ศาลอาญารับฟ้องคดี กปปส. ฐานกบฎและก่อการร้าย

นนทรัฐ​ไผ่เจริญ
2018.01.24
กรุงเทพฯ
180124-TH-suthep-1000.jpg นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ปราศรัยในการชุมนุม กปปส. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 7 มกราคม 2557
ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์

ศาลอาญา รับฟ้องคดีที่อัยการเป็นผู้ฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำ กปปส. รวม 9 คน ในความผิดฐานก่อการร้ายและกบฎ วันพุธนี้ ในขณะที่แกนนำอีก 34 คน ขอเลื่อนฟังคำสั่งอัยการ โดยนายสุเทพ และพวกได้รับอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวในวงเงินคนละ 6 แสนบาท

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กล่าวต่อสื่อมวลชน หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวว่า ยืนยันที่จะต่อสู้คดีในชั้นศาล ไม่คิดหนี เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทย อย่างไรก็ตาม นายสุเทพและพวก ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด

“สำนักงานอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องพวกผมทั้ง 9 คน ข้อหาก่อการร้าย เป็นกบฎ อั้งยี่ ซ่องโจร ผิด พ.ร.ก.การบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน บุกรุกสถานที่ราชการ ขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งก็เป็นข้อหาร้ายแรงทั้งสิ้น... ก่อนที่พวกเราจะออกมาต่อสู้ร่วมกับพี่น้องประชาชนนั้น เราได้ใคร่ครวญกันเป็นอย่างดีแล้วว่า เราอาจจะได้รับผลกระทบมากมาย อาจจะบาดเจ็บ อาจจะเสียชีวิต อาจจะถูกดำเนินคดี ซึ่งทั้งหมดไม่เป็นที่แปลกประหลาดใจสำหรับพวกเรา” นายสุเทพกล่าว

“เรายังนึกถึงทั้งเด็กทั้งผู้หญิง ทั้งคนชรา ที่มาร่วมต่อสู้กับเรา แล้วถูกฝ่ายตรงกันข้ามทำร้ายจนเสียชีวิต ปณิธานของพวกเราวันนี้คือว่า เราจะยืนหยัดต่อสู้ต่อไป เพื่ออนาคตของประเทศไทย เราจะยืนยันให้มีการปฎิรูปประเทศไทยต่อไป ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม ถ้าหากว่าเราพลาดพลั้งแพ้คดีไป จะต้องถูกลงโทษเราก็น้อมรับ” นายสุเทพกล่าวเพิ่มเติม

ในวันพุธนี้ พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องแกนนำกปปส. 9 คน ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย, นายชุมพล จุลใส, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์, นายอิสสระ สมชัย, นายวิทยา แก้วภราดัย, นายถาวร เสนเนียม, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เป็นจำเลยที่ 1-9 ตามลำดับ

ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ, ก่อการร้าย, ยุยงให้หยุดงาน, กระทำให้ปรากฏด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีการอื่นใดฯ ทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่ ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมืองฯ, บุกรุกในเวลากลางคืนฯ และร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้ง 9 ข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 116, 117, 135/1, 209, 210, 215, 216, 362, 364, 365, พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 ม.76, 152 ประกอบ ม.83 และ 91 ซึ่งศาลได้ประทับรับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.247/2561 และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 มีนาคมนี้ เวลา 09.00 น.

ด้านนายชาติพงษ์ จีระพันธุ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ เปิดเผยก่อนนำตัว จำเลยทั้ง 9 คน ส่งฟ้อง ต่อสื่อมวลชนว่า อัยการได้ทำการส่งฟ้อง 9 จำเลยที่มารายงานตัวไปก่อน และจะพิจารณาเหตุผลที่ ผู้ต้องหาอีก 34 รายที่เหลือ ซึ่งไม่ได้มาฟังคำสั่งอัยการตามนัดวันนี้ แจ้งต่ออัยการ ว่าเหตุผลสมควรต่อการเลื่อนฟังหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาเสร็จจะได้ทำการสั่งว่าจะฟ้องทันที หรือนัดมาฟังคำสั่งอีกครั้ง

“ฟ้องวันนี้ทั้งหมดจำนวน 43 ราย เราเตรียมที่จะฟ้องทุกคนที่มา ถ้าใครมารายงานตัวเราก็จะฟ้อง มาแล้ว 9 ท่าน ก็จะส่งฟ้องไปก่อน ขณะที่ 34 ท่าน มีการทยอยยื่นคำร้องขอเลื่อนมาแล้ว คำร้องขอเลื่อนเราก็ต้องพิจารณาว่า แต่ละท่านมีเหตุผลอันสมควรไหม ถ้ามีเหตุผลสมควร เราจะให้เลื่อนไป ถ้าไม่มีเหตุผลสมควรเราก็จะนัดหมายให้มาฟ้อง แจ้งให้มาฟ้องส่งตัวทันที” นายชาติพงษ์กล่าว

สำหรับแกนนำและแนวร่วมอีก 34 คนที่ยังไม่ได้มารายงานตัวในวันพุธนี้ คือ นางอัญชะลี ไพรีรัก, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, พระสุวิทย์ ทองประเสริฐ (พุทธะอิสระ), น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร, น.ส.รังสิมา รอดรัศมี, นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และนายกิตติศักดิ์ ปรกติ เป็นต้น

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ (เนคไทลาย) และแกนนำ กปปส. เดินทางมายังศาลอาญา ในวันที่ 24 มกราคม 2561 นี้ (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

ประวัติการต่อสู้ของ กปปส.

การชุมนุมของประชาชนในนาม กปปส. เริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย ได้ เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน (พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้เกิดการยกโทษให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในวิกฤตทางการเมืองทุกคน ซึ่งอาจหมายรวมถึงนายทักษิณ ชิณวัตร และนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีด้วย

ซึ่งประชาชนบางส่วน ไม่เห็นด้วยกับการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับนี้ จึงเริ่มชุมนุมครั้งแรกที่ สถานีรถไฟสามเสน และใช้การเป่านกหวีดเป็นสัญลักษณ์ โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการปราศรัย ต่อมา แม้สภาผู้แทนราษฎรจะถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ออกจากการพิจารณาแล้ว แต่การชุมนุมยังคงดำเนินต่อไป โดยเปลี่ยนประเด็นมาเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลงจากตำแหน่ง และเรียกร้องการปฎิรูปประเทศไทย เพื่อขับไล่ “ระบอบทักษิณ”

จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา เพื่อให้จัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ กปปส. ยังคงประท้วงขับไล่รัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และขัดขวางการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ทำให้มีบางหน่วยเลือกตั้งไม่สามารถจัดการเลือกตั้ง และประชาชนบางส่วนไม่สามารถเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

ระหว่างการชุมนุมของ กปปส. ผู้ร่วมชุมนุมได้เข้ายึดสถานที่สาธารณะ และสถานที่ราชการหลายแห่ง จนทำให้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับกลุ่มผู้คัดค้านการชุมนุม มีการใช้อาวุธสงคราม และระเบิด จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 25 คน และบาดเจ็บกว่าหนึ่งพันคน ตลอดระยะเวลาการชุมนุมราว 7 เดือน

ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเดือนมีนาคม 2557 ว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ และวินิจฉัยในเดือนพฤษภาคม 2557 ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรวม 10 คน พ้นจากตำแหน่ง ทำให้ฝ่ายรัฐบาลไม่มีผู้นำ ทหารจึงประกาศกฎอัยการศึก และประกาศยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ พล.อ.ประยุทธ์ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง