กทม.ระบุ ผู้ป่วยจากมลพิษใน ม.ค. ร่วมหมื่นคนแล้ว เพิ่มจากเดือนก่อน 54%
2019.01.25
กรุงเทพฯ

ในวันศุกร์นี้ องค์กรกรีนพีซ ได้เรียกร้องทางการไทยให้ปรับระดับค่าปริมาณฝุ่น PM2.5 ที่เป็นอันตรายให้มีมาตรฐานเทียบเท่าประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2562 เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน ในขณะที่นักวิชาการกล่าว ไทยครองอันดับหนึ่ง เสนอให้รัฐบาลจำกัดจำนวนรถยนต์ที่วิ่งเข้าเมืองให้น้อยลงเป็นมาตรการระยะสั้น หลังจากที่รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยคนกรุงเทพป่วย เพราะมลพิษนี้แล้วกว่าหมื่นราย
ในวันนี้ นพ.พิชญา นาควัชระ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ได้รับรายงานจากโรงพยาบาลในสังกัดของกรุงเทพมหานครว่า มีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมที่ผ่านมานับหมื่นคน
“จากสถิติผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจของโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ทั้ง 9 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1-22 มกราคม ที่ผ่านมา พบตัวเลขของผู้ป่วยจำนวน 9,980 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมของปี 2561 ที่มีจำนวน 6,445 คนถึง 54.85% ซึ่งเชื่อว่าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นในโรงพยาบาลทุกแห่ง” นพ.พิชญา กล่าว
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย องค์กรกรีนพีช สำนักงานเอเชียประจำตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในประเทศไทยว่าอยู่ในขั้นวิกฤตและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลไทย ร่วมกันปรับระดับมาตรฐาน PM2.5 ใหม่ ให้มีความเข้มงวดขึ้นเท่าเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศสิงคโปร์ หรือ มาเลเซีย เป็น 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2562 คณะกรรมการควบคุมมลพิษ (กก.คพ.) ได้หารือแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ใน กทม.และปริมณฑล ได้สรุปแนวทางในขั้นปฏิบัติเป็น 4 ระดับ ตามความรุนแรงของสถานการณ์ โดยกำหนดระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพที่ 50 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร แต่ไม่จัดว่าเข้าขั้นวิกฤต และระบุว่า หากค่า PM2.5 สูงถึง 100 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจกำหนดมาตรการแก้ไข
“เป็นเพราะไม่ยอมรับวิกฤต รัฐบาลจึงล้มเหลวในการแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส” นายธารา ระบุ
“กรีนพีซ เรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในภาครัฐ ดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการยกร่างมาตรฐานในบรรยากาศของ PM2.5 ขึ้นใหม่ในการเอาไปคำนวณในดัชนีคุณภาพอากาศ โดยกำหนดค่าเฉลี่ย PM2.5 ใน 24 ชั่วโมงเป็น 35 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร จากปัจจุบันที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดไว้ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2562” นายธารา กล่าว
นายธารา กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดค่า PM2.5 ใน 24 ชั่วโมง ไว้ที่ 20 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่เป็นไปได้ยากที่จะกำหนดตามมาตรฐานนั้น ในขณะที่หลายประเทศยังทำไม่ได้ แต่อย่างน้อยประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ควรมีความเข้มงวดในการควบคุมมลพิษทางอากาศให้ได้เท่าเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น สิงคโปร์
