มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ยะลา ร้องเรียนการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเกินอำนาจ
2016.05.05
ยะลา

ในวันพฤหัสบดี (5 พ.ค. 2559) นี้ ทนายความประจำมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดยะลา ได้นำญาติของผู้ต้องสงสัยในการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้รวมหกราย ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมจากสำนักงานกฎหมายสิทธิมนุษยชนและเยียวยา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า ต่อกรณีที่สงสัยว่ามีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยไม่มีอำนาจ
นางสาวสุภาวดี สายวารี ทนายความประจำมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดยะลา กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากญาติและครอบครัวของชาวบ้านทั้งหมด 6 ราย ที่ยืนยันว่า ญาติของตนเป็นผู้บริสุทธิ์ และยังกักขังเกินระยะเวลา ทั้งๆที่ศาลยะลาไม่อนุญาตการขอฝากขัง
“ญาติบอกว่าวันเกิดเหตุ ผู้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่บ้านมีพยานบุคคลชัด บางคนสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียน ทำให้ทางครอบครัวมั่นใจ จึงขอให้เจ้าหน้าที่ปล่อยตัวและขอให้ กอ.รมน.4 ตรวจสอบข้อเท็จจริง” นางสาวสุภาวดี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นายกิติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมายสิทธิมนุษยชนและเยียวยา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ทั้งหมดถูกควบคุมตัวไปเมื่อวันที่ 26 เมษายน ศกนี้ จากการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้สนธิกำลังร่วมกันปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย ในพื้นที่อำเภอกรงปินัง และอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ตามหมายจับ ป.วิอาญา หนึ่งราย และตามอำนาจของ พรก.ฉุกเฉิน อีกห้าราย
นางสาวสุภาวดี กล่าวเพิ่มเติมว่าทางมูลนิธิได้ตรวจสอบข้อมูลที่ศาล พบว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวได้ยื่นคำร้อง ขอขยายระยะเวลาการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยทั้ง 6 ราย โดยอ้างว่า จากการซักถามเบื้องต้นของบุคคลทั้งหก ได้ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นสมาชิกผู้ก่อเหตุความรุนแรง แต่จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ศาลจังหวัดยะลาได้มีคำสั่งให้ยกคำร้อง แต่ทางเจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัวผู้เสียหายทั้ง 6 คน ไปควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
นางสาวสุภาวดี กล่าวอีกว่า ทางญาติได้กล่าวอ้างว่า ทหารได้นำตัวผู้ต้องสงสัย 2 ราย ไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ทั้งๆที่เจ้าตัวปฏิเสธข้อกล่าวหา
“ทางญาติของผู้ที่ถูกควบคุมตัวแจ้งมาว่า เจ้าหน้าที่ได้นำตัวผู้ถูกควบคุมตัว 2 คน ไปทำแผนสารภาพการก่อเหตุทั้งที่เขาให้การปฏิเสธ... ทาง กอ.รมน.4 บอกว่าจะตรวจสอบให้ ภายใน 2-3 วัน” นางสาวสุภาวดี กล่าว
สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 6 ราย คือ นายรอพา มะมูเลาะ นายอาลี เจะอูบง นายมะห์รง สาเมาะแม นายมะตอเฮ สิแล นายอับดุลรอหิ สนิมิง และ นายสบรี บูงอสายู หลังจากถูกจับกุมในตอนแรกนั้น ทั้งหมดถูกควบคุมตัวไว้ที่ศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทางมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม มีความห่วงกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในการควบคุมตัวผู้เสียหายทั้งหก เนื่องจากศาลไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาการควบคุมตัวตามหมายจับ พรก.ฉุกเฉินแล้ว ที่มีเพียง 7 วัน การควบคุมตัวจึงเป็นการบังคับใช้กฎหมายตามอำเภอใจ โดยไม่เคารพหลักการถ่วงดุลการใช้อำนาจตามกฎหมายของฝ่ายตุลาการ
นางสาวสุภาวดี กล่าวว่า ถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายของศาล ในการใช้กฎหมายเป็นแนวทางที่จะคุ้มครองสิทธิของประชาชน ทั้งยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 98/2557 เรื่องการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในข้อ 3 (3) ที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่ต้องใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน และให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ตระหนักในการปฏิบัติตามกฎหมายและเคารพหลักสิทธิมนุษยชน
ทางด้านนายกิติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการ สำนักงานกฎหมายสิทธิมนุษยชนและเยียวยา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผย ในเรื่องนี้ อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง
“ทาง กอ.รมน.4 ได้รับหนังสือเปิดผนึกจากครอบครัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวแล้ว ขณะนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และพร้อมที่จะดูแลให้ เพื่อความเป็นธรรมของพี่น้องประชาชน” นายกิติ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์