ทหารเชิญตัวประวิตร โรจนพฤกษ์ สื่อมวลชนอาวุโส พูดคุยเพื่อเตือนการวิจารณ์รัฐบาลทหาร

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.02.03
TH-pravit-620 ประวิตร โรจนพฤกษ์ นักเขียนอาวุโส หนังสือพิมพ์ข่าวสด ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558
เบนาร์นิวส์

ในวันพุธ (3 กุมภาพันธ์ 2559) นี้ นายประวิตร โรจนพฤกษ์ สื่อมวลชนอาวุโสหนังสือพิมพ์ข่าวสดออนไลน์ ภาคภาษาอังกฤษ ได้เปิดเผยว่า ตนเองได้เข้าพูดคุยกับทางทหารเป็นครั้งที่สาม ในประเด็นที่ฝ่ายทหารต้องการเตือนนายประวิตรเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

นายประวิตรเปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ตนเองได้นัดหมายพูดคุยกับ ร้อยโทชลพัทร์ ผึ่งผาย และทหารติดตามอีกหนึ่งนาย ที่ร้านสตาร์บัคส์ ย่านบางกะปิ โดยการสนทนาครั้งนี้ ยังมีผู้สังเกตการณ์อีกประมาณ 5-6 คน เป็นตัวแทนจากองค์กรสิทธิมุนษย์ชนสากล สื่อมวลชนบางสำนัก และทนายความ

การนัดหมายวันนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ฝ่ายทหารพยายามติดต่อขอพูดคุยกับนายประวิตรตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลการขอพบว่า ฝ่ายทหารต้องการจะแนะนำให้นายประวิตรรู้จักหัวหน้าหน่วยคนใหม่ ซึ่งเพิ่งเข้าปฎิบัติหน้าที่ในเขตบางกะปิ ที่เป็นเขตบ้านของนายประวิตร แต่เมื่อถึงเวลานัดพบจริงหัวหน้าหน่วยใหม่คนดังกล่าวไม่ได้เดินทางมาด้วย โดยการพูดคุยครั้งนี้ดำเนินไปด้วยบรรยากาศที่ไม่ตึงเครียดมากนัก ใช้เวลาประมาณ 40 นาที

“การพูดคุยครั้งนี้ ผมเป็นคนเลือกสถานที่ เขา (ทหาร) บอกว่าเจ้านายฝากมาบอกว่ามีความเป็นห่วงในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของผม เพราะเขาไม่สามารถควบคุมสื่อสังคมออนไลน์ได้ เพราะทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ค(ของนายประวิตร) มีผู้ติดตามเยอะ และความคิดเห็นก็กระจายไปไวมาก ซึ่งมันก็จริง” นายประวิตรกล่าว

“มันก็สะท้อนความเป็นจริงที่ว่าอาทิตย์ที่แล้ว รัฐบาลพยายามที่จะไปคุยกับทางกูเกิ้ลและเฟซบุ๊คให้ช่วยเซนเซอร์ตามคำขอ แล้วเขา(กูเกิ้ลและเฟซบุ๊ค) ก็ปฎิเสธมา ซึ่งมันเป็นสภาพที่เขาคุมไม่อยู่ ซึ่งต่างจากสื่อกระแสหลักที่เขารู้สึกว่าเขาสามารถเรียก บก. มาคุยได้” นายประวิตรกล่าว

นายประวิตรยืนยันต่อข้อเป็นห่วงของทหาร ว่าเขาจะยังแสดงความคิดเห็นต่อไปภายในกรอบที่เขาจะสามารถทำได้ในฐานะสื่อมวลชน และยังได้ฝากความห่วงใยไปถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ใน 3 หัวข้อหลัก คือ หนึ่ง เป็นห่วงการแสดงออกทางอารมณ์ที่อ่อนไหวและแปรปรวนของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องจากนายประวิตรเชื่อว่า การแสดงออกลักษณะนี้ไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของ คสช. และสถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่ สอง เป็นห่วงว่าหากรัฐบาลผิดคำสัญญาเรื่องกรอบเวลาการลงจากอำนาจ (กำหนดเดิมคือ ลงจากอำนาจและเลือกตั้งในปี 2560) จะสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน และ สาม เป็นห่วงเรื่องการใช้กำลังบังคับ จับกุมประชาชนที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หรือแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพราะนายประวิตรเชื่อว่า การดำเนินการรูปแบบนี้กระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาฝ่ายทหารจะพยายามยืนยันว่า การควบคุมตัวแต่ละครั้งไม่มีการใช้ความรุนแรงก็ตาม

“เหตุผลหลักๆ ก็คือคุณไปอุ้มเขากลางคืนแบบนั้น ทำในที่ลับ มันก็ไม่มีความโปร่งใส ทำให้คนรู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกหวาดระแวง และมันก็ไม่ช่วยให้ คสช. คุมสถานการณ์อยู่ได้อย่างราบรื่น เพราะคนเขาก็เชื่อว่า อาจจะมีการใช้ความรุนแรงจริงๆ” นายประวิตรกล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์สอบถามว่า ฝ่ายทหารได้บอกหรือไม่ว่าจะดำเนินการอย่างไร หากนายประวิตรไม่ยอมมาพบกับทหารตามคำเชิญ นายประวิตรตอบว่า

“จริงๆ ยังมีอีก 2 ทางเลือก คือ รอให้เขามาหาที่บ้านหรือที่ออฟฟิศ แล้วผมก็เชื่อว่าบรรยากาศมันคงไม่ดีเท่าไหร่แน่ อีกแบบหนึ่งก็คือหนีไปเลย หนีไปต่างประเทศ ซึ่งหลายคนก็หนี ซึ่งผมยังเชื่อและยังอยากรักษาพื้นที่ที่จะวิพากษ์วิจารณ์ คสช. รายงานข่าวอย่างเท่าทันต่อ คสช.ในเมืองไทย ผมคิดว่าวิธีนี้น่าจะดีที่สุดในสภาพที่เป็นอยู่ก็เลยเลือกแบบนี้”

นายประวิตร โรจนพฤกษ์ อายุ 49 ปี อดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเนชั่น เป็นบุคคลที่เคยถูกคสช.เรียกไปรายงานตัวเพื่อ “ปรับทัศนคติ” และควบคุมตัวในค่ายทหารแล้ว 2 ครั้ง ในเดือนพฤษภาคม 2557 (7 วัน) และเดือนกันยายน 2558 (3 วัน)

นับตั้งแต่การเข้ายึดอำนาจของ คสช. เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีประชาชน สื่อมวลชน นักการเมือง และนักเคลื่อนไหว ถูกเรียกเข้ารายงานตัวต่อ คสช. แล้วหลายคน และบางรายยังอ้างว่า ถูกทหารควบคุมตัวในเวลากลางคืน และถูกทำร้ายร่างกายอีกด้วย ทำให้ผู้มีชื่อเรียกรายงานตัวบางรายเลือกที่จะหนีออกนอกประเทศ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง