อัยการศาลทหารสั่งไม่ฟ้อง ส.ศิวลักษณ์ ข้อหาหมิ่นพระนเรศวร
2018.01.17
กรุงเทพฯ

หัวหน้าอัยการทหาร ได้แจ้งต่อนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ ที่กรมพระธรรมนูญ ในวันนี้ (17 มกราคม 2561) นี้ ว่าอัยการเจ้าของสำนวนเห็นควรสั่งไม่ฟ้องนายสุลักษณ์ ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการที่นายสุลักษณ์กล่าวเมื่อเดือนตุลาคม 2557 ว่า การยุทธหัตถีของพระนเรศวรมหาราชและพระมหาอุปราชาอาจไม่เคยเกิดขึ้นจริง ทั้งนี้เพราะหลักฐานไม่เพียงพอ
หลังฟังคำสั่งของอัยการศาลทหาร นายสุลักษณ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และนักวิจารณ์สังคม วัย 85 ปี ที่ต้องใช้ไม้เท้าช่วยเดิน ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ตนรู้สึกพอใจกับความเห็นของเจ้าของสำนวน แม้จะรู้สึกแปลกใจกึ่งคาดหวังว่าผลน่าจะออกมาเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว โดยกล่าวว่าในยุคสมัยของเผด็จการ ประชาชนไม่สิทธิแสดงความเห็น ใครก็ตามที่แสดงความเห็นจะถูกลงโทษ แม้ว่าครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่ตนโดนลงโทษ แต่หวังว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย
“เขาขอร้องให้ผมเงียบๆ ไม่พูด ให้ยุติ ถ้าผมยุติไม่พูดไม่เขียน ผมก็ตายเท่านั้นเอง” นายสุลักษณ์ กล่าวกับสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศที่มารอทำข่าวที่ศาลทหาร กรุงเทพฯ
“ณ วันนี้ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ (ม.112) มันมาไกลเกินไป และหวังว่ากฎหมายนี้จะมีการแก้ไข” นายสุลักษณ์กล่าวเพิ่มเติม
นายสุลักษณ์ถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้อง อย่างน้อย 5 ครั้ง จากการวิจารณ์ทหารหรือพาดพิงถึงเบื้องสูง นับตั้งแต่ 2527 ปัจจุบัน ยังมีคดีค้างคาอยู่หนึ่งคดี อันสืบเนื่องมาจากการบรรยายหัวข้อปรัชญาพื้นบ้านอิสาน ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี 2550
คดีนี้ เกิดจากการที่นายสุลักษณ์ พูดพาดพิงถึงการทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2557 จากนั้น พล.ท.ผดุง นิเวศวรรณ และ พล.ท.พิทยา วิมะลิน ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เอาผิดนายสุลักษณ์ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม มีความเห็นสั่งฟ้องนายสุลักษณ์ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (หมิ่นเบื้องสูง) และได้นำตัวนายสุลักษณ์ พร้อมสำนวนคดีส่งฟ้องต่ออัยการศาลทหาร กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2560 จนกระทั่งอัยการทหารสั่งยกฟ้องในวันนี้
“คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง เห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในความผิดฐานหมิ่นประมาท รวมถึงแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามตัวบทกฎหมาย ตามความเห็นของเจ้าของสำนวน สั่งไม่ฟ้องไป” พล.ต.เชิดชัย อังศุสิงห์ หัวหน้าอัยการทหาร อ่านความเห็นของอัยการเจ้าของสำนวนให้นายสุลักษณ์และทนาย ได้รับทราบในห้องทำงานหัวหน้าอัยการ
พล.ต.เชิดชัย ยังได้ย้ำกับนายสุลักษณ์ด้วยว่า ศาลทหารมีความเป็นธรรม พร้อมแจ้งว่าอัยการทหารจะได้ทำเอกสารแจ้งไปยังพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจชนะสงคราม เรื่องความเห็นอัยการในการสั่งไม่ฟ้องนายสุลักษณ์ ซึ่งถือว่าคดีนี้ยุติแต่เพียงเท่านี้
คดีนี้ได้รับความสนใจจากนานาชาติ โดยมีผู้แทนจากสถานทูตประเทศต่างๆ และตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศมาร่วมสังเกตการณ์ พร้อมจับมือให้กำลังใจนายสุลักษณ์ หลังทราบว่าอัยการทหารสั่งไม่ฟ้อง
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สรุปสถิติทางเสรีภาพหลังจากการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พบว่ามีผู้ถูกเรียกรายงานตัวหรือมีเจ้าหน้าที่เข้าเยี่ยมบ้านอย่างน้อย 1,319 ราย ถูกจับกุมอย่างน้อย 597 คน ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 หมิ่นเบื้องสูง อย่างน้อย 82 คน ถูกตั้งข้อหามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น อย่างน้อย 64 คน และมีกิจกรรมเกี่ยวกับเสรีภาพถูกปิดกั้น-แทรกแซง อย่างน้อย 152 ครั้ง ซึ่งสถิตินี้เป็นการรวบรวมถึงวันที่ 30 กันยายน 2560
โดยในวันที่ 9 มิถุนายน 2560 ศาลทหาร กรุงเทพฯ ตัดสินจำคุกนายวิชัย (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากความผิดในการปลอมเฟซบุ๊คและโพสต์ข้อความหมิ่นเบื้องสูง โดยตัดสินลงโทษจำคุก 70 ปี ก่อนลดโทษเหลือ 30 ปี 60 เดือน เพราะนายวิชัยให้การรับสารภาพ ซึ่งการตัดสินโทษครั้งนี้ ถือเป็นคดีที่พิจารณาโทษที่หนักที่สุดของกฎหมาย ม.112
ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2561 ศาลจังหวัดยะลา ได้ตัดสินลงโทษจำคุก น.ส.นูรฮายาตี มะเสาะ ผู้พิการทางสายตาอายุ 23 ปี เป็นเวลาสามปี จากการแสดงความคิดเห็นบนเฟซบุ๊คด้วยข้อความเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง แต่ลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา