กสทช: ปิดเว็บไซต์ผิดกฎหมายกว่า 1600 จาก 2900 ยูอาร์แอล

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.07.27
กรุงเทพฯ
TH-internet-1000 ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตค้นหาข้อมูลในยูทิวบ์ วันที่ 27 กรกฎาคม 2560
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดี (27 กรกฎาคม 2560) นี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า เฟซบุ๊คและยูทิวบ์ได้ทำการปิดการเข้าถึงเฟซบุ๊คแฟนเพจ และช่องยูทิวบ์ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย และมีคำสั่งศาลให้ปิดการเข้าถึงในประเทศไทยแล้ว 1,609 ยูอาร์แอล จากคำสั่งศาล 2,907 ยูอาร์แอลที่ กสทช. เสนอระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม - 16 กรกฎาคม 2560 ขณะเดียวกันกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี)ได้ออกประกาศกระทรวงดีอีที่กำหนดให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตต้องลบข้อมูลที่กระทบต่อความมั่นคงภายใน 24 ชั่วโมงหากได้รับการแจ้งเตือน

“พบว่าจนถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 60 จากคำสั่งศาลที่ให้ปิดเพจที่มีเนื้อหาที่ผิดกฎหมายทั้งหมด 2,907 ยูอาร์แอล เป็นของเฟซบุ๊ค 2,082 ยูอาร์แอล ยูทิวบ์ 672 ยูอาร์แอล และเพจอื่นๆ 153 ยูอาร์แอล โดยเฟซบุ๊คจากเดิมที่มีการปิดไป 899 ยูอาร์แอล ก็ได้ปิดเพิ่มเป็น 1,076 ยูอาร์แอล และ ยูทิวบ์จากเดิมที่มีการปิดไปเพียง 180 ยูอาร์แอล มีการปิดเพิ่มเป็น 401 ยูอาร์แอล รวมทั้งเพจอื่นๆ จากเดิมที่มีการปิดไปเพียง 36 ยูอาร์แอล ได้มีการปิดเพิ่มเป็น 132 ยูอาร์แอล” นายฐากรระบุ

สำหรับการปิดเว็บไซต์ผิดกฎหมายนั้น นายฐากรเคยเปิดเผยว่า ก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 กสทช. และกระทรวงดีอี ได้ประชุมร่วมกับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเพื่อดำเนินการปิดเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาผิดกฎหมาย คือ กระทบความมั่นคงของประเทศ ขายของผิดกฎหมาย ลามกอนาจาร หรืออื่น  ซึ่งสามารถปิดได้กว่า 6,900 ยูอาร์แอล และสำหรับการเฝ้าระวัง จะได้ตั้งกลุ่มงานพิเศษสำหรับติดตามตรวจสอบเว็บไซต์ผิดกฎหมายเป็นประจำ ซึ่งหากพบเว็บไซต์ผิดกฎหมายเจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการขอหมายศาลเพื่อแจ้งผู้ให้บริการเพื่อดำเนินการปิดต่อไป

ดีอีออกประกาศกำหนดให้ปิดเว็บกระทบความมั่นคงใน 24 ชั่วโมง

ขณะเดียวกัน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ออกประกาศ เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทําให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนําข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2560 ผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีใจความสำคัญคือการกำหนดให้ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตจำเป็นต้องระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่กระทบต่อความมั่นคงใน 24 ชั่วโมงหลังจากได้รับการแจ้งเตือน ซึ่งหากไม่มีปฎิบัติตามจะถือว่ามีความผิด

“เมื่อผู้ให้บริการได้รับข้อร้องเรียนตามแบบฟอร์มในข้อ 5 (1) (ข) และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ผู้ให้บริการต้องดําเนินการ ดังต่อไปนี้ (ก) ดําเนินการลบหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อไม่ให้แพร่หลายต่อไป โดยทันที … กรณีการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 (2) และ (3) ให้ระงับการแพร่หลายข้อมูลโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะกระทําได้ ทั้งนี้ หากมีเหตุล่าช้าก็ต้องดําเนินการภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่วันที่ได้รับข้อร้องเรียน” บางส่วนของประกาศระบุ

ประกาศนี้ ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งลบข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตได้ โดยมีขั้นตอนดังนี้ 1.แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และนำสำเนาเว็บไซต์ที่ต้องการลบไปยื่นเป็นหลักฐาน 2.กรอกแบบฟอร์มการแจ้งลบ และ 3.ส่งแบบฟอร์มพร้อมด้วย หลักฐานการแจ้งความให้กับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ขณะที่หากหน่วยงานรัฐต้องการแจ้งลบข้อมูลจำเป็นต้องขอคำสั่งศาลประกอบ

ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับร่วมกับ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) โดยหากผู้ให้บริการไม่ปฎิบัติตามจะมีความผิดตามมาตรา 15 ซึ่งระบุว่า โทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้

ประกาศดีอียังคลุมเครือ และอาจทำให้ประชาชนเซ็นเซอร์ตัวเอง

น.ส.ทัสพร ดำริห์ เจ้าหน้าที่สื่อสารโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ประกาศกระทรวงดีอีฉบับนี้ยังมีความคลุมเครือในบางประเด็น และอาจสร้างความกลัวให้กับผู้ใช้อินเตอร์เน็ต จนต้องจำกัดการเผยแพร่ข้อมูล

“ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตตามประกาศนี้คือ เขารวมหมดเลย ไอเอสพี เจ้าของเว็บ เจ้าของเพจต่างๆ และผู้ให้บริการที่ไม่รวมในประเภทข้างต้นนี้ ก็ถือเป็นผู้ให้บริการ ซึ่งก็ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะในเวทีรับฟังความคิดเห็น ก็ไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่า ผู้ใช้งานเฟซบุ๊คทั่วไปถือเป็นผู้ให้บริการหรือเปล่า กระบวนการตรวจสอบความผิดถูกของข้อมูลก็ยังไม่ชัดเจน” น.ส.ทัสพรกล่าว

“สิ่งที่จะตามมาหลังการประกาศคำสั่งนี้ คือ การเซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น ผู้ให้บริการทุกประเภทจะเซนซิทีฟกับข้อมูล เพราะในการนิยามจำกัดความว่าความมั่นคงคืออะไร ยังไม่ชัดเจน และมันก็อาจจะทำให้ เจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ขอคำสั่งศาล เพื่อแจ้งลบเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ใช้วิธีของประกาศเป็นทางลัดในการลบข้อมูลได้” น.ส.ทัสพร กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง