กรีนพีซเริ่มทำลายอุปกรณ์หาปลาของเรือเครือไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.04.20
กรุงเทพฯ
TH-greenpeace-900 เรือเอสเพอรันซา ของกรีนพีซ ซึ่งออกปฎิบัติการรื้อถอนอุปกรณ์หาปลาแบบทำลายระบบนิเวศน์ในมหาสมุทรอินเดีย ภาพเมื่อ 17 เมษายน 2559
ภาพโดย กรีนพีซ

ปรับปรุงข้อมูล 5:45 pm ET 2016-04-21

องค์กรสิ่งแวดล้อมกรีนพีซ ออกแถลงการณ์ในวันพุธ (20 เมษายน 2559) นี้ ว่า กรีนพีซ ได้เริ่มปฎิบัติการรื้อถอนและทำลายอุปกรณ์หาปลาแบบทำลายระบบนิเวศน์ของกลุ่มประมงในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นเครือข่ายของกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยนแล้ว หลังจากที่ได้ทำการศึกษาและพบว่าการใช้อุปกรณ์ที่กลุ่มประมงกลุ่มดังกล่าวใช้ ได้สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำหลายชนิด

นางสาวอัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ปฎิบัติการของกรีนพีซเริ่มขึ้นในวันพุธนี้ และจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน โดยกรีนพีซได้ใช้เรือที่ชื่อว่า เอสเพอรันซา เดินทางไปยังน่านน้ำสากลในมหาสมุทรอินเดียเพื่อรื้อถอนอุปกรณ์จับปลาที่เรียกว่า Fish Aggregating Devices  (FADs) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ล่อปลาที่กรีนพีซเชื่อว่าทำลายระบบห่วงโซ่อาหารในทะเล

“ตัวอุปกรณ์จับปลาตัวนี้ (FADs) มีผลเสียต่อระบบนิเวศน์ เนื่องจากตัวแพล่อปลานี้ เป็นอุปกรณ์ที่รวบรวมฝูงปลา” นางสาวอัญชลีกล่าว

“ทำไมมันถึงเป็นอุปกรณ์หาปลาที่เรียกว่าทำลายล้าง เนื่องจากการรวมกลุ่มนี้จะมีปลาหลายชนิด หลายขนาด ประกอบด้วยปลาทูน่า ฉลาม กระเบน โลมา และอื่นๆ ฉะนั้น ในการจับปลาครั้งนึงจึงมีการจับปลาที่มีขนาดเล็ก และมีความเสี่ยงในการสูญพันธ์ขึ้นไปด้วย เราจึงพยายามรณรงค์ให้อุปกรณ์ชนิดนี้ถูกเลิกใช้จากอุตสาหกรรมประมง” นางสาวอัญชลีกล่าวเพิ่มเติม

ลูกเรือกรีนพีซดึงอุปกรณ์ล่อปลาที่เป็นอุปกรณ์ทำลายล้างระบบนิเวศน์และระบบห่วงโซ่อาหารในทะเล เพื่อรื้อถอน ในมหาสมุทรอินเดีย วันที่ 17 เมษายน 2559 (ภาพโดย กรีนพีซ)

“ตอนนี้ไทยยูเนี่ยนพยายามที่จะมีนโยบาย เรื่องการใช้แรงงานในห่วงโซ่อุปทานของเขา ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของกรีนพีซเมื่อปีที่แล้ว จริงๆ ไทยยูเนี่ยน ก็ดูเหมือนจะมีการตอบรับในเรื่องนี้ดี แต่ว่ารายละเอียดไทยยูเนี่ยนยังไม่ได้มีการจัดการอย่างเป็นรูปธรรม และก็ยังไม่มีนโยบายที่เราจะสามารถเห็นผล คือ ไม่มีทั้งกรอบเวลา และแผนงานที่ชัดเจน แสดงให้สังคมเห็นว่ามันจะมีการจัดการเรื่องแรงงานในทะเลได้” นางสาวอัญชลีเพิ่มเติม

