องค์กรสิทธิฯ เรียกร้องไทย ตั้งกองทุนชดเชยผู้รอดชีวิตชาวโรฮิงญา
2019.10.30
กรุงเทพฯ

ในวันพุธนี้ องค์กรสิทธิมนุษยชน ฟอร์ติฟายไรท์ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้รอดชีวิต ชาวโรฮิงญา ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในประเทศไทย ระหว่างปี 2555-2558 เพราะว่าผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้รับการชดเชยอย่างน้อยจนกว่าคดีจะสิ้นสุดในชั้นศาลฎีกา
ทั้งนี้ ในวันพฤหัสบดีนี้ ศาลอาญารัชดา จะอ่านพิพากษาอุทธรณ์ในคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ซึ่งมีพลโท มนัส คงแป้น และพวก เป็นจำเลย
“รัฐบาลไทยควรออกกฎหมายกำหนดให้มีกองทุนให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับชาวโรฮิงญา และบุคคลอื่นอีกหลายหมื่นคน ซึ่งตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ผ่านประเทศไทยระหว่างปี 2555-2558 โดยในเบื้องต้น รายได้จากกองทุนควรมาจากทรัพย์สินที่ยึดมาได้ระหว่างการสอบสวน และการฟ้องคดีต่อผู้ค้ามนุษย์และบุคคลอื่น ๆ ที่ศาลตัดสินว่า มีความผิดในข้อหาที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ในประเทศไทย” แถลงการณ์ ของฟอร์ติฟายไรท์ ระบุ
ฟอร์ติฟายไรท์ ระบุว่า คดีของ พลโท มนัส คงแป้น และพวก ถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการพิพากษาคดีการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญา ในประเทศไทย โดยคดีนี้ มีข้อมูลพบว่า พลโทมนัส ได้รับเงิน 30 ล้าน จากการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์
“ศาลชั้นต้นได้วางบรรทัดฐานที่สำคัญให้กับไทยและภูมิภาค โดยพิพากษาว่า ผู้ค้ามนุษย์จำนวนมาก มีความผิดจากการปฏิบัติมิชอบอย่างร้ายแรงต่อผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา คำพิพากษาก่อนหน้านี้ สะท้อนให้เห็นเจตจำนงที่น่ายินดีในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ศาลและรัฐบาลมีโอกาสจะเน้นย้ำและส่งสัญญาณว่า การค้ามนุษย์จะก่อให้เกิดผลที่เลวร้ายต่อผู้กระทำ ในขณะที่เหยื่อของการค้ามนุษย์จะได้รับการคุ้มครองและการชดเชยเยียวยา” เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ติฟายไรท์ กล่าว
ขณะที่ นางสาวพุทธณี กางกั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ ระบุว่า การชดเชยที่ผู้เสียหายได้รับยังถือว่าน้อย ดังนั้น หากมีกองทุนจะสามารถช่วยเหลือผู้เสียหายได้อย่างเหมาะสม
“เรื่องการจ่ายค่าเสียหายโดยการยึดทรัพย์จากจำเลย ยังไม่มีมาตรการที่เป็นไปได้จริง เพราะจำเลยได้ขอศาลให้ระงับไว้ก่อน เพราะคดียังไม่สิ้นสุดจนกว่าศาลฎีกาจะตัดสิน นอกจากนั้น ผู้เสียหายต้องไปเรียกร้องผ่านกองบังคับคดี เพราะคดีซึ่งแม้ว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ แต่ไม่สามารถดำเนินการแทนผู้เสียหายได้ ซึ่งหลายคนๆ ได้ออกจากประเทศไทยไปแล้ว” นางสาวพุทธณี กล่าว
“การเยียวยาของ พม. เป็นส่วนหนึ่งแต่ถือว่ายังเป็นส่วนน้อย ทั้งนี้ โจทก์ได้ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเพิ่ม ในกรณีที่ผู้เสียหายถูกควบคุมตัวระหว่างถูกลักลอบนำพา จากวันละ 150 บาท เป็น 300 บาท อิงตามค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ เราอยากให้มีการตั้งกองทุน เพื่อให้สามารถชดเชยให้ผู้เสียหาย เหมือนกรณีของศาลแรงงาน นอกจากนี้ ศาลสั่งให้ชดเชยต่อกับเฉพาะผู้ถูกละเมิดที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องคดี ในขณะที่ยังมีผู้ถูกละเมิดอีกมากมาย ที่ควรได้รับการเยียวยาด้วย” นางสาวพุทธณี กล่าวเพิ่มเติม และระบุว่า ปัจจุบัน มีชาวโรฮิงญา ที่ส่วนใหญ่หลบหนีมาใหม่ตกค้างอยู่ในประเทศไทยประมาณ 200 คน
ทั้งนี้ ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2560 ศาลอาญา แผนกคดีค้ามนุษย์ พิพากษาลงโทษจำคุก พลโท มนัส คงแป้น เป็นเวลา 27 ปี และจำเลยอื่น ๆ รวม 62 คน ให้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 94 ปี แต่เดิมคดีนี้มีจำเลยทั้งสิ้น 102 คน (เดิม 103 คน แต่เสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัวหนึ่งคน) โดยผู้ที่ถูกตัดสินลงโทษ ถูกเอาผิดฐานกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ 2556 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 การร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังบุคคล เพื่อให้ได้ค่าไถ่ การร่วมเอาคนลงเป็นทาส จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ อันตรายได้รับความสาหัสหรือถึงแก่ความตาย การร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การร่วมกันนำพาบุคคลต่างด้าวมาในราชอาณาจักร การร่วมกันซ่อนเร้นศพ การมีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น