นายธารา ได้แสดงผลสำรวจดาวเทียม ชี้ปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กในประเทศไทยอยู่ในขั้นวิกฤต สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน สาเหตุเป็นเพราะฝุ่นละอองที่ก่อปัญหาส่วนใหญ่ถูกกระแสลมพัดมาจากประเทศกัมพูชา
ด้าน ดร.อริศรา เจริญปัญญาเนตร จากศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงรายงานการวิเคราะห์เบื้องต้นมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนจากแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม ความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย เมียนม่า สปป.ลาว และกัมพูชา ในปี 2559-2561 โดยใช้มาตรฐานค่า PM2.5 ขององค์การอนามัยโลก พบว่า ในปี 2559 สปป.ลาว มีค่าความเข้มข้นฝุ่นละอองสูงที่สุด คิดเป็น 95% ของพื้นที่ ขณะที่ในปี 60-61 พบว่า ประเทศไทยมีสถานการณ์ฝุ่นละอองที่รุนแรงมากที่สุด
“ในปี 2561 พบว่าประเทศไทยมีสถานการณ์รุนแรงขึ้นจากปี 2560 และยังคงครองอันดับหนึ่ง สถานการณ์ฝุ่นซึ่งครอบคลุม 60% ของพื้นที่ รองลงมาเป็นประเทศกัมพูชา สปป.ลาว และ พม่า ตามลำดับ” ดร.อริศรา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ศจ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ให้ความเห็นแก่เบนาร์นิวส์ว่า ปัญหาหลัก คือ มลพิษจากการจราจร และโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐบาลควรที่จะต้องกำหนดมาตรฐานปริมาณโลหะหนักเข้าไว้ด้วยกัน นอกเหนือจากตะกั่วที่มีการกำหนดค่ามาตรฐานไว้ก่อนแล้ว
“เราพบ แคดเมียม ทังสเตน และสารหนู แต่สารหนูอยู่ในระดับพอรับได้ โลหะหนักส่วนใหญ่ จากการศึกษา โลหะหนักส่วนใหญ่มาจากไอเสียยานพาหนะ ในตัวเชื้อเพลิงมันมีโลหะหนักอยู่แล้ว มันมีโลหะที่เคลือบจานเบรค ผ้าเบรค โลหะที่ปนเปื้อนในยางรถยนต์ ยางเสริมใยเหล็ก มีโลหะอยู่แล้ว พอเสียดสีกับท้องถนน นานๆ ก็ถูกปล่อยออกมา” ศจ.ดร.ศิวัช กล่าว
“การแก้ปัญหาระยะสั้น ที่ควรจะต้องทำ ลดจำนวนรถยนต์ลง ควบคุมจำนวนรถยนต์ ไม่ให้เข้าไปส่วนกลางเมือง การควบคุมรถยนต์เก่า พยายามไม่ให้ใช้รถที่อายุเกิน 10 ปี มีมาตรการภาษีให้แพงสำหรับรถเก่า เพื่อให้คนซื้อรถใหม่มาใช้ มาตรการระยะยาว สนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า สร้างนโยบายที่จูงใจคนซื้อ แต่ประชาชนที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับรถยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิลต้องปรับตัว รัฐต้องช่วยประชาชนคิด” ศจ.ดร.ศิวัช กล่าวเพิ่มเติม
นับตั้งแต่มีรายงานปัญหาที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 เมื่อปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ในช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ภาครัฐ รวมถึงกองทัพ ต่างระดมกำลังในการทำกิจกรรมเพื่อบรรเทาสภาพมลพิษทางอากาศอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำฝนหลวง การโปรยละอองน้ำจากทางอากาศ การฉีดน้ำ ทำความสะอาดถนนและพื้นผิวจราจร การตรวจสอบเครื่องจักร รถบรรทุก รถโดยสารสาธารณะ การตรวจจับยานพาหนะที่เป็นต้นตอการก่อมลพิษ แต่ค่ามลพิษทางอากาศกลับไม่ได้ลดลง ซึ่งนายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย องค์กรกรีนพีช ระบุว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นเพียงกิจกรรมทางจิตวิทยาเพื่อบรรเทาความรู้สึกของประชาชน แต่ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
เมื่อเวลา 15:00 น. ของวันศุกร์นี้ คณะกรรมการควบคุมมลพิษ รายงานว่า จากการตรวจสอบคุณภาพอากาศใน 43 จุด ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีระดับค่า PM2.5 ที่ 39 ถึง 69 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเมื่อวาน 7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร