ป.ป.ช. ไม่รื้อคดีสลายม็อบเสื้อแดง ปี 53 ข้อกล่าวหาไม่มีมูล
2018.06.22
นนทบุรี

ในวันศุกร์นี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติไม่นำคดีสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ปี 2553 ซึ่งทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 99 ราย กลับมาดำเนินการอีกครั้ง ตามที่แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นผู้ส่งหนังสือร้อง เนื่องจากเห็นว่าข้อร้องเรียนไม่มีมูล
นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายวรัญชัย โชคชนะ สามแกนนำ นปช. ได้ยื่นหนังสือร้องขอให้ ป.ป.ช. ทบทวนคดีสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง เนื่องจากเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ศาลฎีกาพิพากษาได้ยืนตามศาลอุทธรณ์ที่มีคำสั่งไม่รับฟ้องคดี เพราะการที่ดีเอสไอสอบสวนแล้วสรุปสำนวนส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลอาญานั้น ไม่เป็นไปตามกระบวนการ และช่องทางตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
การแถลงครั้งนี้ จัดขึ้นที่สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนสนามบินน้ำ อ.เมือง จ.นนทบุรี โดยเป็นการพิจารณาข้อเสนอที่แกนนำ นปช. ให้ทบทวนใน 4 ประเด็น โดยสรุป คือ 1. เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธสงครามกระสุนจริง และยุทธวิธีการซุ่มยิงถูกต้องหรือไม่ 2. รัฐบาลไม่ยกเลิกการปฏิบัติในทันที เมื่อรับทราบการเสียชีวิตของประชาชน และดำเนินการยุทธวิธีเต็มรูปแบบ 3. การอ้างว่ามีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนในกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นการอ้างโดยมิได้มี หลักฐานใดๆ รองรับ และ 4. กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่รอบคอบ ไม่ถูกต้อง ไม่น่าเชื่อถือ และสองมาตรฐาน หากเทียบกับเหตุการณ์สลายชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตุลาคม 2551
ในวันนี้ นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยระบุว่า ป.ป.ช. ไม่ทบทวนคดีดังกล่าว เนื่องจากพบว่าหลักฐานที่ยื่นทบทวนไม่มีมูลเพียงพอ
“ข้อเท็จจริงตามคำสั่งของศาลว่าเป็นช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. จึงมีเหตุจำเป็นที่ศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืน” นายวรวิทย์กล่าว
“มีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. จึงจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการสลายการชุมนุม เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยมีอาวุธติดตัว หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้เพื่อระงับยับยั้งได้ไปตามสถานการณ์หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเองได้ อันเป็นไปตามหลักสากล” นายวรวิทย์ ระบุในตอนหนึ่ง
นายวรวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ป.ป.ช. จะได้ส่งข้อมูลการพิจารณาทั้งหมดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการต่อ ซึ่งหลังจากนี้ ป.ป.ช. จะไม่ปิดโอกาสฝ่ายต่างๆ ในการนำเสนอหลักฐานที่เกี่ยวกับคดีนี้ หากเห็นว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ และมีนัยยะสำคัญ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ป.ป.ช.จะนำมาพิจารณา
ด้านนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ แกนนำ นปช. ซึ่งเดินทางมาร่วมฟังการแถลงของ ป.ป.ช. กล่าวต่อนายวรวิทย์ว่า การยื่นเรื่องของ นปช. ครั้งนี้ เพื่อให้คดีถูกนำขึ้นสู่กระบวนการศาล แต่จากมติของ ป.ป.ช. ทำให้รู้สึกว่า นปช. ไม่ได้รับความยุติธรรม อย่างไรก็ตามจะมีการดำเนินการต่อสู้เรื่องนี้ต่อ โดยจะมีการรวบรวมรายชื่อประชาชนให้ครบ 2 หมื่นรายชื่อ เพื่อนำเสนอเรื่องให้กับประธานรัฐสภา หรือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ
“ความสงบสุขของบ้านเมือง มันสร้างได้ด้วยการยิงคนมือเปล่าตายเกือบร้อยศพจริงหรือ ความสงบสุขของบ้านเมืองมันเกิดขึ้นเพราะคนตายเกือบร้อยศพ แล้วคดีไม่ถึงศาล มันสงบได้จริงหรือ ผมไม่อาจยอมรับได้ ผมพูดด้วยว่าเป็นมนุษย์ ที่มาไม่ได้แค้นนายอภิสิทธ์และนายสุเทพ ไม่ได้มาเพราะอาฆาตใครก็ตามที่ทำให้เกิดเหตุ แต่มาเพราะต้องการคำตอบจากประเทศนี้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นผมต้องตามหาความยุติธรรมที่ไหน” นายณัฐวุฒิกล่าว
ม็อบ นปช. ขับไล่อภิสิทธิ์
ในปี 2552 ถึง 2553 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ได้เดินขบวนประท้วงรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตามสถานที่สาธารณะต่างๆ เพื่อกดดันให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภา
นปช. ตั้งข้อสงสัยว่ากองทัพเป็นองค์กรที่อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งทำให้ที่มาของรัฐบาลมีความไม่ชอบธรรม เพราะในตอนนั้น เมื่อมีการยุบพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพรรครัฐบาล มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนขั้วทางการเมืองของอดีตสมาชิกพรรค จนทำให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลผสมซึ่งเป็นพรรคที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งโดยเสียงส่วนมาก และพรรคประชาธิปัตย์สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
เมื่อข้อเรียกร้องไม่เป็นผล นปช. จึงเริ่มชุมนุมครั้งใหญ่ที่สี่แยกประสงค์ ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพื่อควบคุมสถานการณ์ และ ศอฉ. เริ่มอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธสงครามยิงเข้าใส่บริเวณที่มีผู้ชุมนุมอาศัยอยู่ โดยให้เหตุผลว่า ในกลุ่มผู้ชุมนุมมีกองกำลังไม่ทราบฝ่าย หรือชายชุดดำแฝงตัว และใช้อาวุธโจมตีใส่เจ้าหน้าที่
การโจมตีจากฝ่ายทหารใส่บริเวณที่มีผู้ชุมนุมอาศัยอยู่ซึ่ง ศอฉ. ระบุว่าเป็นการ “กระชับพื้นที่” หรือ “ขอคืนพื้นที่” ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 1.2 พันราย และมีผู้ประท้วงและสื่อมวลชนเสียชีวิต 99 ราย และฝ่ายเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 9 ราย จนกระทั่ง แกนนำ นปช. ต้องประกาศยุติการชุมนุม ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เพื่อหยุดการสูญเสีย
เมื่อปี 2555 ดีเอสไอ รับคดีสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เป็นคดีพิเศษ โดยได้ทำการสอบสวนและส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 2 ต่อศาลอาญาในข้อหา “ร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล” ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 288 ซึ่งมีโทษสูงสุดคือ จำคุกตลอดชีวิต
28 สิงหาคม 2557 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า การกระทำของนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ จำเลยที่ 1-2 เป็นการกระทำที่เกี่ยวพันกับการที่จำเลยทั้งสองใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งผู้อำนวยการ ศอฉ. ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ
ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับฟ้อง ซึ่งศาลฎีกา ก็ได้มีคำพิพากษายืน เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560