ในหลวงรัชกาลที่ 10 ถวายราชสักการะสมเด็จพระบรมราชบุพการี
2019.05.02
วอชิงตัน ดีซี

ในวันพฤหัสบดีนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงถวายราชสักการะสมเด็จพระบรมราชบุพการี ถวายราชสักการะปฐมบรมราชานุสรณ์ บวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลหลักเมือง และภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินไปถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสรณ์ รัชกาลที่ 5 ณ พระลานพระราชวังดุสิต ในเวลาฤกษ์ 16.09 น. จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปถวายราชสักการะ ปฐมบรมราชานุสรณ์ ณ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า และเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเสร็จสิ้นพระราชพิธีในเวลา 20.30 น.
ทั้งนี้ วันที่ 1 ธันวาคม 2559 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติอัญเชิญ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงตอบรับการอัญเชิญขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10
เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562 ผ่านแถลงการณ์ของสำนักพระราชวังว่า ให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ทรงเป็นประธานงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
โดยก่อนหน้านี้ ได้มีการทำพิธีทำน้ำอภิเษกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยใช้น้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั่วราชอาณาจักร จำนวน 108 แห่ง และทำพิธี ระหว่างวันที่ 6-19 เมษายน มีการจารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกร วันที่ 22-23 เมษายน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
โดยพระราชพิธีขั้นต่อไป ในวันที่ 3 พฤษภาคม คือ พิธีแห่เชิญพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกร ประจำรัชกาลจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จากนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงนมัสการพระรัตนตรัย ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ถวายบังคมพระบรมอัฐิพระอัฐิ ณ หอพระธาตุมณเฑียร
วันที่ 4 พฤษภาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสรงพระมุรธาภิเษก ณ มณฑปพระกระยาสนาน บริเวณชาลา พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ จากนั้น ทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสงราชศัสตราวุธ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ และจะเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคล จากพระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
ถัดมา ทรงเสด็จฯ โดยขบวนราบใหญ่ ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก เสด็จฯ ไปถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช ณ ปราสาทพระเทพบิดร และเสด็จฯ ไปถวายบังคมพระบรมอัฐิพระอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เสด็จเถลิงพระแท่นราชบรรจถรณ์ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร และทรงพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ พระบรมวงศ์ และเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค
วันที่ 5 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในการพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์ พระบรมวงศ์ และเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อทรงนมัสการพระพุทธปฏิมาประธาน และพระบรมราชสรีรางคาร
วันที่ 6 พฤษภาคม เวลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้นำศาสนาและผู้แทนคณะพาณิชย์เฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล แล้วเสด็จออก ณ สีหบัญชร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น เสด็จออกให้คณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศ เฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และจะทรงเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค
หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ในปลายเดือนตุลาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคไปยังวัดอรุณราชวราราม เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน
นางนาง เอกโชติ ชาวจังหวัดมหาสารคาม อายุ 89 ปี กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ดูพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก
“จริงๆ แล้วเกิดทันพิธีครั้งก่อน แต่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ดู เพราะสมัยนั้น ที่บ้านไม่มีโทรทัศน์ ได้ฟังแต่ข่าว ฟังเขาเล่ามา แต่คราวนี้น่าจะได้ดูเขาถ่ายทอดสด จะได้เห็นว่าพิธีเป็นยังไง ตื่นเต้นที่จะได้เห็นงานใหญ่ๆ ระดับประเทศ” นางนาง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ส่วนนายทองดี เข็มสร้อย ชาวจังหวัดนครปฐม อายุ 71 ปี กล่าวว่า จะติดตามพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทางโทรทัศน์ เนื่องจากไม่สะดวกที่จะเดินทางไปร่วมงานจริงที่กรุงเทพฯ ได้
“สนใจติดตามข่าวตลอด ปกติดูข่าวในพระราชสำนักอยู่แล้ว คิดว่า งานพิธีฯ ก็จะติดตามจากโทรทัศน์ เพราะไม่สะดวกที่จะไปกรุงเทพฯ อายุมากแล้ว มีโรคประจำตัว ขาแข้งไม่ดี ก็น่าจะดูเขาถ่ายทอดสด ชมพระบารมีอยู่ที่บ้านนี่แหละ” นายทองดี ระบุ
พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2495 เวลา 17.45 น.
มีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินี 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ในปี 2515 เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษา ทรงบรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ให้ดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ตามโบราณขัตติยราชประเพณี
ในปีเดียวกัน ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา โดยสำเร็จภาควิชาการทหารในยศร้อยโท และภาคการศึกษาวิชาสามัญระดับปริญญาตรี สาขาวิชาอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ โดยทรงสำเร็จการศึกษาในปี 2519 และทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมและทรงศึกษางานด้านการทหารในประเทศออสเตรเลีย โดยทุนของกระทรวงกลาโหม และทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษ ที่นครเพิร์ท รัฐออสเตรเลียตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย
ปี 2520-2521 ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ปี 2527-2530 ทรงศึกษาด้านกฎหมาย ทรงได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปี 2533 ทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งราชอาณาจักร
นอกจากนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับการฝึกอบรมหลักสูตรทางการทหารและการบินต่างๆ อาทิ หลักสูตรวิชาอาวุธพิเศษการทำลายและยุทธวิธีการรบนอกแบบ
ขณะเดียวกัน พระองค์ยังทรงผ่านการฝึกอบรมเครื่องบินรบ จนมีพระปรีชาสามารถ และมีจำนวนชั่วโมงบินสูงมาก รวมทั้งทรงศึกษาหลักสูตรนักบินพาณิชย์ จากสถาบันการบินพลเรือน ทรงสอบได้ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี