สนช.ปลดล็อคให้ผลิตยาจากกัญชาและกระท่อมได้
2018.12.26
กรุงเทพฯ

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ปลดล็อคกฎหมายให้มีการวิจัยและผลิตยารักษาโรคจากกัญชาและกระท่อม เมื่อวันอังคารนี้ โดยถือเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายแพทย์สมนึก ศิริพานทอง แพทย์ผู้ศึกษาวิจัยการใช้สารสกัดจากกัญชาเพื่อการรักษาผู้ป่วย เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ร่างพระราชบัญญติยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่ ถือว่ามีมาตรฐานทัดเทียมประเทศพัฒนาแล้ว
ในวันอังคารที่ผ่านมา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่…) พ.ศ… ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3 รวด โดยมีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนน 166 เสียง ไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย แต่มีผู้งดออกเสียง 13 เสียง ซึ่งทำให้เหลือเพียงขั้นตอนการทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ตราเป็นกฎหมาย
นพ.สมนึก ศิริพานทอง กรรมการสมาคมเซลล์บำบัดไทย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า นับเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทยที่กฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบ เพราะจะทำให้วงการแพทย์ได้ประโยชน์ เนื่องจากสามารถทำการศึกษาวิจัย เพื่อหาแนวทางใหม่สำหรับการรักษาผู้ป่วยได้
“กฎหมายนี้ น่าจะเป็นต้นแบบของนานาชาติ น่าจะผลักดันให้เป็นมาตรฐานอนามัยโลก ... เน้นเรื่องการเอาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่สร้างมาตรฐานเรื่องการปลูก กสิกรรม การสกัด ตามแนวทางที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ” นพ.สมนึก กล่าว
นพ.สมนึก ระบุว่า ช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยมีเครือข่ายแพทย์ซึ่งพยายามรักษาผู้ป่วยด้วยสารสกัดจากกัญชาราว 30 คน และจากการใช้จริงพบว่า มีผู้ป่วยมะเร็งสามารถหายขาดได้ด้วยการใช้กัญชา
“จากการศึกษางานวิจัยต่างประเทศ และประสบการณ์ของผม สารสกัดกัญชา สามารถรักษาโรคมะเร็ง อัลไซเมอร์ ลมชักในเด็ก 80 เปอร์เซ็นต์ได้ผล เซลส์มะเร็งทุกสายพันธุ์ตอบสนองต่อกัญชา คนไข้ของผมที่เคยใช้หายจากมะเร็ง 16 ปีแล้ว แต่การใช้ต้องพิจารณาตามสภาพร่างกาย ด้านทางจิต ถ้าใช้อย่างเหมาะสม แก้ภาวะการนอนไม่หลับได้ ลดอาการโรคซึมเศร้า ย้ำคิดย้ำทำได้ แต่สำหรับผู้ป่วยจิตเภท อาจไม่เหมาะสม หรือต้องอยู่ในการควบคุมของจิตแพทย์” นพ.สมนึก กล่าว
นพ.สมนึก ชี้แจงว่า การรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยกัญชาใช้ 3 วิธีร่วมกันคือ 1.ใช้สารสกัดป้ายในช่องปากเพื่อกระตุ้นการรับรู้ของสมอง 2.ใช้สารสกัดผสมกับเนยโกโก้ หรือน้ำมันมะพร้าวสวนทวารหนัก กระตุ้นภูมิต้านทานที่ม้าม และ 3.ใช้ผสมเป็นเครื่องแกงและเครื่องเคียงในอาหาร เพื่อรับประทาน
อย่างไรก็ตาม นพ.สมนึก ไม่สนับสนุนการเปิดเสรี สำหรับผู้ปลูก และผู้เสพเพื่อการสันทนาการ เนื่องจากเห็นว่า นานาชาติไม่ได้ให้การยอมรับในแนวทางนี้
“ประชาชนอาจจะไม่ถูกใจ เพราะประชาชนอยากไปปลูกเอง การปลูกเอง อาจจะได้สารยาไม่ครบ ถ้าไม่มีมาตรฐานอาจจะถึงเสียชีวิต การปลูกจะต้องมีความแม่นยำ ข้อเรียกร้องที่จะปลูกกันเอง ต้มเอง กินเอง ไม่คิดว่าจะเหมาะสม ผมไม่สนับสนุนการปลูกเพื่อสันทนาการ สหประชาชาติก็ไม่แนะนำให้ปลูกเพื่อสันทนาการ” นพ.สมนึก กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ กัญชามีสารที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้คือ 1. สาร CBD (Cannabidiol) ซึ่งมีฤทธิ์ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน และการบวมอักเสบของแผล และ 2. สาร THC (Tetrahydrocannabinol) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้ความรู้สึกผ่อนคลาย และลดอาการปวด
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ พ.ศ. 2522 โดย กำหนดให้สามารถขออนุญาต ผลิต นำเข้าหรือส่งออก ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งประกอบด้วยกัญชา และ กระท่อม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์สามารถนำไปใช้ในการรักษาโรคเฉพาะตัวได้ เช่นเดียวกับยาเสพติดให้โทษประเภท 2 คือ ฝิ่น แต่ไม่อนุญาตให้ดำเนินการเพื่อการสันทนาการ
และร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ดังกล่าว ได้ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นผู้กำหนดเขตพื้นที่ทดลองเพาะปลูกกัญชา และเสพกัญชา เพื่อการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ในปริมาณที่กำหนด โดยไม่ถือว่ามีความผิดกฎหมาย ซึ่งการกำหนดพื้นที่ทดลอง จะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา จึงจะสามารถดำเนินการได้
ม.รังสิต เกรงเกษตรกรรายย่อยหมดสิทธิ์ผลิตยา
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ถ่ายทอดสดการแถลงคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ฉบับดังกล่าว ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวโดยระบุว่า มหาวิทยารังสิต ในฐานะหน่วยงานซึ่งทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้กัญชารักษาโรค ไม่เห็นด้วยกับการที่อนุญาตให้เฉพาะหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานร่วมทุนกับรัฐดำเนินการ เนื่องจากมองว่าเป็นการกีดกันภาคเอกชน
“คำว่าร่วมทุนกับรัฐ คือ ต้องเป็นโรงพยาบาล หรือสถานประกอบการทางการแพทย์ เป็นองค์การเภสัชกรรม ต้องผ่านคณะกรรมการชุดใหญ่ การเป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่เหล่านี้ ทุกคนจะป้องกันความผิดที่อาจเกิดขึ้น ในทางปฏิบัติก็จะมีแต่บริษัทยักษ์ใหญ่ได้เปรียบมากกว่า” นายปานเทพ กล่าว
“ถ้าเขียนกฎหมายแบบนี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะมีทุนเล็กๆ เกษตรกร หรือรายเล็กๆ ผลิตได้ นำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงในการผูกขาด” นายปานเทพ กล่าว
นอกจากนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีบริษัทต่างชาติอย่างน้อย 3 ราย ที่ยื่นขอจดสิทธิบัตรกระบวนการผลิตกัญชาเพื่อการรักษาโรคในประเทศไทยแล้ว ซึ่งนายปานเทพ ระบุว่า อาจจะกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่แอบใช้กัญชาทางการแพทย์อยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลระบุว่า จะได้พิจารณาและชะลอกระบวนการอนุมัติสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชาออกไปก่อน
คนชายแดนใต้หวังรัฐอนุญาตให้ใช้กระท่อม เพื่อสันทนาการ
นายอับดุลฮาดี ยูโซ๊ะ ชาวยะลา กล่าวว่า ตนหวังว่ารัฐบาลจะอนุญาตให้ชาวบ้านใช้น้ำกระท่อมเพื่อเป็นยาบำรุงกำลังได้ หลังจากที่ถูกจัดเป็นยาเสพติดมานาน
"คุณค่าของน้ำกระท่อม คือ ทน อึด เพิ่มพลัง จะรู้สึกดี และสดชื่น วัยรุ่นหลายคนกินน้ำกระท่อมเพราะต้องการให้แข็งแรงสามารถทำงานได้ทนๆ ตอนที่กินก็จะทำงานได้ดี คนจำนวนมากจะดีใจถ้ามีการปลดล็อคน้ำกระท่อม เพราะคนหลายกลุ่มที่กินอยู่ คนแก่ๆ กินเป็นยา ต้องให้ร่างกายแข็งแรง ก็ดีมากถ้าปลดได้แล้วมาควบคุมการใช้" นายอับดุลฮาดี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรายหนึ่ง กล่าวว่า มีสมาชิกขบวนการวัยรุ่นที่ใช้กระท่อมเป็นส่วนผสมยาสี่คูณร้อย เพื่อทำให้จิตใจฮึกเหิมในการปฏิบัติการก่อเหตุรุนแรง จึงยังไม่ควรอนุญาตให้มีการบริโภคใบกระท่อมเป็นการสันทนาการ