว่า นายกฤษฎาจะรับข้อเสนอของชาวประมงพาณิชย์ ที่ให้ทบทวนข้อตกลงที่ทำไว้กับเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ซึ่งบางส่วนอาจกระทบการทำประมงพาณิชย์ คือ ข้อ 2 ข้อ 4 และ ข้อ 5 โดยรับปากว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อเสนออีกครั้ง

“ประมงพาณิชย์เองร้องให้รัฐรับซื้อเรือที่มีทะเบียนแต่ไม่มีใบอนุญาตประมง เพื่อให้เขาสามารถไปลืมตาอ้าปากในอาชีพอื่นได้ เรื่องเรือตกสำรวจ ก็อยากให้ท่านได้พิจารณาคืนสิทธิให้เขาได้กลับมาขายให้รัฐ ขอให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่กระทบพี่น้องชาวประมง เช่น คำสั่ง คสช. ที่ 22/60 ข้อ 22 ที่เขียนไว้ว่าถ้าหากเรือกระทำผิด ให้กักเรือถึงคดีสิ้นสุด ซึ่งทำให้ชาวประมงไม่สามารถสู้คดีได้ เพราะเจ๊งก่อน” นายมงคลกล่าว

“พี่น้องขอให้แก้ปัญหาเรื่องแรงงานให้มีการนำเข้าแรงงานถูกต้องกฎหมายตั้งศูนย์รับแรงงานต่างชาติ ที่ระนอง กาญจนบุรี ตราด และจันทบุรี ส่วนข้อเสนอของประมงพื้นบ้านบางอัน เราไม่ขัดข้องที่จะแก้ไขคำนิยามประมงพื้นบ้าน รวมทั้งการยกเลิกมาตรา 34 ที่ให้พี่น้องประมงพื้นบ้านสามารถออกนอกชายฝั่งได้” นายมงคลกล่าวเพิ่มเติม

ต่อการเรียกร้องของเครือข่ายประมงพาณิชย์ต่อ รมต.เกษตรฯ นายสะมะแอ เจ๊ะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า รู้สึกประหลาดใจกับข้อเรียกร้องของชาวประมงพาณิชย์ เนื่องจากเชื่อว่าข้อเรียกร้องของชาวประมงพื้นบ้านเมื่อสัปดาห์ก่อนนั้น เป็นข้อเรียกร้องเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความยั่งยืนในการทำประมงร่วมกันทั้งประมงพื้นบ้านและพาณิชย์เท่านั้น ไม่ได้ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง

“ประหลาดใจว่าไปเรียกร้องทำไม เพราะที่ผ่านมาในการประชุมกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ คุณมงคลก็เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของประมงพื้นบ้าน ข้อเสนอที่เราเสนอไปในวันที่ 16 มีนาคม 2561 ไม่ได้เป็นข้อเสนอใหม่ เราคุยกับรัฐมากตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาแรกๆ ก็มีการตกลงเรื่อยมา แต่เรื่องเงียบหาย เราเลยไปทวงถาม ที่ประมงพื้นบ้านให้ทำข้อตกลงรัฐก็เพื่อให้เกิดความชัดเจน และยืนยันว่าได้เสนอไปแล้ว หากเรื่องเงียบจะได้ติดตามได้” นายสะมะแอกล่าว

จากตัวเลขของกรมประมงและสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเรือขนาดใหญ่กว่า 10 ตันกรอสขึ้นไป ขอขึ้นทะเบียนทั้งหมดประมาณ 13,000 กว่าลำ เป็นเรือที่มีใบอาชญาบัตร 11,227 ลำ ไม่มีใบอาชญาบัตร 2,180 ลำ ส่วนเรือประมงพื้นบ้าน หรือเรือขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส มีประมาณ 28,000 ลำ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง