รองนายกฯ ให้กระทรวงดีอีและตำรวจชี้ข่าวบีบีซีผิดหรือไม่
2016.12.06
กรุงเทพฯ

ในวันอังคาร (6 ธันวาคม 2559) นี้ พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ถึงกรณีการนำเสนอข่าว “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” ของสำนักข่าวบีบีซีไทยว่า รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พิจารณาว่าเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ และกำลังอยู่ในขั้นตอนการเชิญตัวแทนสำนักข่าวบีบีซีเข้าพูดคุยทำความเข้าใจ
พลโทสรรเสริญ เปิดเผยว่า รัฐบาลได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการกับเรื่องนี้แล้ว โดยหากพบว่าการนำเสนอข่าวดังกล่าวเข้าข่ายความผิดจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างไม่เลือกปฎิบัติ
“กระทรวงดีอี และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเมินในเบื้องต้นเห็นว่า เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมที่จะนำเสนออย่างนั้น เนื่องจากทำร้ายความรู้สึกของคนไทย เพราะฉะนั้นในเบื้องต้น เขาดำเนินการปิดเฟซบุ๊คที่ว่าไปแล้ว แล้วท่านรองนายกฯ ประวิตร พิจารณาที่จะมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชิญบีบีซีไทย มาหารือว่าทำอย่างนั้นด้วยเหตุผลอะไร” พลโทสรรเสริญ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์
“เชื่อมั่นว่าทุกคนรู้ว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ ขณะนี้ กำลังตรวจสอบว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ดังนั้น ทางที่ดีอย่าแชร์ต่อ ถ้าท่านแชร์ต่อหรือท่านกดไลค์หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็แสดงว่าท่านสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งดีอี กับ สตช. จะให้คำตอบท่านรองนายกฯ ว่าผิดหรือไม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตำรวจเขาดูที่เจตนา” พลโทสรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติม
พลโทสรรเสริญ ชี้แจงว่า หากประชาชนเผยแพร่ข่าวดังกล่าวต่อ โดยเจตนาที่จะให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นก็อาจถือว่าไม่มีความผิด แต่ถ้าหากพบว่ามีเจตนาที่จะกระจายข้อมูลที่ไม่ถูกต้องดังกล่าวต่อก็อาจมีความผิด
รายงานข่าวเรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” ซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์-วิจารณ์ ถูกเผยแพร่ผ่านหน้าเฟซบุ๊คแฟนเพจสำนักข่าวบีบีซีไทย (BBC Thai) ในช่วงกลางดึกของคืนวันพฤหัสบดี-ศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งแม้รายงานชิ้นดังกล่าวมีผู้กดถูกใจกว่า 27,000 คน และถูกเผยแพร่ต่อกว่า 2,500 ครั้ง แต่ขณะเดียวกันก็ถูกกล่าวถึงบนสังคมออนไลน์ว่า เป็นรายงานข่าวที่เขียนอย่างมีอคติ มีการใส่ข้อมูลซึ่งเป็นข่าวลือปะปนกับข้อเท็จจริง รวมไปถึงนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงด้วย
ในช่วงเช้าของวันเดียวกัน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความเห็นต่อผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลถึงกรณีการจับกุมตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่อีสาน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากที่นายจตุภัทร์ได้เผยแพร่รายงานข่าวภาษาไทยเรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” ของสำนักข่าวบีบีซีไทย บนเฟซบุ๊คส่วนตัว โดยรองนายกรัฐมนตรีระบุว่า หากพบว่ากระทำผิดจริงต้องตามกฎหมาย และจะไม่เลือกดำเนินคดีกับบุคคุลใดบุคคลหนึ่งเป็นพิเศษ
“อะไรที่มันผิดกฎหมายก็ทำหมด ที่ทำให้เกิดความเสียหายนะ ในข้อกฎหมาย ทุกอย่างเจ้าหน้าที่ผมบอกไปแล้วต้องทำตามกฎหมาย ไม่ปล่อยไว้ ไม่เลือกปฎิบัติ” พลเอกประวิตรกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรกับการนำเสนอข่าวในประเด็นอ่อนไหวของสำนักข่าวต่างประเทศ พลเอกประวิตรตอบว่า กระบวนการทำความเข้าใจมีเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่ดำเนินการอยู่แล้ว แต่โดยส่วนตัวยังไม่ทราบข้อมูล
“ในภาพรวมเขาก็คงต้องดำเนินการเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ มีเจ้าหน้าที่อยู่หลายฝ่ายที่จะต้องดำเนินการ เพราะว่าข่าวจริงไม่จริงไม่รู้ ผมไม่ทราบเหมือนกัน” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว
ในวันนี้ ผู้สื่อข่าวของบีบีซีในกรุงเทพรายหนึ่ง กล่าวว่าได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปหน้าสำนักงานของบีบีซีที่อาคารมณียา ใกล้แยกราชประสงค์ แต่ไม่ได้เข้ามีการติดหมายใดๆ และไม่ได้เข้าไปในสำนักงาน
ส่วนเมื่อวานนี้ สำนักข่าวบีบีซี กล่าวปกป้องรายงานข่าวของบีบีซีภาคภาษาไทย เรื่อง “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย”
"บีบีซีไทย ก่อตั้งขึ้นเพื่อเสนอข่าวที่เป็นกลาง เป็นอิสระ และถูกต้อง ในประเทศที่สื่อเผชิญกับข้อจำกัดมากมาย และเรามีความมั่นใจว่าการรายงานข่าวเรื่องนี้ เป็นไปตามหลักการของกองบรรณาธิการของบีบีซี ซึ่งเราจะไม่ขอแสดงความคิดเห็นเป็นรายกรณี แต่เราจะทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ เพื่อความปลอดภัยของพนักงานบีบีซีทุกคนทั่วโลก" ชาร์ล็อต มอร์แกน โฆษกสำนักข่าวบีบีซี ประจำกรุงลอนดอน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางอีเมล
ด้านนายสุทิน วรรณบวร คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์แนวหน้า กล่าวในวันนี้ว่า บีบีซี ไม่ควรรายงานข้อมูลที่ไม่มีพื้นฐานข้อเท็จจริง
“บีบีซี มีอคติกับสถาบัน ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย บีบีซี เป็นสำนักข่าวที่ได้รับความเชื่อถือมานาน ไม่ควรเสนอรายงานที่มีพื้นฐานมาจากข่าวลือ และไม่มีแหล่งข่าวอ้างอิง” นายสุทิน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
นอกจากนั้น ในก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้ประกาศเรียกร้องให้ประชาชนไทยร่วมลงชื่อในเว็บไซต์ www.change.org เพื่อรวบรวมและส่งต่อให้กับสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เพื่อแจ้งให้สำนักข่าวบีบีซีประเทศอังกฤษแก้ไขต่อการนำเสนอข่าวดังกล่าวของบีบีซีไทย โดยปัจจุบัน มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วเกือบสองพันรายชื่อ