กลุ่มสนับสนุนสื่อแสดงความกังวลต่อมาตรการพิจารณาการให้วีซ่าผู้สื่อข่าวที่เข้มงวด
2016.03.11
กรุงเทพฯ

องค์กรผู้ให้การสนับสนุนวิชาชีพสื่อมวลชนต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทยกล่าวว่า มาตรการที่เข้มงวดที่ทางกระทรวงต่างประเทศจะนำมาใช้ในการพิจารณาการออกวีซ่าสื่อมวลชน (non-immigrant M) ในวันที่ 21 มีนาคมนี้ จะส่งผลให้สื่อข่าวบางส่วนต้องสูญเสียอาชีพ
ตามข่าวสารที่เผยแพร่ทางเวบไซต์ของกระทรวงต่างประเทศ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ศกนี้ ตัวเลขของผู้ขอวีซ่าผู้สื่อข่าวมีมากกว่า 500 คน นับถึงวันที่ 16 มกราคม
โจนาธาน เฮด ประธานคณะกรรมการฝ่ายวิชาชีพสื่อมวลชน สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า มีจำนวนหนึ่งที่เป็นนักข่าวอิสระ ซึ่งมีความอ่อนไหวที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการใหม่นี้
ชอน คริสปิน เจ้าหน้าที่อาวุโสของ คณะกรรมการปกป้องสื่อมวลชนในเอเชียอาคเนย์ (Committee to Protect Journalist in Southeast Asia -- CPJ) กล่าวว่า ในการแสดงความกังวลในเรื่องนี้ต่อหน้าเจ้าหน้าที่การทูตต่างชาติว่า เกณฑ์พิจารณาการออกวีซ่าของกระทรวงต่างประเทศจะทำให้ “ผู้สื่อข่าวอ่อนด้อยลง”
“ถ้าหากมีการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวอย่างเข้มงวด จะไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะทำให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่เข้มแข็งอ่อนด้อยลง และเป็นการลดปริมาณรายงานข่าวที่มีการวิจารณ์รัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีการลิดรอนสิทธิสื่อมวลชน” ชอน กล่าวในแถลงการณ์ที่แจกจ่ายให้ผู้สื่อข่าว ในวันศุกร์นี้
เขากล่าวว่ามาตรการบางประการที่จะทำให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศประสบปัญหาคือ ข้อกำหนดที่ให้สื่อมวลชนต้องทำงานเต็มเวลากับองค์กรข่าวที่จดทะเบียนถูกต้อง และการที่กระทรวงต่างประเทศมีอำนาจในการพิจารณางดการออกวีซ่าให้แก่สื่อมวลชน ที่รายงานข่าวที่มีเนื้อหาให้เกิดความปั่นป่วน
ชอน คริสปิน ยังได้กล่าวแย้งกระทรวงต่างประเทศว่า ประเทศไทยควรจะสนับสนุนผู้สื่อข่าวอิสระ แทนที่จะวางมาตรการที่มีผลกระทบต่อจำนวนของผู้สื่อข่าวอิสระ เพราะว่าในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน องค์กรข่าวได้ลดการจ้างงานผู้สื่อข่าวเต็มเวลา “ถ้าประเทศไทยจะก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกสื่อมวลชน ประเทศไทยควรจะสนุบสนุนและให้การปกป้องผู้ส่อข่าวอิสระ ไม่ใช่ไปเข้มงวดกับพวกเขา” ชอนกล่าวในคำแถลงการณ์
กระทรวงการต่างประเทศไทย ได้เอื้ออำนวยสื่อมวลชนต่างประเทศที่ต้องการทำงานในประเทศไทยด้วยการออกวีซ่าให้สื่อมวลชน พร้อมทั้งออกหนังสือ เพื่อขอการอำนวยความสะดวกจากกรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานตรวคนเข้าเมือง และกระทรวงแรงงาน ในการออกบัตรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ต่ออายุวีซ่า ออกใบอนุญาตตามลำดับได้โดยสะดวก
ส่วนการขอวีซ่าธุรกิจนั้น โจนาธานกล่าวว่า ยังไม่แน่ว่าผู้สื่อข่าวอิสระจะขอให้ได้หรือไม่ และยังกล่าวว่า กระทรวงต่างประเทศ ให้เหตุผลสามประการในการวางเงื่อนไขที่เข้มงวดขึ้น คือ หนึ่ง การลดปริมาณงานในการพิจารณาวีซ่า สอง การกวดขันกับผู้ที่ไม่ได้เป็นสื่อมวลชนที่แท้จริง และสาม การเล็งเป้าไปที่ผู้สื่อข่าวที่วิจารณ์รัฐบาล
“ปัญหาก็คือเราเข้าใจถึงจุดประสงค์ต่อกฎเกณฑ์ใหม่นี้” โจนาธานกล่าวในวันศุกร์นี้
ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ กระทรวงต่างประเทศได้ชี้แจงระเบียบการขอวีซ่าสื่อมวลชนว่า เป็นการนำระเบียบที่มีความชัดเจนมาใช้ในการจัดหมวดหมู่ผู้ที่มีสิทธิ์ขอวีซ่าสื่อมวลชน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงในโลกของสื่อมวลชนในปีที่ผ่านมา รวมทั้งการที่มีจำนวนสื่อ และ สื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น
“อย่างไรก็ตาม ระเบียบใหม่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการเข้มงวด ห้าม หรือลิดรอนการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน รวมทั้งชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย นักข่าว ผู้สื่อข่าว และผู้สื่อข่าวอิสระ ที่ทำงานให้กับองค์กรข่าวที่มีการจดทะเบียนถูกต้องกับรัฐบาลไทย หรือกับรัฐบาลต่างประเทศ จะไม่ได้รับผลกระทบ” แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศกล่าว
โจนาธาน กล่าวว่า ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา มีผู้สื่อข่าวอิสระได้โทรศัพท์มาหาตนกว่าสิบราย ว่าถูกปฏิเสธการขอหรือการต่อวีซ่าสื่อมวลชน
“บางคนอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน กระทรวงการต่างประเทศได้แนะนำเขาให้ขอวีซ่าธุรกิจแทน เขาอาจจะขอได้ แต่ถ้าไม่ได้ พวกเขามีเวลาเพียงเล็กน้อยในการแก้ไขปัญหา มีเวลาเพียงแค่สามเดือน และถ้าเขาขอวีซ่าอื่นแทนไม่ได้ เขาต้องออกจากประเทศไทย” โจนาธานกล่าว
นับตั้งแต่การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้มงวดกับสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศ สำหรับนักข่าวไทย มีอยู่อย่างน้อย 4 รายที่ถูกทหารนำไปปรับทัศนคติ