3 ภรรยาของผู้ถูกบังคับให้สูญหายเล่าถึงความทุกข์ใจแห่งความสูญเสีย
2016.12.19
กรุงเทพฯ

สิบสองปีแล้วที่ทนายสมชาย นีละไพจิตรหายตัวไปบนถนนรามคำแหง สี่ปีที่ท้าวสมบัด สมพอน เดินทางกลับบ้านแต่ไม่ถึงบ้าน และ สองปีที่ บิลลี่-นายพอละจี รักจงเจริญ ไม่ได้กลับมาพบหน้าลูกและภรรยาอีก หลังจากเข้าป่าไปเก็บน้ำผึ้ง การหายตัวไปของพวกเขาเหล่านั้น นำมาซึ่งความทุกข์ใจของผู้เป็นภรรยา และแม้พวกเธอจะพยายามเรียกร้องหาคำอธิบายจากหน่วยงานรัฐเพียงใด จนบัดนี้ ก็ยังไม่ได้รับคำอธิบายอันเป็นที่น่าพอใจ
ในวันจันทร์(19 ธันวาคม 2559)นี้ นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมซึ่งถูกบังคับขึ้นรถยนต์คันหนึ่งบนถนนรามคำแหงและหายตัวไปในวันที่ 12 มีนาคม 2547 นางเอ็ง ชุ่ยเหม็ง ภรรยาของท้าวสมบัด สมพอน นักพัฒนาชาวลาว รางวัลรามอน แมกไซไซ ซึ่งถูกพาตัวขึ้นรถคันหนึ่งระหว่างที่เขากำลังเดินทางจากที่ทำงานกลับบ้าน ในวันที่ 15 ธันวาคม 2555 และนางพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่-นายพอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย เพชรบุรี ซึ่งหายตัวไปในวันที่ 17 เมษายน 2557 หลังจากเข้าป่าไปเก็บน้ำผึ้ง ถูกเชิญมาเป็นผู้พูดหลักในงานเสวนา “สมบัด สมพอน และความโหดร้ายของการบังคับสูญหาย” ซึ่งจัดขึ้นที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เพื่อถ่ายทอดความรู้สึก และประสบการณ์ของผู้ที่ต้องตกเป็นผู้สูญเสียจากการที่คนรักถูกทำให้สูญหาย
นางเอ็ง ชุ่ยเหม็ง ภรรยาชาวสิงคโปร์ของท้าวสมบัด สมพอน กล่าวว่า ทั้งตนเอง นางอังคณา และนางพิณนภา ต่างเป็นเหยื่อของการบังคับสูญหาย เป็นผู้ที่พยายามเรียกร้องหาความจริงและตามหาคนรัก และเป็นผู้ที่เข้าใจดีที่สุด ถึงความเจ็บที่ต้องสูญเสียคนใกล้ชิดไป
“พวกเราคือภาพของความเจ็บปวด และความทุกข์ ความทุกข์ที่ถ้าไม่เกิดกับคนใกล้ชิดของคุณ คุณจะไม่มีทางเข้าใจ” นางเอ็ง ชุ่ยเหม็งกล่าว
หลังจากที่ท้าวสมบัด สมพอนหายตัวไปไม่นาน มีการเผยแพร่ภาพจากกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่บนถนนท่าเดื่อ ในนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งบันทึกภาพรถยนต์ส่วนตัวของท้าวสมบัดที่ถูกเรียกให้จอดที่ป้อมตำรวจริมถนน และท้าวสมบัดถูกเชิญตัวเข้าไปในป้อมดังกล่าว จากนั้นมีชายคนหนึ่งเข้าไปขับรถของท้าวสมบัดออกไป ในเวลาไม่นานท้าวสมบัดก็ถูกพาตัวออกจากป้อมไปขึ้นรถกระบะอีกคันที่จอดรออยู่ และรถกระบะคันดังกล่าวก็เคลื่อนผ่านกล้องไป ภาพวิดีโอนี้กลายเป็นหลักฐานสุดท้ายของการหายตัวไป
ด้านนางพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่-นายพอละจี รักจงเจริญ เปิดเผยว่า สามีของเธอเป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง มีบัตรประชาชนถูกต้องตามกฎหมาย มีสิทธิ มีเสียงอย่างคนไทยคนอื่นๆ ก่อนการหายตัวไป บิลลี่เป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงคนอื่นๆ ในเรื่องสิทธิเป็นประจำ ในฐานะสมาชิกครอบครัวบิลลี่เป็นกำลังหลักในการหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว การหายตัวไปของบิลลี่ จึงส่งผลกระทบกับเธอมาก
“หลังจากที่บิลลี่หายไป ชีวิตก็เหมือนกับว่าจากคนหนึ่งกลายเป็นอีกคนหนึ่งเลย ชีวิตก็มีความลำบากต้องทำทุกอย่างที่ทำได้ ต้องดูแลลูก 5 คนกับ พ่อ-แม่ 2 คนซึ่งเป็นผู้สูงอายุ ต้องดูแลครอบครัว ต้องเป็นพ่อและแม่ของลูก จากที่ไม่เคยเข้าเมือง ไม่เคยเดินทาง แต่ตอนนี้ชีวิตกลายเป็นคนที่มีงานเยอะมาก ไม่ค่อยมีเวลาอยู่บ้านเลย” นางพิณนภากล่าว
17 เมษายน 2557 บิลลี่หายตัวไปหลังจากที่เข้าป่าเพื่อไปเก็บน้ำผึ้ง และอยู่ระหว่างการเตรียมตัวที่จะขึ้นให้การต่อศาลในคดีรื้อและเผาบ้านกะเหรี่ยงซึ่งมีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน(ในขณะนั้น)เป็นหนึ่งในจำเลยคดีดังล่าว และนายชัยวัฒน์ กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของอุทยานฯแก่งกระจาน 3 คน ก็ถูกกล่าวหาอีกครั้งว่าเป็นผู้มีส่วนรู้เห็นในการหายตัวไปของบิลลี่ เนื่องจากในวันที่บิลลี่หายตัวไปนั้นมีหลักฐานว่า เจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ควบคุมตัวบิลลี่เอาไว้ แม้ภายหลังจะยืนยันว่า ได้ปล่อยตัวบิลลี่ออกไปแล้วก็ตาม แต่กลับไม่มีใครพบเห็นบิลลี่อีกหลังจากวันนั้น
นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตนางพยาบาลผู้เป็นภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตรกล่าวว่า ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา เธอใช้ความพยายามอย่างมากในเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐนำตัวผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของสามีมาลงโทษ การเรียกร้องของเธอไม่ใช่เพียงเพื่อครอบครัวของเธอเท่านั้น แต่เธอพยายามเรียกร้องให้กับครอบครัวของเหยื่อการบังคับสูญหายทุกคน แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล
“ในปี 2555 รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จ่ายเงินเยียวยาให้กับครอบครัวของฉัน แต่ตัวเงินไม่ได้ช่วยอะไร อาจจะทำให้ครอบครัวของฉันสบายขึ้น มีบ้านหลังใหญ่ขึ้น แต่ถ้าหากมันไม่ได้ทำให้เรารู้ความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น เงินเยียวยาก็ไม่ช่วยอะไร และที่สำคัญที่สุดหากครอบครัวผู้สูญหายไม่ได้รู้ความจริง เราจะสามารถหยุดการบังคับสูญหายในประเทศของเราได้อย่างไร” นางอังคณากล่าว
ในปี 2547 ทนายสมชาย นีละไพจิตรได้ให้การช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้ต้องหา 5 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายมูจาฮีดีน ซึ่งทั้ง 5 คนเปิดเผยว่า จำเป็นต้องยอมรับข้อกล่าวหาดังกล่าวในชั้นสืบสวน เนื่องจากถูกตำรวจข่มขู่ และกระทำทารุณกรรม ในวันที่ 12 มีนาคม ปีเดียวกัน ระหว่างที่ทนายสมชายเดินทางด้วยรถยนต์บนถนนรามคำแหงเพื่อมุ่งหน้าไปยังบ้านของคนรู้จัก เมื่อถึงบริเวณใกล้กับปากซอยรามคำแหง 69 ทนายสมชายถูกกลุ่มบุคคลใช้กำลังนำตัวขึ้นรถ และหลบหนีไป
นางเอ็ง ชุ่ยเหม็ง และนางอังคณา นีละไพจิตรแสดงความเห็นตรงกันว่า การต่อสู้กับการบังคับสูญหายจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากสังคม และสื่อมวลชน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้สังคมตระหนักรู้ถึงความเลวร้ายของการบังคับสูญหาย ซึ่งสื่อมวลชน เป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนความรู้ความเข้าใจดังกล่าวออกไปสู่สังคมในวงกว้าง
“ความกลัวที่น่ากลัวที่สุดของเหยื่อการบังคับสูญหายคือ ความกลัวที่ว่าเรื่องราวชีวิตของผู้สูญหายและครอบครัวจะสาบสูญจากหน้าสื่อ และความตระหนักรู้ของสังคม ดังนั้นฉันจึงอยากจะขอร้องให้สื่อมวลชน และทุกท่านในทีนี้ ได้โปรดอย่าลืมพวกเรา” นางเอ็ง ชุ่ยเหม็งกล่าวทิ้งท้ายการเสวนา