สำหรับการปฎิบัติการรื้อถอนอุปกรณ์หาปลาของกรีนพีซครั้งนี้ กลุ่มยังไม่สามารถเปิดเผยว่า เรือประมงหรือบริษัทที่เป็นเจ้าของอุปกรณ์ดังกล่าวแท้จริงคือบริษัทอะไร และมีสัญชาติใด แต่หลังจากเสร็จสิ้นปฎิบัติการ กรีนพีซ จะได้สรุปผลการรื้อถอนและการปฎิบัติการทั้งหมดเปิดเผยต่อสาธารณชนต่อไป

ล่าสุดวันนี้ที่ 21 เม.ย 2559 เมื่อเบนาร์นิวส์สอบถามไปยังกลุ่มไทยยูเนี่ยน ๆ ไม่ได้แก้ต่างข้อกล่าวหาโดยตรง แต่กล่าวว่า กรีนพีซไม่ได้แจ้งให้ทางกลุ่มทราบก่อนว่าจะเข้าไปตรวจสอบการประมง ในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งทางกลุ่มจะสามารถให้ข้อมูล เกี่ยวกับวงจรซัพพลายอาหารทะเลได้อย่างถูกต้องเที่ยงตรง แม้ว่า ปกติทางกลุ่มจะมีการพูดคุยกับกรีนพีซ ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกก็ตาม

นอกจากนั้น ทางกลุ่มไทยยูเนี่ยน มียุทธศาสตร์การทำการประมงที่ยั่งยืนที่ตั้งชื่อว่า Sea Change ที่มีแผนงานที่ออกแบบมาอย่างละเอียด เพื่อให้ทรัพยากรในท้องทะเลคงมีอยู่อย่างยั่งยืนจนถึงคนรุ่นถัดไป และในด้านตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย ไทยยูเนี่ยนจัดซื้อวัตถุดิบจาก 11 กองเรือ ที่ดำเนินงานโดย 6 บริษัท เป็นเรือของประเทศฝรั่งเศส สเปน หรือใช้ธงสัญชาติมอริเชียส หรือเซเชลส์

“ขณะที่บริษัทได้เตรียมข้อมูลทั้งหมดไว้แล้ว แต่การจัดเตรียมยังไม่เสร็จสิ้น จึงไม่พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว” เจ้าหน้าที่ของไทยยูเนี่ยนท่านหนึ่ง กล่าวทางโทรศัพท์แก่เบนาร์นิวส์

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด ถือเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของประเทศไทย และเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลชั้นนำทั่วโลก โดยเป็นเจ้าของบริษัทผลิตอาหารขนาดใหญ่ในหลายประเทศเช่น John West (สหราชอาณาจักร, เนเธอร์แลนด์), Chicken of the Sea (สหรัฐอเมริกา), Petit Navire (ฝรั่งเศส), Mareblu (อิตาลี) และ Sealect (ไทย) ไทยยูเนี่ยน จึงถือเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารประเภทปลาทูน่ารายใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ บริษัทไทยยูเนี่ยน ยังเคยถูกกลุ่มนักอนุรักษ์ นักสิทธิมนุษยชน และเอกชนบางราย โจมตีในหลายกรณี เช่น ถูกกล่าวหาว่า เรือประมงในเครือของไทยยูเนี่ยน บังคับใช้แรงงานต่างชาติ การใช้แรงงานเด็ก และการใช้อุปกรณ์ประมงแบบไม่ยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งแม้ว่า ไทยยูเนี่ยนเองจะพยายามออกมายืนยันว่า จะพัฒนาระบบประมงของบริษัทให้มีความยั่งยืน

ในแถลงการณ์ของกรีนพีซที่ส่งให้สื่อมวลชนในวันนี้นั้น ได้อ้างคำกล่าวของ นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยนเองก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า “เป็นเรื่องยากที่จะรับรองว่าห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทยนั้น จะสะอาดเต็มร้อย”

* เพิ่มข้อมูลความคิดเห็นจาก บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง