ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนฯ เรียกร้องรัฐบาลไทยสืบสวนกรณีการบังคับสูญหายในไทยอย่างจริงจัง

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.01.06
TH-somchai-620 นางอังคณา นีละไพจิตร ให้สัมภาษณ์นักข่าวในวันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีทนายความสมชายถูกลักพาตัว เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558
ทีมข่าวเบนาร์นิวส์

ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยสืบสวนกรณีการสูญหายของบุคคล 82 ราย อย่างเด็ดขาดและต่อเนื่อง

นับตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา คณะทำงานติดตามการถูกบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ เก็บสถิติการสูญหายไว้ได้ 82 ราย

หนึ่งในคดีการถูกบังคับสูญหายที่เป็นที่กล่าวขวัญถึงกันมาก คือ คดีทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ได้ช่วยเหลือผู้ต้องสงสัยในคดีปล้นปืน จากกองพันพัฒนาที่ 4 ในจังหวัดปัตตานี เมื่อ ปี 2547 ในการฟ้องร้องตำรวจที่คุมขังผู้ต้องสงสัย และถูกกล่าวหาว่าขู่เข็ญทรมานผู้ต้องสงสัยให้รับสารภาพ ในขณะถูกคุมขัง ในกรุงเทพ ทนายสมชายถูกชายห้าคนลักพาตัวไปจากจุดใกล้กับร้านแม่ลาปลาเผา บริเวณซอยรามคำแหง 69 ในคืนวันที่ 12 มีนาคม 2547 และตำรวจหัวหมากได้ทำคดีฟ้องร้องผู้ต้องสงสัยที่เป็นตำรวจจำนวน 5 นาย

เมื่อคดีการลักพาตัวทนายสมชาย ถึงชั้นฎีกา ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องจำเลยทั้งห้าราย ในวันที่ 29 ธันวาคม 2558 หลังจากการดำเนินคดีมาเป็นเวลาเกือบ 12 ปี

“ครอบครัวของผู้สูญหาย มีสิทธิที่จะได้รับทราบความจริงถึงการหายตัวไปของญาติของตน รวมทั้งความคืบหน้า และผลการสืบสวนสอบสวน” นายซิด ราด อัล ฮุซเซน ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวในคำแถลงการณ์ในวันนี้

อนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหาย

ในปี 2549 ที่ประชุมสหประชาชาติสมัยสามัญได้ให้ความเห็นชอบต่ออนุสัญญาว่าด้วยการปกป้องบุคคลจากการถูกบังคับให้สูญหาย ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2553 โดยมีประเทศสมาชิก 51 ประเทศ ลงสัตยาบรรณเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประเทศไทย ได้ลงนามในอนุสัญญาเมื่อปี 2555 แต่ยังไม่ได้ลงสัตยาบรรณ

นายซิด ราด อัล ฮุซเซน ได้กล่าวเรียกร้องประเทศไทยให้ออกกฎหมายลงโทษการบังคับบุคคลให้สูญหาย ให้สอดคล้องกับมาตรฐานนานาชาติ

ในคดีทนายสมชาย เนื่องจากการไม่มีกฎหมายดังกล่าว การฟ้องร้องคดีจึงเป็นการฟ้องร้องในข้อหาปล้นทรัพย์และข่มขืนใจ โดยใช้กำลังประทุษร้ายต่อบุคลอื่น เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2547

ศาลชั้นต้นได้ลงโทษจำคุกจำเลยที่หนึ่งเป็นเวลาสามปี แต่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และในภายหลังญาติได้แจ้งความกับตำรวจว่า พ.ต.ต. เงิน ทองสุก ถูกกระแสน้ำพัดหายไป ไม่มีใครพบศพ ต่อมาในวันที่ 11 มีนาคม 2554 ศาลอุทธรณ์จำเลยทั้งห้าคน

ข้าหลวงใหญ่ ซิด ราด อัล ฮุซเซน กล่าวว่า เขามีความรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่ระบบยุติธรรมไม่ได้นำข้อเท็จจริงที่ว่าศาลแพ่งได้ตัดสินว่า ทนายสมชาย เป็นบุคคลสูญหายจริง รวมทั้งไม่ได้มีการนำพยานหลักฐานที่สำคัญมาพิจารณาด้วย

“บทบาทของกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่มีเพียงการตีความกฎหมาย หากแต่ต้องปกป้องสิทธิของประชาชนด้วย ศาลฎีกาไทยพลาดโอกาสในการปกป้องสิทธิของเหยื่อที่ควรจะเข้าถึงความจริง ความยุติธรรม และการเยียวยาการถูกบังคับให้สูญหายโดยไม่สมัครใจ” นายซิด ราด อัล ฮุซเซน กล่าว

นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาทนายสมชาย กล่าวว่า ตนเองได้ร้องเรียนไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้รื้อคดีทนายสมชายใหม่ เมื่อเดือนมีนาคมปี 2558 ที่ผ่านมา แต่ตนเองยังจะต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป

“เจ้าหน้าที่ดีเอสไอบอกว่า จะติดต่อพยาน และเมื่อได้หลักฐานเพียงพอ ก็จะแจ้งให้เข้าพบ” นางอังคณา ซึ่งอยู่ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในวันนี้

นายซิด ราด อัล ฮุซเซน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในขณะที่ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ยังมีความน่ากังวลถึงการบังคับให้สูญหาย ที่มีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเกี่ยวข้องอยู่ ในกรณีล่าสุด คือการสูญหายของ นายพอละจี รักษ์จงเจริญ หรือ บิลลี่ นักอนุรักษ์เชื้อสายกะเหรี่ยงในพื้นใกล้เคียงกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในจังหวัดเพชรบุรี เมื่อเดือนเมษายน ปี 2557

“รัฐบาลไทยมีหน้าที่รับผิดชอบ ในการช่วยเหลือในการค้นหาตัวบุคคลอันเป็นที่รัก ต้องอำนวยความยุติธรรมในการฟ้องร้องคดี การลงโทษผู้กระทำผิด และต้องกำจัดการบังคับบุคคลให้สูญหาย อันเป็นการกระทำที่ควรถูกประณาม” นายซิด ราด อัล ฮุซเซน กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง