องค์กรสิทธิมนุษยชน รายงานว่าทางการไทยทรมานผู้ต้องสงสัยสามจังหวัดชายแดนใต้

นาซือเราะ
2016.02.10
TH-torture-report-1000 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และกลุ่มด้วยใจ ได้จัดการเผยแพร่ “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้” ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 10 ก.พ. 2559
เบนาร์นิวส์

กลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชน ได้เปิดเผยรายงานที่มีเนื้อหาว่า นับตั้งแต่ ปี 2547 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยได้ใช้วีธีการทรมานผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนในการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้ง ได้เรียกร้องให้ทางรัฐบาลตั้งคณะกรรมการเพื่อทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการร่วมกันแก้ไขปัญหา

“เราไม่ได้กล่าวหาเจ้าหน้าที่ทั้งหมด เราเชื่อว่าเจ้าหน้าที่บางส่วนยังใช้วิธีนี้อยู่ แต่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำ” นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ภายหลังการเปิดตัวรายงานและการเสวนาเรื่องนี้ ในวันนี้

“เราอยากจะร่วมมือในการแก้ไขปัญหา อยากให้ทางรัฐบาลตั้งคณะกรรมการที่เราไว้เนื้อเชื่อใจได้เพื่อการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาด้วยกัน” น.ส. พรเพ็ญกล่าวเพิ่มเติม

ในวันนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และกลุ่มด้วยใจ ได้จัดให้มีการเสวนาและเปิดเผย “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้” ต่อสาธารณชนวันนี้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

“เราเคยได้เข้าไปรวบรวมข้อมูล และเราเคยส่งรายงานเป็นภาษาอังกฤษอย่างเดียวไปทางคณะทำงานต่อต้านการทรมาน องค์การสหประชาชาติ เมื่อปี 2557 เพื่อให้กดดันรัฐบาลไทย แต่ไม่มีผล เราคิดว่าถึงเวลาที่จะเปิดเผยรายงานต่อสังคมเป็นภาษาไทย จึงได้มีการเปิดตัวรายงานในวันนี้” น.ส. พรเพ็ญกล่าว

“รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้” มีความยาวรวม 120 หน้า ซึ่งได้ให้รายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยอ้างอิงตามคำสัมภาษณ์ของผู้ต้องสงสัยที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมตัวเพื่อการสอบสวน ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

การทรมานที่ถูกเผยแพร่ในรายงาน

ทั้งนี้ ทางกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนได้ผู้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้น ในห้วงปี 2547 ถึง 2558 ซึ่งได้มีผู้ร้องเรียนต่อทางกลุ่มฯ และได้มีการตรวจสอบเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้ถูกกระทำทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (เรียกรวมกันว่า “ผู้ถูกทรมาน”) โดยได้นำความให้การของผู้ถูกทรมาน 54 ราย มาเปิดเผยในรายงานฉบับดังกล่าว

รายงานมีเนื้อหาว่า แม้ว่ารัฐบาลไทยจะสามารถใช้กฎหมายพิเศษในการจับกุมคุมขังผู้ต้องสงสัยเพื่อการสอบสวนสืบสวนโดยยังไม่ต้องตั้งข้อหา แต่ทางกลุ่มได้แย้งว่า ไม่มีกฎหมายใด ทั้งกฎหมายในประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กระทำการทรมาน

รายงานได้กล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่เป็นผู้ถูกร้องเรียนโดยตรง ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และอาสาสมัคร โดยเกิดการละเมิดสิทธิ์ในระหว่างการจับกุม ระหว่างการเดินทางนำตัวไปคุมขัง และระหว่างการสอบสวน ทั้งนี้ กฎอัยการศึกให้อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในค่ายทหารได้ 7 วัน พรก. ฉุกเฉิน ให้อำนาจควบคุมตัวในสถานที่พิเศษได้อีก 7 วัน จากนั้น หากขออำนาจศาลจะควบคุมตัวได้ไม่เกิน 30 วัน โดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหาในคดีอาญาแต่อย่างใด

“แต่สิทธิของบุคคลเหล่านั้น กลับถูกจำกัดเสียยิ่งกว่าผู้ต้องหาในคดีอาญาเสียอีก กล่าวคือ ไม่สามารถพบญาติหรือทนายความได้ ไม่มีการประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราว ถูกจำกัดเวลาในการเยี่ยม บางกรณีมีการปกปิดหรือย้ายสถานที่ควบคุมตัว โดยเจ้าหน้าที่เพื่อไม่ให้ญาติทราบ” เนื้อความส่วนหนึ่งในรายงานกล่าว

“บุคคลที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ จะต้องเข้าสู่กรรมวิธีในการซักถามข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระบวนการซักถามดังกล่าว เป็นการแสวงหาข้อมูลเอาจากตัวผู้ต้องสงสัยเองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบหรือกลุ่มก่อความไม่สงบหรือไม่ อันเป็นวิธีการรวบรวมพยานหลักฐานที่นอกเหนือไปจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”

รายงานฉบับนี้ ได้กล่าวว่า การทรมานทำอย่างเป็นระบบ หมายถึงการทำเป็บประจำ ทำอย่างแพร่หลาย ทำอย่างตั้งใจ เพื่อให้ได้มาซึ่งการรับสารภาพของผู้ต้องสงสัย มีการทำมาตั้งแต่ ปี 2547 ในสถานที่เดิม แม้มีการร้องเรียนจากฝ่ายประชาชน ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

การทรมาน เกิดขึ้นกับผู้มีเชื้อสายมลายูและนับถือศาสนาทั้งหมด มีอายุอยู่ในอายุ 19-28 ปี 21 คน ช่วงอายุ 29-38 ปี 28 คน และช่วงอายุ 39-48 ปี 5 คน เป็นผู้ต้องสงสัยในพื้นที่จังหวัด ปัตตานี ยาะลา และนราธิวาส

ส่วนรูปแบบการทรมานมีตั้งแต่ หนึ่ง การทรมานทางจิตใจ เช่น การขู่แบล็คเมล์ว่าจะทำร้ายคนที่ใกล้ชิด การข่มขู่ให้หวาดกลัว การรบกวนการนอนหลับ การขังเดี่ยว เป็นต้น สอง การทรมานทางร่างกาย เช่น การทุบตีและการทำร้ายร่างกาย การใช้น้ำร้อน-เย็นหยดส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย (Chinese water torture) การทำให้สำลัก การบีบคอ การทำให้จมน้ำ (drowning) การจุ่มน้ำ (water boarding) การใช้ไฟฟ้าช็อต การล่วงละเมิดทางเพศ (sexual assault ) เป็นต้น สาม การปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม เช่น การให้ดื่มน้ำสกปรก ดีดหู การให้ร้องเหมือนสัตว์ เป็นต้น

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้เปิดเผยข้อมูลในก่อนหน้านี้ว่า นับตั้งแต่ปี  2550 ถึง ล่าสุด 2558  มีผู้เสียชีวิตที่อยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รวม จำนวน 5 ราย รายล่าสุด คือ นายอับดุลลายิ ดอเลาะ อายุ 42 ปี เสียชีวิตในตอนก่อนรุ่งเช้าของวันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม 2558 ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี

อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ นายแพทย์กิตติศักดิ์ ศรีพงษ์ นิติแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ได้แถลงข่าวผลการพิสูจน์หาสาเหตุการตายเบื้องต้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ว่า ยังไม่สามารถระบุได้เนื่องจากญาติของผู้ตายไม่อนุญาตให้ผ่าศพ แต่ไม่ปรากฏร่องรอยการทำร้ายร่างกาย

คำชี้แจงจากทางภาครัฐ

ในวันนี้ ทางกองอำนวยการความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า โดย พ.อ.ยุทธนาม เพชรม่วง รองโฆษกของหน่วย ได้กล่าวปฏิเสธรายงานโดยสิ้นเชิง

“ขอยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีการทรมานผู้ต้องขังที่นำมาควบคุม ทั้งหมดเจ้าหน้าที่ได้ทำตามกฏหมายทุกประการ” พ.อ. ยุทธนามกล่าว

ด้าน นายสมชาย หอมลออ เลขาธิการ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวในเอกสารเผยแพร่สำหรับสื่อมวลชนว่า ต้องการเรียกร้องให้หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับการจับกุม ควบคุมตัว สืบสวนสอบสวนผู้ต้องสงสัย ยุติการทรมานในทันที  และรัฐบาลต้องลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิด ให้ผู้เสียหายและครอบครัวได้รับความยุติธรรม มิเช่นนั้นเรื่องนี้จะส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้

นายกรัฐมนตรี: กำลังจัดเตรียมเทคโนโลยีและกล้องจับ

นับตั้งแต่การเกิดความพยายามในการแบ่งแยกดินแดนครั้งใหม่ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 เหตุรุนแรงที่ต่อเนื่องยาวนานเข้าสู่ปีที่ 12 ได้เกิดเหตุการยิง-การใช้ระเบิดขึ้นมากกว่า 15,000 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6,500 ราย ได้รับบาดเจ็บเกือบ 12,000 ราย

พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวกับหน่วยงานความมั่นคงในงานแถลงผลการปฏิบัติงานประจำปี 2558 ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) วันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า อยากให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องระมัดระวังภัยก่อการร้ายเป็นพิเศษ เพราะถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับความมั่นคง

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกว่า ในการไปร่วมประชุมนานาชาติ หรือเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้งพบว่า ตัวแทนประเทศหลายประเทศมีความเชื่อและเข้าใจว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้ก่อการร้าย และเป็นประเทศที่อันตรายที่สุดในกลุ่มอาเซียน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วปัญหาการก่อการร้าย หรือความไม่สงบเกิดขึ้นแค่เฉพาะในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ทั่วประเทศ

ดังนั้นจะกล่าวแบบเหมารวมไม่ได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการก่อการร้าย ด้วยเหตุนี้เอง จึงอยากขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวต่างชาติให้ถูกต้องด้วยว่า ประเทศไทยมีความสงบและปลอดภัย

“รัฐบาลกำลังจัดเตรียมเทคโนโลยีและกล้องจับใบหน้าให้พอเพียงเพื่อรองรับการ เข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” พลเอกประยุทธ์กล่าวแก่ผู้ร่วมประชุม

“อยากให้ระวังพวกสุดโต่งเพราะไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นคู่ขัดแย้ง และ ทำตัวเป็นประเทศมีทางเลือก มีอิสระแต่ต้องทำตามพันธสัญญาโลก"

"อย่าคิดว่าบ้านเราปลอดภัย เพราะไม่มีประเทศใดในโลกที่ปลอดภัย” พลเอกประยุทธ์กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง