อธิการบดี ม. ฟาฏอนี ยืนยันนักศึกษาที่เสียชีวิตจากคดีโต๊ะชุดบริสุทธิ์
2016.07.28
ปัตตานี

ในวันพฤหัสบดี (28 กรกฎาคม 2559) นี้ ทนายความในคดีโต๊ะชุด ที่มีผู้เสียชีวิตสี่ราย เปิดเผยความคืบหน้าคดีว่า ในการสืบพยานของศาลครั้งล่าสุด อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ยืนยันต่อศาลว่า 2 นักศึกษาที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ
นายปรีดา นาคผิว ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทนายจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ ช.11/2558 หรือ “คดีโต๊ะชุด” เปิดเผยความคืบหน้าของคดี หลังจากการขึ้นศาลครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 ว่า ผศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ได้ขึ้นเป็นพยานและให้การต่อศาลโดยระบุว่า 2 นักศึกษาที่เสียชีวิตกำลังจะเดินทางกลับมหาวิทยาลัยเพื่อทำสารนิพนธ์
“นักศึกษาของมหาวิทยาลัยฟาฏอนีทั้งสองคน ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทราบว่าในวันเกิดเหตุ กำลังจะเดินทางไปมหาวิทยาลัย เพื่อทำสารนิพนธ์สำหรับจบการศึกษามหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 4” ทนายปรีดาอ้างอิงคำพูดของ ผศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี ที่กล่าวต่อศาลปัตตานีในการไต่สวนคดีนี้
คดีโต๊ะชุด เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหาร ฉก.ปัตตานี 25 ชุดนปพ. 431 เจ้าหน้าที่จาก ฉก.ทพ.41 ร้อย ร.35314 เจ้าหน้าที่จาก ฉก.ปัตตานี เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ทุ่งยางแดง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ได้สนธิกำลังเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ หมู่ที่ 6 บ้านโต๊ะชุด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เพื่อปิดล้อมค้นหาผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกขบวนการก่อความไม่สงบ
ซึ่งปฎิบัติการดังกล่าว มีการจับกุมผู้ต้องสงสัย 22 คน และมีผู้ต้องสงสัยเสียชีวิต 4 ราย ประกอบด้วยนายสุไฮมี เซ็น นายคอลิด สาแม็ง นายมะดารี แม้เราะ และ นายซัดดัม วานุ ซึ่งนายคอลิด และนายมะดารี เป็นนักศึกษาคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยฟาฏอนี จังหวัดปัตตานี
โดยครอบครัวและคนในชุมชนเชื่อว่า นักศึกษาทั้ง 2 คนไม่มีอาวุธ และไม่ได้คิดจะต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ แม้ว่าในที่เกิดเหตุจะมีอาวุธวางอยู่ใกล้กับศพทั้งสี่ก็ตาม
จากนั้น แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งให้มีคณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริง ที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่รัฐและผู้นำศาสนาขึ้นมา และในต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ได้เป็นผู้แถลงผลสอบสวนข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า ผู้ตายไม่ใช่คนร้าย
“คณะกรรมการฯ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ปรากฏผลการตรวจสอบแล้วว่า นักศึกษาทั้งสองคนและชาวบ้านที่เสียชีวิตอีกสองคน ไม่ได้เป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบในพื้นที่ และอาวุธที่พบในที่เกิดเหตุไม่ใช่อาวุธปืนของผู้ตายทั้งสี่” นายแวดือราแม กล่าว
จากนั้น ได้มีการไต่สวนคดีนี้โดยศาลปัตตานี จนกระทั่งถึงปัจจุบัน
นายปรีดา เพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน อัยการได้ไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกร้องไปครบแล้วจำนวน 6 ปาก ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ทหาร 3 ปาก เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 ปาก และแพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพ 1 ปาก และไต่สวนพยานฝ่ายญาติผู้ตายทั้งหมดแล้ว โดยขั้นต่อไป ศาลได้กำหนดวันนัดฟังคำสั่งศาลในวันที่ 14 กันยายน 2559
ทั้งนี้ แพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพได้ให้การว่า ศพทั้งสี่ถูกกระสุนด้านหน้า ไม่มีการยิงในลักษณะที่ผู้ตายหันหลังให้
ในก่อนหน้านี้ นายมะหามะ เซ็น บิดาของนายซูไฮมี เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า ต้องการให้เจ้าหน้าที่ซึ่งร่วมปฎิบัติการครั้งนี้ยอมรับความจริง และหวังว่าคดีของบุตรชายจะได้รับความเป็นธรรม
“เรื่องนี้ ไม่ต้องแก้ปัญหาอะไรมาก หากเจ้าหน้าที่ยอมรับความจริงตั้งแต่แรก การต่อสู้คดีก็มีความหวังว่า จะได้รับความเป็นธรรม ถึงแม้ว่าการต่อสู้กับคนที่มีอำนาจในมือ สำหรับชาวบ้านอย่างเราจะยากมาก ยังไงก็เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรม ยังศักดิ์สิทธิ์” นายมะหามะกล่าว