ไทยให้สัตยาบันคุ้มครองประมง มาตรฐานสากลเป็นประเทศแรกในเอเชีย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.01.31
กรุงเทพฯ
190131-TH-fishing-1000.jpg เรือประมงจากมหาชัย ออกหาปลาในอ่าวไทย จังหวัดสมุทรสาคร วันที่ 9 ธันวาคม 2559
ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์แล้วในช่วงค่ำวันพุธที่ผ่านมา (ตามเวลาประเทศไทย) ด้านสมาคมประมงแห่งประเทศไทย รู้สึกพอใจ แม้ก่อนหน้านั้นเคยประท้วงคัดค้าน เนื่องจากไม่เห็นด้วยในเนื้อหาบางประการ

ตามแถลงการณ์ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ พล.ต.อ.อดุลย์ พร้อมด้วย นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง พ.ศ. 2550 ต่อนายกาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ไอแอลโอ ซึ่งเป็นผู้ต้อนรับและรับสัตยาบันสาร ณ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวานนี้

พล.ต.อ.อดุลย์ ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวประจำไอแอลโอว่า การให้สัตยาบันครั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลไทยเชื่อว่า อนุสัญญาจะช่วยสร้างหลักประกันให้เกิดสภาพการทำงานที่มีคุณค่าแก่แรงงานประมงในประเทศไทย

“การให้สัตยาบันในอนุสัญญาดังกล่าว เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทย ที่ต้องการจะยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองการทำงานในเรือประมงของทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติให้ดีขึ้น และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และป้องกันความเสี่ยงที่แรงงานจะตกอยู่ในสภาพแรงงานบังคับ” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว

ข้อตกลงในอนุสัญญาฉบับนี้จะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงาน คุณภาพที่พักอาศัย อาหาร น้ำดื่ม การรักษาพยาบาล ระบบการตรวจแรงงาน และความเป็นอยู่บนเรือประมง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการทำประมงที่มีจริยธรรมและมีธรรมาภิบาล และจะดึงดูดแรงงานให้เข้ามาทำงานในภาคประมงมากขึ้น ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงได้ด้วย

ด้าน นายกาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ไอแอลโอ ระบุว่า ไอแอลโอจะสนับสนุนประเทศไทยอย่างเต็มต่อกิจกรรมต่างๆ ที่ประเทศไทยจะดำเนินการในอนาคต ในฐานะประธานอาเซียน และรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยให้สัตยาบันครั้งนี้

“ผมรู้สึกขอบคุณต่อการดำเนินการตามข้อตกลงของไทยเกี่ยวกับภาคประมง การให้สัตยาบันครั้งนี้ของประเทศไทยจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับภูมิภาค และถือเป็นประเทศแรกของเอเชียที่ให้สัตยาบันในเรื่องที่สำคัญเรื่องนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประเทศอื่นๆ จะเจริญรอยตามประเทศไทย” นายกาย ระบุ

การให้สัตยาบันครั้งนี้ จะมีผลในอีก 1 ปีข้างหน้าคือ วันที่ 30 มกราคม 2563 ซึ่งประเทศไทยมีหน้าที่ปรับแก้ไขข้อบังคับ และข้อกฎหมายเกี่ยวกับการทำประมงในประเทศให้สอดคล้องกับข้อกำหนดต่างๆ ของสัตยาบัน

ก่อนหน้านี้ ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ชาวประมงในประเทศไทย ได้พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิเสธที่จะให้สัตยาบันในอนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 188 เนื่องจากมีข้อกำหนดเกี่ยวกับแบบเรือประมงของไอแอลโอ ให้เรือประมงมีสร้างห้องนอน และห้องน้ำบนเรือ ซึ่งจะกระทบต่อเรือประมงพาณิชย์ของไทย ที่ขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายอยู่แล้วกว่า 10,600 ลำ ที่มีขนาดเล็กซึ่งต้องมีการดัดแปลงทั้งหมด และอาจส่งผลให้เรือบางลำไม่สามารถทำประมงได้

อย่างไรก็ตาม นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันพฤหัสบดีนี้ว่า หลังจากที่ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างชาวประมงและตัวแทนรัฐบาล ทำให้ข้อกังวลของชาวประมงหมดไป และชาวประมงรู้สึกพึงพอใจกับการให้สัตยาบันของไทยในครั้งนี้

“ผมคัดค้านในช่วงแรก เนื่องจากมีความไม่เข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวประมง ซึ่งทำให้เข้าใจว่า เรือประมงที่มีอยู่เดิมจะต้องดัดแปลงเพื่อให้ได้มาตรฐาน หากประเทศไทยให้สัตยาบัน แต่ปัจจุบัน เข้าใจแล้วว่า เรือที่ต้องมีห้องน้ำ และห้องนอน ขนาดเรือที่เหมาะสมนั้น จะบังคับใช้เฉพาะสำหรับเรือใหม่ เรือเก่าไม่ต้องแก้ไข ซึ่งเราพอใจ” นายมงคล กล่าว

“การให้สัตยาบันของไทยครั้งนี้ น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาแรงงานประมงที่ขาดแคลนของประเทศไทยด้วย เนื่องจากน่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศต้นทาง ในการส่งแรงงานเข้ามาทำประมงในประเทศไทยมากขึ้น” นายมงคล ระบุ

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมประมง รายงานว่า ปัจจุบันมีแรงงานในเรือประมงพาณิชย์ จำนวน 131,505 คน เป็นแรงงานไทย 62,790 คน และแรงงานต่างด้าว 66,715 คน ส่วนแรงงานในเรือประมงพื้นบ้าน (จากการประเมิน) มีประมาณ 36,923 คน และมีเรือประมงพาณิชย์ขึ้นทะเบียนไว้ 10,648 ลำ ซึ่งนายมงคล กล่าวว่า ไทยยังขาดแคลนลูกเรืออีกราว 4 หมื่นคน

ขณะที่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปัญหาแรงงานประมงถูกละเมิด มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) สำรวจพบว่า นับตั้งแต่ปี 2557-2561 มีแรงงานประมงที่ถูกละเมิด 2,554 คน โดยมี 326 คน เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

ปัญหาดังกล่าวถูกเผยแพร่ในสื่อ กระทั่งสหภาพยุโรป (EU) ได้ให้สถานะใบเหลืองแก่การทำประมงในประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 จากปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ส่งผลให้รัฐบาลไทยพยายามดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการประมงอย่างต่อเนื่อง เช่น การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการทำประมง แรงงานประมง โดยได้ตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะ

กระทั่งวันที่ 8 มกราคม 2562 กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง (European Commissioner for Environment, Maritime Affairs, and Fisheries) ได้ประกาศว่าได้ยกเลิกสถานะใบเหลืองของประเทศไทยแล้ว อย่างไรก็ตามกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่า ประเทศไทยจะเข้มงวดในการดูแลการทำประมงในประเทศต่อไป

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง