ไทยยังถูกจำกัดสิทธิภายใต้การปกครองรัฐบาลทหาร

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.03.14
กรุงเทพฯ
TH-ngos-iccpr-1000 นายสุณัย ผาสุข นักวิจัย ฮิวแมนไรท์วอทช์ ประเทศไทย (คนที่สองจากขวามือ) ร่วมสัมมนากับนักสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ ในงาน “จากกรุงเทพถึงเจนีวา ส่งเสียงสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง” วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560
เบนาร์นิวส์

ในวันอังคาร (14 มีนาคม 2560) นี้ คณะผู้แทนรัฐบาลไทย ได้ตอบข้อซักถามของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Committee – UNHRC) ในเรื่องการปฏิบัติทางด้านสิทธิมนุษยชน การปกป้องสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองของประเทศไทยที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ยังมีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง โดยคณะผู้แทนรัฐบาลไทยโต้แย้งว่า ทางการไทยได้กระทำการอย่างถูกต้องเพียงพอแล้ว

คณะผู้แทนรัฐบาลไทยที่ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ทหาร ตำรวจสากลประจำประเทศไทย สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น ได้ทะยอยชี้แจงข้อกล่าวหา ในวันที่สองของการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน และข้อผูกมัดภายใต้กลไกกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) ซึ่งรัฐไทยเป็นหนึ่งใน 169 ชาติ ที่เป็นสมาชิกหรือภาคีของกติกาสากลฉบับนี้

ทั้งนี้ ยูเอ็นเอชอาร์ซีได้ตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องสำคัญหลายข้อ ได้แก่ การบังคับใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) การดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เสรีภาพในการแสดงออก การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการค้ามนุษย์ เป็นต้น

ในเรื่องมาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นฯ) นั้น เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่สามารถจะฟ้องร้องผู้ละเมิดสิทธิสมาชิกราชวงศ์ได้เอง กฎหมายจึงให้อำนาจประชาชนเป็นผู้กระทำ

“สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่สามารถฟ้องร้องผู้กล่าวหาได้ กฎหมายจึงให้อำนาจบุคคลทั่วไปฟ้องร้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ และกฎหมายไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการลิดรอนสิทธิในการแสดงความคิดเห็น” นางกาญจนา ภัทรโชค รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กล่าวรายงานโต้แย้ง

ในเรื่องศาลทหาร ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยข้อมูลว่า ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. 2557 – 30 พ.ย. 2559 มีคดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารแล้ว 1,716 คดี คิดเป็นจำนวนผู้ต้องหาและจำเลยรวม 2,177 คน เป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี 416 คดี และคดีที่ศาลพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้ว 1,300 คดี

สามารถแบ่งเป็น คดีฝ่าฝืนคำสั่ง หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำนวน 44 คดี คดีมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ฯ) 86 คดี คดีมาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญา (ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องฯ) 9 คดี และคดีตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธ พ.ศ. 2490 (พ.ร.บ.อาวุธปืน) อีก 1,577 คดี

ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญอิสระ 18 คน จะนำเสนอข้อสรุปเชิงสังเกต (Concluding Observations) ในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม เพื่อให้รัฐไทยนำข้อเสนอเหล่านั้นไปปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศต่อไป

นักสิทธิเห็นแย้งจากรัฐ

ในขณะที่มีการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์นั้น ในกรุงเทพฯ นักสิทธิมนุษยชนไทยได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง “จากกรุงเทพถึงเจนีวา ส่งเสียงสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง” เพื่อเล่าถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยคู่ขนานไปด้วย โดยนักสิทธิต่างชี้ว่า ประเทศไทยมีปัญหาสิทธิมนุษยชนหลายเรื่องที่รัฐบาลต้องแก้ไข

นายสุณัย ผาสุข จากองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ชี้ว่า หลังการรัฐประหารยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยถึงจุดพลิกผัน เพราะมีการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ที่ไร้การตรวจสอบ คือ มาตรา 44 มาตรา 47 และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

“ความถดถอยของสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง มีจุดพลิกผันที่สำคัญ คือ การทำรัฐประหารของ คสช. นับแต่จุดนั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยอยู่ภายใต้กรอบการปกครองที่สร้างเงื่อนไขพิเศษ นำไปสู่การใช้อำนาจแบบรวบยอด มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ตรวจสอบถ่วงดุลไม่ได้ และเมื่อใช้ไปแล้วไม่ต้องรับผิดทางใดๆ แม้แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงก็ตาม คืออำนาจภายใต้มาตรา 44 47 และ 48 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว” นายสุณัยกล่าว

น.ส.เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชี้ว่า การใช้อำนาจตามสามมาตรานั้น และการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนเป็นการทำลายระบบยุติธรรมไทย

“ทั้ง (มาตรา) 44 47 48 เป็นกฎหมายที่ทำลายระบบนิติรัฐของประเทศไทยจากประสบการณ์ของศูนย์ทนายความฯ ถ้าพูดอย่างชัดเจน ศาลทหารไม่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง คือไม่ใช่ศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระ เพราะศาลทหารอยู่กรมพระธรรมนูญ ซึ่งสังกัดกระทรวงกลาโหม ตุลาการทุกท่านก็เป็นนายทหาร พลเรือนที่พิจารณาในศาลทหาร จะไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ฎีกา ขัดกฎหมายระหว่างประเทศไอซีซีพีอาร์แน่นอน” น.ส.เยาวลักษณ์กล่าว

น.ส.จินดารัตน์ เพิ่มลาภวิรุฬห์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ในการดำเนินโครงการที่มีผลกระทบกับชุมชน ประชาชนในพื้นที่กลับไม่ได้รับสิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสนอแนวทางการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง หรือแม้กระทั่งคัดค้านโครงการที่ชุมชนเห็นว่าไม่เหมาะสม และมีหลายครั้งที่นักเคลื่อนไหวถูกข่มขู่ด้วยคำพูด

“สิ่งที่มันรุนแรงก็คือว่า ตอนนี้โครงการในภาคใต้ทั้งหมด มันเริ่มจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาในรัฐบาลชุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นปากบารา เขื่อนท่าแซะ โรงไฟฟ้าที่เทพา ก็มีการใช้กำลังทหารในการควบคุมเวทีรับฟังความคิดเห็น” น.ส.จินดารัตน์กล่าว

“เวทีรับฟังความคิดเห็นเขาให้กำลังทหารมาคุมเวที 500-700 นาย ไม่ให้ก่อความรำคาญ ก่อความวุ่นวาย ประเด็นคือ ในเวทีมีการจัดตั้งคนสนับสนุนโครงการเข้ามา เกณฑ์พนักงานของการไฟฟ้ามาอยู่ในนั้น พื้นที่ตรงนั้นไม่มีสำหรับคนคัดค้านเลย ปิดทุกทางที่กระบี่จะเสนอความคิดเห็นออกไป เราโดนละเมิดสิทธิการแสดงความคิดเห็นของชุมชน” น.ส.จินดารัตน์เพิ่มเติม

น.ส.จินดารัตน์ระบุว่า หากเป็นไปได้ต้องการให้รัฐบาลทหารใช้ ม.44 ของรัฐธรรมนูญ แก้ไขปัญหาการรับฟังความคิดเห็นของโครงการพัฒนาต่างๆ ที่มีผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่

ในวันเดียวกันนี้ ทางด้านองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ประเทศไทยเร่งลงสัตยาบรรณในอนุสัญญาการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พร้อมทั้งเร่งผ่านร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคล โดยเร็ว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง