กลุ่มสนับสนุนเสรีภาพสื่อคัดค้านกฎเกณฑ์ของไทยในการออกวีซ่าแก่สื่อต่างชาติ
2016.02.20

กลุ่มสนับสนุนเสรีภาพสื่อกล่าวเตือนว่า ข้อจำกัดใหม่เกี่ยวกับวีซ่าของไทยสำหรับสื่อต่างชาติ อาจสร้างความลำบากยิ่งขึ้นแก่ผู้สื่อข่าวที่รายงานข่าวเกี่ยวกับประเทศไทย ทำให้รัฐบาลไทยต้องออกมาชี้แจงทันทีเมื่อวันศุกร์
ก่อนหน้านี้เมื่อวันศุกร์ คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (Committee to Protect Journalists หรือ CPJ) ได้ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่งแสดงความกังวลว่า รัฐบาลทหารของไทยจะมี “อำนาจใหม่ในการตัดสินใจปฏิเสธการออกวีซ่าแก่ผู้สื่อข่าวที่รัฐบาลเห็นว่า มีผลงานหรือพฤติกรรม “ที่รบกวนความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือความมั่นคงของราชอาณาจักร”
CPJ แสดงปฏิกิริยาต่อนโยบายใหม่ในการออกวีซ่าแก่ผู้สื่อข่าวต่างชาติ ซึ่งประกาศโดยกระทรวงการต่างประเทศหนึ่งวันก่อนหน้านั้น
คณะกรรมการฯ กล่าวว่า ข้อจำกัดใหม่นี้คล้ายกันกับการที่รัฐบาลทหารห้ามสื่อไทย “เสนอข่าวใดก็ตามที่อาจ ‘บั่นทอนความมั่นคงของสังคม’ หรือ ‘ก่อให้เกิดการแบ่งแยกทางการเมือง’
CPJ ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ข้อกำหนดใหม่เกี่ยวกับการที่ผู้สื่อข่าวที่มีวีซ่ารหัส M (สื่อ) ต้องทำงานประจำกับสำนักข่าวที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง หรือต้องรายงานข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยโดยเฉพาะ อาจทำให้ช่างภาพและผู้สื่อข่าวอิสระที่ทำงานในประเทศไทยมานานแล้ว ต้องออกจากประเทศไทย
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังต้องต่ออายุวีซ่ารหัส M ทุกปี และถูกตรวจสอบมากขึ้นในการสมัครขอต่ออายุวีซ่า นับแต่ที่รัฐบาลทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 CPJ กล่าว การตรวจสอบที่เพิ่มขึ้นนี้ รวมถึงการต้องถูกสัมภาษณ์ และอาจถูกถามความคิดเห็นส่วนตัวที่มีต่อรัฐบาลทหาร ระบอบกษัตริย์ และผู้สื่อข่าวต่างประเทศคนอื่น ๆ
ปฏิกิริยาตอบโต้ของประเทศไทย
คำแถลงการณ์ชี้แจงของรัฐบาลไทยกล่าวว่า ณ เดือนมกราคม พ.ศ. 2559 มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศจำนวนกว่า 500 คน ที่ยื่นคำร้องขอวีซ่ารหัส M กับกระทรวงการต่างประเทศ และเพียงไม่เกินร้อยละ 5 (25 ราย) จะถูกตัดสินว่าไม่มีสิทธิสมัครขอวีซ่าประเภทนี้
รัฐบาลอ้างว่า ระเบียบข้อปฏิบัติใหม่นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความชัดเจนในการจำแนกผู้สื่อข่าวที่มีสิทธิสมัครขอวีซ่าสำหรับสื่อ เนื่องจากปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงและการขยายตัวของสื่อออนไลน์
“นักหนังสือพิมพ์ ผู้สื่อข่าว และผู้สื่อข่าวอิสระ ที่ทำงานกับสำนักข่าวที่จดทะเบียนกับหน่วยงานที่ถูกต้องของรัฐบาลไทยหรือรัฐบาลต่างประเทศ จะไม่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดใหม่นี้” คำแถลงการณ์นั้นกล่าว
ข้อปฏิบัติใหม่นี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อ “ยับยั้ง ห้าม หรือจำกัดการรายงานข่าวของสื่อต่างชาติ หรือชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย” คำแถลงการณ์นั้นเสริม
รัฐบาลไทยยังอ้างด้วยว่า ผู้สื่อข่าวที่ไม่มีสิทธิได้รับวีซ่ารหัส M จะได้รับคำแนะนำให้สมัครขอวีซ่าประเภทอื่นที่เหมาะสม
โดยยกตัวอย่างช่างภาพชาวต่างชาติที่ไม่มีสิทธิ์รับวีซ่ารหัส M แต่อาจได้รับคำแนะนำให้สมัครขอวีซ่ารหัส B (ธุรกิจหรือทำงาน) สำหรับช่างภาพอิสระที่ต้องใช้บัตรสื่อมวลชนในการทำงานถ่ายภาพให้แก่สำนักข่าว กระทรวงการต่างประเทศจะได้รับใบสมัคร และแจ้งหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยให้ออกบัตรดังกล่าวให้ คำแถลงการณ์นั้นกล่าว
กฎเกณฑ์ใหม่นี้อาศัยผลการสำรวจเกี่ยวกับข้อกำหนดเรื่องวีซ่าของประเทศอื่น ๆ การพูดคุยกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศ และการประชุมกับผู้บริหารของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย
CPJ คัดค้านคำแถลงการณ์ของรัฐบาลที่ว่า กฎเกณฑ์ใหม่นี้มีขึ้นเพื่อรองรับสื่อในหลากรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป
“เห็นได้ชัดว่า ข้อจำกัดใหม่เหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดจำนวนสื่อต่างชาติลง และขัดขวางการรายงานข่าวของสื่อต่างชาติเกี่ยวกับรัฐบาลทหารของไทยที่ลิดรอนสิทธิ์ของประชาชน” ชอน คริสพิน ผู้แทนอาวุโสของ CPJ ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวในข่าวแจกฉบับหนึ่ง
“นี่เป็นวิธีง่าย ๆ ที่ต้องการก่อให้เกิดความกลัว และส่งเสริมการตรวจตราพิจารณาข่าวสารของตัวเอง และถ้านำไปใช้อย่างเข้มงวดแล้วล่ะก็ อาจทำให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับประเทศปิดบางประเทศในภูมิภาคนี้ที่เป็นเผด็จการสุด ๆ”