นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวว่าซิงเกิ้ลเกตเวย์ เพื่อป้องกันภัยจากโลกไซเบอร์และยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา
2015.10.02

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว ถึงแนวทางการใช้ซิงเกิ้ลเกตเวย์ สำหรับเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ในวันนี้ (2 ต.ค. 2558) ว่า เรื่องนี้เป็นเพียงแนวคิดในการสร้างความปลอดภัยให้กับระบบอินเตอร์เน็ตของประเทศ และยังอยู่ในระหว่างการศึกษาความเหมาะสม
"เป็นเพียงการศึกษา และหาแนวทางแก้ไขในด้านความมั่นคง การค้า การลงทุน ข้อมูลข่าวสาร ที่ทุกประเทศก็ทำเช่นเดียวกัน และขณะนี้ ยังไม่ได้สั่งให้ดำเนินการ ซึ่งแนวทางดังกล่าว ถือเป็นการศึกษาที่มีอยู่ทางเดียวในตอนนี้ เพื่อให้การค้าการลงทุนปลอดภัย ซึ่งรัฐบาลกำลังเฝ้าระวังอยู่” พลเอกประยุทธ์ กล่าวที่ตลาดน้ำข้างทำเนียบรัฐบาล
ตามรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในวันที่ 1 ตุลาคม นี้ เฟซบุ๊ค “หยุดดัดจริตประเทศไทย” ได้เผยแพร่ข้อมูลข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี จากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ถึงจุดเริ่มต้น ในการจัดตั้ง Single Gateway โดยอ้างเหตุผลว่า ในปัจจุบันพบว่า มีเด็กและเยาวชนใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ และก่อปัญหาต่อพฤติกรรมและคุณภาพในการเรียนรู้ของเด็ก เช่น การติดเกมส์ออนไลน์ การเข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสม จนอาจส่งผลให้เป็นปัญหาสังคมไทย ดังนั้น จึงให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
และยังมีการระบุให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ร่วมกับ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการจัดตั้ง Single Gateway เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม โดยให้ตรวจสอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายเพิ่มเติม ก็ให้เร่งดำเนินการ
วันที่ 25 สิงหาคม คณะรัฐมนตรี ได้เร่งรัดกระทรวงไอซีทีอีกครั้ง เรื่องการจัดตั้ง Single Gateway และรายงานความคืบหน้าให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยละเอียด อย่างเป็นรูปธรรมในเดือนกันยายน
ในเรื่องนี้ พลเอกประยุทธ์ ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว ในวันนี้ว่า ตนยังไม่ได้สั่งการให้มีการใช้ระบบซิงเกิ้ลเกตเวย์แต่อย่างใด และในเรื่องนี้ไม่ได้มีเป้าประสงค์ไปที่การละเมิดกฎหมายหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน
“ขออย่าพูดให้เกิดเสียหายและตื่นตระหนก เพราะโลกไซเบอร์อันตราย มีแต่คนโจมตี ซึ่งถือเป็นคนละเรื่องการละเมิดกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ยืนยันว่าผมยังไม่ได้สั่งการให้เดินหน้า ทั้งนี้การจะเดินหน้าซิงเกิ้ลเกตเวย์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรีและประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจ" พลเอกประยุทธ์
หลังจากที่มีข่าวในเรื่องนี้ออกมา ชาวอินเตอร์เน็ตต่างแสดงความไม่เห็นด้วย เนื่องจากว่า การใช้อินเตอร์เน็ตซิงเกิ้ลเกตเวย์ จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับหน่วยงานของรัฐบาล เช่น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สามารถติดตามการใช้อินเตอร์เน็ตของประชาชนได้สะดวกเกินไป นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญยังกล่าวว่า จะทำให้ระบบการส่งผ่านข้อมูลช้าลงอีกด้วย
ในตอนสี่ทุ่มของวันที่ 30 กันยายน กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับรายงานข่าวถึงนโยบายของรัฐบาลได้นัดกันโจมตี DDos Attack เวบไซต์ของกระทรวงไอซีที บริษัท กสท. คมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ด้วยการกด F5 จนทำให้ทราฟฟิกอินเตอร์เน็ตเต็มจนเวบไซต์ไม่สามารถใช้งานได้
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ได้กล่าวถึงการให้ข้อมูลของ น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงไอซีที ในวันที่ 30 กันยายนว่า ขอให้กลุ่มที่คัดค้านเรื่องที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องซิงเกิ้ลเกตเวย์ ให้หันหน้ามาทำความเข้าใจร่วมกันใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง
“รัฐบาลไม่ได้ต้องการรวมเกตเวย์เหลืออันเดียวอย่างที่เข้าใจ และไม่ง่ายที่จะทำ แต่กระทรวงกำลังศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่ารัฐบาลจะเข้าไปล้วงข้อมูลได้”
ก่อนปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยเคยใช้อินเตอร์เน็ตซิงเกิ้ลเกตเวย์ที่มีช่องทางออกนอกประเทศช่องทางเดียวในยุคที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตแต่เพียงผู้เดียว จนภายหลังที่มีการประสบปัญหาทางเศรษฐกิจในปี 2540 จึงได้มีการเปิดเสรีโทรคมนาคมและมีการเปิดเกตเวย์กว้างขวางขึ้น
ในปัจจุบัน ประเทศที่ใช้อินเตอร์เน็ตซิงเกิ้ลเกตเวย์เป็นประเทศที่มีการบริหารประเทศอย่างเข้มงวดเท่านั้น เช่น ประเทศจีน เกาหลีเหนือ ลาว และประเทศในแถบตะวันออกกลาง