ฟรีดอมเฮ้าส์: ไทยมีเสรีภาพในการใช้อินเทอร์เน็ตต่ำสุด นับจากรัฐประหาร

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2017.11.15
กรุงเทพฯ
171115-TH-internet-1000.jpg พนักงานออฟฟิศเปิดเว็บไซต์อ่านข้อมูลข่าวสาร ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552
เอเอฟพี

เจ้าหน้าที่ไทยกล่าวไม่เห็นด้วยกับรายงานขององค์กรฟรีดอมเฮ้าส์ ที่ศึกษาและเฝ้าติดตามเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและประชาธิปไตยทั่วโลก ซึ่งได้เปิดเผยรายงานการศึกษาเรื่องเสรีภาพในการใช้สื่อออนไลน์ว่า ประเทศไทยมีเสรีภาพในการใช้สื่อออนไลน์ตกต่ำลงที่สุด นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ ปี 2557 และกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เปิดกว้างมาก จนถึงทุกวันนี้ รัฐบาลยังไม่สามารถเอาเนื้อหาที่หมิ่นสถาบันฯ ออกจากระบบได้

ในรายงานเรื่อง “Freedom of the Net 2017 – Manipulating Social Media to Undermine Democracy” ที่เผยแพร่เมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา ตามเวลาในประเทศไทย ระบุว่า สถานการณ์ด้านเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตของประเทศไทย อยู่ที่ 67/100 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว จาก 66/100 โดยมีคะแนนเรื่องการจำกัดเนื้อหาที่ 24/35 และมีการละเมิดสิทธิ 33/40 คะแนน ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยถูกละเมิดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โดยเนื้อหาถูกจำกัดด้วยวิธีการต่างๆ ทำให้สถานการณ์ด้านเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารออนไลน์แย่กว่าในปีที่ผ่านๆ มา ทั้งนี้คะแนนที่มากขึ้น หมายถึงการมีอิสระที่น้อยลง

ทั้งนี้ องค์กรฟรีดอมเฮ้าส์ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่เฝ้าติดตามการทำงานด้านการขยายเสรีภาพและประชาธิปไตยทั่วโลก เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยมีระบบการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดมากขึ้น และรุนแรงขึ้น หลังจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

นอกจากนี้ รายงานยังระบุอีกด้วยว่า การแก้ไขพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ล้มเหลว ในการปฏิรูปในการให้เสรีภาพด้านอินเทอร์เน็ตแก่ประชาชน แต่กลับให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการระงับยับยั้งการเข้าถึงข้อมูลแทน หรือ แม้แต่จับกุม และแจ้งข้อหากับกลุ่มบุคคลที่ออกมาคัดค้านการทำประชามติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ที่ร่างโดยคณะกรรมาธิการที่ถูกแต่งตั้งมาจากรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร และดำเนินคดีผู้ที่โพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ

ในขณะที่ นายปริญญา หอมเอนก ในฐานะคณะทำงานจัดทำกฎหมายการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า เสรีภาพด้านอินเทอร์เน็ตไม่ได้ถูกจำกัดอย่างที่รายงานระบุ

“ไม่จริง ประเทศไทยเป็นประเทศที่เปิดกว้างมาก จนถึงทุกวันนี้รัฐบาลยังไม่สามารถเอาเนื้อหาที่หมิ่นสถาบันฯ ออกจากระบบได้เลย เสรีภาพไม่ได้ถูกจำกัดและกฎหมายที่ออกมาก็ไม่ได้ล้มเหลว อย่างที่รายงานนี้นำเสนอ เพราะถ้ามันรุนแรงขนาดนั้น ป่านนี้คงมีคนติดคุกมากกว่านี้แล้ว” นายปริญญา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

“ไม่แฟร์เลย ไม่ได้ถูกจำกัดขนาดนั้น ไม่งั้นถูกติดคุกหลายคนแล้ว” นายปริญญากล่าวเพิ่มเติม

รายงานได้ระบุว่า ศาลทหารตัดสินจำคุกผู้ใช้อินเทอร์เน็ต อย่างน้อยสองคน ในข้อหาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ คนละเกินกว่าสิบปี โดยคนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ โดยใช้การแลกเปลี่ยนเมสเสจส่วนตัว ส่วนอีกราย ถูกตัดสินจำคุกถึง 70 ปี เมื่อเดือนมิถุนายน แต่ได้รับการลดโทษลงเหลือ 35 ปี เพราะรับสารภาพ

องค์กรฟรีดอมเฮาส์ แสดงความกังวลเรื่องเสรีภาพของสื่อในประเทศไทย เนื่องจาก มีความพยายามในการควบคุมการแสดงออกทางความคิดยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเสนอให้ผู้สื่อข่าวและบล็อกเกอร์ ต้องลงทะเบียนกับสมาคมที่รัฐบาลให้การรับรอง เพื่อลดความหลากหลายของข้อมูลข่าวสาร รวมถึงมุมมองต่างๆ ที่จะปรากฎบนสื่อออนไลน์ในอนาคต รายงานระบุ

ด้านพลโทวีรชน สุคนธปฏิภาค โฆษกรัฐบาล ได้ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกับผลการศึกษาดังกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง