แม่นักเคลื่อนไหวเขมรวอนไทย อย่าส่งลูกชายกลับ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และแฮรี่ เพิร์ล
2023.07.10
กรุงเทพฯ และบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
แม่นักเคลื่อนไหวเขมรวอนไทย อย่าส่งลูกชายกลับ สมาชิกในครอบครัวและกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่สนับสนุน นายโทน สัมนาง สมาชิกพรรคแสงเทียน ฝ่ายค้านของกัมพูชา (ภาพถ่ายที่ไม่ระบุวันที่) เรียกร้องรัฐบาลไทยไม่ให้ส่งตัวเขากลับกัมพูชา
เฟซบุ๊กเพจ โทน สัมนาง

แม่ของนายโทน สัมนาง นักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชา ขอร้องรัฐบาลไทยอย่าส่งตัวลูกชายของตนเองกลับกัมพูชา เพราะอาจทำให้ถูกลงโทษ ขณะที่รัฐบาลของฮุน เซน กำลังดำเนินการกวาดล้างคู่แข่งทางการเมือง

นายโทน เป็นสมาชิกของพรรคแสงเทียน-พรรคฝ่ายค้านในกัมพูชา เขาถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบในเช้าวันศุกร์ ขณะเดินทางไปยังสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)

ทำให้เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) และเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (CRSP) รวมถึง มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) ได้มีแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายโทน

การคุมตัวนายโทนครั้งนี้ เป็นอีกครั้งที่นักเคลื่อนไหวจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเดินทางเข้ามาลี้ภัยในประเทศไทย ถูกควบคุมตัว เหตุการณ์ลักษณะคล้ายกันเคยเกิดขึ้นกับนักเคลื่อนไหว และอดีตนักการเมืองฝ่ายค้านของกัมพูชาในปี 2564

“ฉันกลัวเจ้าหน้าที่ไทยจะส่งเขาไปให้รัฐบาลกัมพูชาลงโทษ อยากให้องค์กรสิทธิมนุษยชนช่วยไม่ให้เขาถูกส่งตัวกลับ” นางเชียด ลัก มารดาของนายโทน กล่าวกับสำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย ภาคภาษาเขมร

นางเชียด เปิดเผยว่า นายโทน อายุ 34 ปี เคยใช้เฟซบุ๊กวิพากษ์-วิจารณ์ นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรี และการทำงานของรัฐบาลพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party - CPP) ในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนที่เขาจะต้องหนีออกจากประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 หลังจากที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐเดินทางไปที่บ้านพักของเขาเพื่อควบคุมตัวเขาโดยไม่มีหมายจับ

นายชาม ชิต ชาวกัมพูชาซึ่งเดินทางออกจากประเทศพร้อมกับ นายโทน กล่าวว่า นายโทนกำลังแสวงหาที่ลี้ภัยในประเทศไทย

“เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจับโทน แล้วพาเขาขึ้นมอเตอร์ไซค์ หลังจากที่ผมกับโทนออกจากบ้านใกล้ ๆ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” นายชาม กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย

น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งให้การช่วยเหลือนายโทน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ปัจจุบัน นายโทน ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ห้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.สวนพลู)

230710-th-kh-activist-deportation-concern-inside.jpeg

ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหารชุมนุมประท้วงสองวันก่อนรัฐประหาร ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในกรุงเทพฯ วันที่ 24 พฤษภาคม 2557 (ภาพจากไฟล์ เรดิโอฟรีเอเชีย)

“มีการยืนยันจาก ตม. ว่าจะไม่มีการส่งกลับไปในทันที ทนายกำลังดำเนินการเพื่อขอให้เขาเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองโดยยูเอ็นเอชซีอาร์ หรือรัฐบาลไทย” น.ส. พรเพ็ญ กล่าวผ่านโทรศัพท์

น.ส. พรเพ็ญ ระบุว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีข้อกำหนดที่ห้ามไม่ให้ส่งคนกลับประเทศ หากจะทำให้เขาต้องเผชิญกับอันตราย ซึ่งสอดคล้องกับหลักการกฎหมายระหว่างประเทศของสหประชาชาติ ที่ต้องไม่ผลักดันคนกลับไปเผชิญอันตราย

นายโทน จะต้องเผชิญกับความไม่ปลอดภัย หากถูกส่งกลับไปยังกัมพูชา เนื่องจาก นายฮุน เซน ซึ่งครองอำนาจในประเทศมากว่า 4 ทศวรรษ ได้พยายามปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ จับกุม และลงโทษผู้เห็นต่างทางการเมือง ทั้งยังควบคุมสื่อมวลชนอย่างเบ็ดเสร็จ

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้งของกัมพูชา ได้ตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคแสงเทียน ในการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคม ซึ่งทำให้พรรคประชาชนกัมพูชาของนายฮุน เซน ไร้คู่แข่งทางการเมือง

เบนาร์นิวส์พยายามติดต่อ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอคำชี้แจงเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้รับการตอบรับ

นักสิทธิ : ไทยไม่ควรร่วมมือกัมพูชาปราบปรามผู้เห็นต่าง

“เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ ยูเอ็นเอชซีอาร์ ควรได้รับอนุญาตให้พบกับนายโทน สัมนาง เพื่อที่เขาจะได้อธิบายความน่ากลัว และความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับเขา หากเขาถูกส่งตัวกลับกัมพูชา และเพื่อที่เขาจะได้รับการปกป้องในฐานะผู้ลี้ภัย” นายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“เป็นที่ชัดเจนว่า พรรคประชาชนกัมพูชา และเจ้าหน้าที่รัฐกำลังเข้มงวดกับใครก็ตามที่กล้าท้าทาย หรือวิจารณ์นโยบายของรัฐ หรือตั้งคำถามกับการเลือกตั้งที่จะมาถึง ซึ่งฮิวแมนไรท์วอทช์ เชื่อว่า มันจะเป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเสรี รัฐบาลไทยควรปฏิเสธที่จะร่วมมือกับความพยายามปราบปรามนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของรัฐบาลกัมพูชา” นายฟิล โรเบิร์ตสัน ระบุ

ประเทศไทยเคยรองรับผู้ลี้ภัยสงคราม ภัยธรรมชาติ หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน หลายแสนคนจากประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยก็ถูกวิจารณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งกลับผู้ลี้ภัย หรือผู้ขอลี้ภัยที่หลบหนีคดี หรือการคุกคามจากประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน

ในเดือนมกราคม 2565 นายคูคำ แก้วมะนีวง อดีตนักเคลื่อนไหวกลุ่มลาวเสรี ซึ่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากยูเอ็นเอชซีอาร์ ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในข้อหาอยู่ในประเทศไทยโดยวีซ่าหมดอายุ กระทั่งได้รับการช่วยเหลือจากนักสิทธิมนุษยชน และทนายความจนได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา ก่อนที่จะถูกส่งตัวกลับประเทศลาว

ก่อนหน้านั้นในเดือนพฤศจิกายน 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัว และส่งตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน 2 คน กลับประเทศกัมพูชา หลังจากที่ นายฮุน เซน มีคำสั่งให้ควบคุมตัว 1 ใน 2 นักเคลื่อนไหวนั้นจากการเขียนกลอนวิจารณ์ตัวนายฮุน เซน บนเฟซบุ๊ก

ในปี 2562 นายอ๊อด ไซยะวง นักเคลื่อนไหวกลุ่มลาวเสรี อายุ 34 ปี หายตัวไปอย่างลึกลับขณะที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย ก่อนการหายตัวอ๊อดได้โพสต์คลิปวิจารณ์รัฐบาลลาว นายอ๊อด ถือเป็นคนที่อยู่ในรายชื่อบุคคลที่ยูเอ็นเอชซีอาร์เป็นห่วง เนื่องจากนายอ๊อด เคยเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ในประเทศลาว จนถึงปัจจุบัน นายอ๊อดยังมีสถานะเป็นบุคคลสาบสูญ

เรดิโอฟรีเอเชีย ภาคภาษาเขมร ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง