สมาคมสื่อมวลชนขอนายกรัฐมนตรียกเลิกคำสั่งควบคุมสื่อ
2016.05.03
กรุงเทพฯ

ในวันอังคาร (3 พฤษภาคม 2559) นี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ร่วมออกแถลงการณ์ ในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิกคำสั่งบางฉบับที่มีเนื้อหาปิดกั้นเสรีภาพสื่อมวลชน
โดยในช่วงเช้าของวันนี้ นายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งได้พบกับนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นเวลาสั้นๆ เพื่อยื่นแถลงการณ์และร้องขอให้นายกรัฐมนตรีตระหนักถึงเสรีภาพของสื่อมวลชน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบข้อเรียกร้องของสื่อมวลชนไทยเกี่ยวกับการยกเลิกคำสั่ง คสช. ว่า จะรับข้อเสนอไปพิจารณา แต่ไม่ได้รับปากว่าจะยกเลิกหรือไม่ โดยกล่าวสั้นๆ ว่า
“เดี๋ยวจะดูให้ ยกเลิกอันนี้ ไปเพิ่มอีกอันก็ได้ ขอให้มีความสุข ประสบความสำเร็จนะ เพื่อบ้านเมือง” นายกรัฐมนตรี กล่าว
แถลงการณ์บางส่วนชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์สื่อมวลชนไทย นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ถูกจำกัดเสรีภาพอย่างมาก เนื่องจากคำสั่ง คสช. หลายฉบับ มีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพ
“สถานการณ์เสรีภาพสื่อฯในปี 2558 ที่ผ่านมาถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากการที่องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporter Sans Frontier) ลดอันดับเสรีภาพสื่อมวลชนไทยจากอันดับ 130 ในปี 2557 ไปสู่อันดับที่ 134 ในปี 2558” เนื้อหาของแถลงการณ์กล่าว
ในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก สื่อมวลชนไทยจึงขอเสนอข้อเรียกร้องต่อผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน สามข้อ คือ ขอให้รัฐบาล คสช.เร่งยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อฯ ทั้งคำสั่งคสช.ฉบับที่ 97/2557 ฉบับที่ 103/2557 และฉบับที่ 3/2558 ข้อ 5 โดยเร็วสอง ขอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศสนับสนุนให้เกิดนโยบายและกฎหมายที่ส่งเสริมให้เกิดระบบกลไกในการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชนที่ดีและมีประสิทธิภาพ และ สาม ขอให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและผู้ประกอบธุรกิจสื่อมวลชนทุกแขนงตระหนักถึงการให้ความสำคัญในการทำหน้าที่เสนอข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้อง ครบถ้วนรอบด้าน ไม่นำเสนอข่าวหรือภาพข่าวที่ที่เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้ง ควรสนับสนุนให้เกิดระบบและกลไกกำกับดูแลกันเองที่มีประสิทธิภาพ
FCCT: สื่อมวลชนไทยมีเสรีภาพมากแค่ไหน?
ในตอนค่ำของวันเดียวกัน ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ได้มีการจัดการเสวนาในหัวข้อ “สื่อมวลชนไทยมีเสรีภาพมากแค่ไหน?” ซึ่งเป็นการเสวนาเกี่ยวกับสถานการณ์เสรีภาพสื่อมวลชนในประเทศไทย หลังจากการเข้ายึดอำนาจโดย คสช. มีผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศ รวมทั้งผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 100 คน
นายนพพร วงศ์อนันต์ สื่อมวลชนอาวุโสจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าวว่า การที่นายกรัฐมนตรีมีรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ซึ่งสามารถสั่งปิดหนังสือพิมพ์ หรือช่องโทรทัศน์ คสช. เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
“ถ้าต้องการจะปฎิรูปประเทศก็ควรเปิดกว้างให้มีการนำเสนอความคิดเห็นอย่างเสรี อย่างไรก็ตาม เราถือว่าเรายังไม่เคยถูกคุกคาม(จากภาครัฐ) อาจมีการติดต่อจากเจ้าหน้ารัฐบาลในบางครั้ง เพื่อให้เรานำเสนอข้อมูลในด้านของพวกเขา” นายนพพรกล่าว
นางกุลชาดา ชัยพิพัฒน์ จากองค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) กล่าวว่า สถานการณ์สื่อมวลชนในประเทศไทยแย่ลงกว่าปีที่ผ่านมา และการต่อต้านอำนาจรัฐไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอ
“เมื่อเปรียบเทียบกันกับประเทศในเอเชียอาคเนย์ ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่แย่ลง ตามมาด้วยมาเลเซีย และในประเทศไทย กลุ่มเสรีภาพสื่อมวลชนอ่อนแอเกินกว่าที่จะต่อสู้กับรัฐบาล” นางกุลชาดากล่าว
ขณะที่นางจีรนุช เปรมชัยพร จากเว็บไซต์ข่าวประชาไทกล่าวว่า รัฐบาลยังคงควบคุมสื่อทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ และเน็ตติเซ่น
“รัฐบาลใช้บทลงโทษตามกฎหมายในการควบคุมสื่อมวลชน และผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ซึ่งบรรณาธิการคนหนึ่ง[สมยศ พฤกษาเกษมสุข]ยังติดคุกอยู่เป็นปีที่ 5 แล้ว เพราะรายงานเนื้อหาที่หมิ่นเหม่ โดยปัจจุบัน เขาได้ยื่นอุทธรณ์แล้ว และจะต่อสู้คดีไปถึงชั้นศาลฎีกา” นางจีรนุชกล่าว
จากสถิติขององค์กร iLaw นับถึงสิ้นเดือน มีนาคม 2559 มีประชาชนถูกเรียกไปรายงานตัวหรือถูกเยี่ยมบ้าน อย่างน้อย 912 คน มีประชาชนถูกจับกุมในยุค คสช.อย่างน้อย 507 คน มีประชาชนถูกตั้งข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 62 คน มีประชาชนถูกตั้งข้อหามาตรา 116 อย่างน้อย 39 คน และมีพลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร อย่างน้อย 157 คน
องค์กรสิทธิมนุษยชนเรียกร้องปล่อยตัว สมยศ พฤกษาเกษมสุข
ขณะเดียวกัน กลุ่มสิทธิมนุษยชน 16 องค์กรทั่วโลกออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัว นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ผู้ต้องขังคดีหมิ่นสถาบันฯ ในโอกาสถูกจำคุกครบ 5 ปี โดยแถลงการณ์ฉบับนี้มีองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติหลายองค์กรร่วมลงนาม อาทิ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ฮิวแมนไรท์วอทช์ สหพันธ์นานาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) กลุ่มผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ในขณะที่คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียได้ออกแถลงการณ์มีเนื้อหาเช่นเดียวกัน
“เราเรียกร้องรัฐบาลไทย ขอให้ยุติการลงโทษนายสมยศ ปล่อยเขากลับคืนสู่ภรรยาและครอบครัวโดยทันที และขอให้รัฐบาลไทยจ่ายค่าชดเชยอย่างเพียงพอ พร้อมดำเนินการเยียวยาอย่างจริงจัง ต่อการลิดรอนอิสรภาพของเขาตามอำเภอใจ” แถลงการณ์ระบุ
นายสมยศถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 หลังเปิดการรณรงค์รวบรวมรายชื่อเรียกร้องการแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์
โดยเมื่อ 23 มกราคม 2556 ศาลอาญากรุงเทพฯได้สั่งจำคุกนายสมยศ ในความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเวลา 10 ปี เนื่องจากเห็นว่า นิตยสารที่เขาเป็นบรรณาธิการได้ตีพิมพ์บทความที่ทางการไทยเห็นว่าดูหมิ่นพระมหากษัตริย์