องค์กรสิทธิมนุษยชนสากล ออกแถลงการณ์ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. เลขที่ 13/2559

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.04.05
กรุงเทพ
TH-ngos-620 ทหารในพิธีเดินแถว เนื่องในวันกองทัพไทย จังหวัดนราธิวาส วันที่ 18 มกราคม 2559
เอเอฟพี

ในวันอังคาร (5 เม.ย. 2559) นี้ องค์กรสิทธิมนุษยชนสากลได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิกคำสั่งเลขที่ 13/2559 เนื่องจากเชื่อว่า เป็นคำสั่งที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการบุกตรวจค้น และยึดทรัพย์สินบุคคลได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งศาลเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้อำนาจตามคำสั่งนี้อาจนำไปสู่การบังคับสูญหาย

ซึ่งองค์กรต่างๆ 6 แห่ง ประกอบด้วย องค์การคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) ฮิวแมนไรตส์วอตช์ (Human Rights Watch หรือ HRW) องค์กรนิรโทษำรรมสากล (Amnesty International หรือ AI) สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Forum for Human Rights and Development หรือ Forum Asia) สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH -International Federation for Human Rights) และ ฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights หรือ FR)

ข้อความในแถลงการณ์บางตอนระบุว่า เจ้าหน้าที่สามารถตรวจค้นเคหสถานหรือสถานที่ใดๆ รวมถึงพาหนะของผู้ต้องสงสัยที่อาจกระทำความผิด และสามารถยึดทรัพย์สินของผู้ต้องสงสัยได้ โดยการกระทําตามคําสั่งนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วย วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งหมายความว่าเจ้าหน้าที่สามารถเข้าตรวจค้นได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งศาล ซึ่งคำสั่งนี้ เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2559

โดยแถลงการณ์ได้ระบุว่า คำสั่ง คสช. เลขที่ 13/2559 เรื่องการป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อย หรือบ่อนทําลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ส่งผลให้เกิดข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนหลายประการ รวมทั้ง

หนึ่ง การมอบอำนาจให้เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้พ้นจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี อันส่งผลให้เกิดการลอยนวลเมื่อกระทำผิด นับว่าขัดต่อหลักการว่าด้วย ความรับผิดตามหลักนิติธรรม

“แทนที่จะเดินหน้าสู่เส้นทางประชาธิปไตย เผด็จการทหารกลับเพิ่มอำนาจให้พวกตัวเองสามารถทำอะไรก็ได้ที่ต้องการ แม้กระทั่งการคุกคามโดยไม่ต้องเกรงกลัวต่อโทษทางกฎหมาย การปราบปราบกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นรายวัน คล้ายกับประเทศกำลังเดินหน้าสู่ระบอบเผด็จการ” แบรด อดัมส์ จาก HRW กล่าว

สอง การปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบโดยอำนาจศาล ซึ่งขัดกับสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาอย่างเป็นผล สิทธิที่จะให้ศาลมีอำนาจตรวจสอบการละเมิดเสรีภาพ และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ซึ่งได้รับการรับรองตามข้อ2, 9 และ 14 ของ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR)

“คำสั่งดังกล่าวคือ ตัวอย่างของการจำกัดอำนาจตุลาการในการตรวจสอบการปฎิบัติงานของกองทัพ เป็นการทำลายอำนาจในการปกป้องสิทธิ และหลักกฎหมาย” แชมพา พาเทล จาก AI กล่าว

สาม การให้อำนาจบังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างขวาง และคลุมเครือแก่เจ้าพนักงานทหารที่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรม ย่อมมีแนวโน้มนำไปสู่การปฏิบัติมิชอบ ซึ่งไม่สอดคล้องตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน รวมถึงไม่สอดคล้องต่อประมวลหลักปฏิบัติแห่งสหประชาชาติของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย (UN Code of Conduct for Law Enforcement Officials) และหลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย (UN Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials)

“คำสั่งนี้ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งไม่มีประสบการณ์ในการใช้กฎหมายในการตรวจค้น และจับคนโดยไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งศาล อาจนำมาซึ่งการใช้อำนาจคุกคาม ทำให้มีความกังวลมากว่า การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่อาจผิดมาตรฐานของกฎหมายสากล หรือข้อตกลงของสหประชาชาติว่าด้วย การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะอย่างมีความเสี่ยงมากที่คำสั่งจะถูกใช้เพื่อจำกัดสิทธิการแสดงออกทางความคิด หรือการชุมนุมของประชาชน” เอเวอลีน บาลาอีส-เซอร์ราโน จาก Forum-Asia กล่าว

สี่ คำสั่งนี้ให้อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลเป็นเวลาไม่เกินเจ็ดวันในสถานที่ซึ่งไม่เปิดเผย โดยไม่มีการตรวจสอบจากศาล ย่อมเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการปฏิบัติมิชอบ ด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย

“แม้จะอ้างว่าการบังคับใช้คำสั่งนี้เป็นไปเพื่อปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา แต่คำสั่งนี้มีแนวโน้มให้เกิดการกระทำผิดทางอาญาระดับร้ายแรง ซึ่งเป็นข้อห้ามตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยได้ลงนามหรือให้สัตยาบันรับรองไว้” คาริม ลาฮิดจี จาก FIDH กล่าว

ห้า ในทางปฏิบัติแล้ว คำสั่งนี้เปิดโอกาสให้มีการนำไปใช้อย่างมิชอบ เพื่อปราบปรามและปิดปากผู้ที่ทางการมองว่ามีความเห็นแตกต่างจากรัฐ ซึ่งรวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน คำสั่งดังกล่าวขัดแย้งกับกฎหมาย และมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

“คำสั่งนี้เปรียบเสมือนการราดน้ำมันลงบนกองไฟ ที่ทำให้เกิดการตอบโต้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทย ประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่คำสั่งนี้อาจถูกใช้เพื่อพุ่งเป้าโจมตีและขัดขวางการปฏิบัติงานอันชอบธรรมของพวกเขา” เอมี่ สมิท จาก FR กล่าว

คสช. แจงจะใช้คำสั่ง 13/2559 โดยคำนึงถึงความสงบสุขของประชาชนเป็นสำคัญ

ด้าน พันเอกปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ รองหัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ ส่วนงานรักษาความสงบ สำนักงานเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวถึงแถลงการณ์ของกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนครั้งนี้ว่า ขอบคุณองค์กรสิทธิที่แสดงความคิดเห็นและออกแถลงการณ์ แต่ คสช.อยากจะชี้แจงว่า การใช้อำนาจของ คสช.จะยึดถืออำนาจกฎหมายเป็นสำคัญ และการปฎิบัติงานทุกครั้งจะมีแบบแผนขั้นตอน ไม่มีการกระทำโดยพลการเด็ดขาด

“คำสั่งนี้ได้คำนึงแล้วว่า มีบางเรื่องบางอย่างที่ผู้ปฎิบัติ(ทหาร)ต้องได้รับการคุ้มครอง ภายใต้หลักกฎหมายที่ คสช.ปฎิบัติอยู่ แล้วก่อนที่จะปฎิบัติในขั้นตอนใดๆก็ตาม เจ้าหน้าที่ก็ต้องมีการประมวลภาพข่าว การปฎิบัติให้มีความรวดเร็ว แม่นยำ ถูกต้อง และต้องมีการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมต่างๆ แต่ว่าโดยเจตนาก็คือว่า การปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ที่ละเมิดกฎหมายเนี่ย เรื่องเดียวก็คือ เป้าหมายเพื่อดำรงความผาสุขให้ประชาชน” พันเอกปิยพงศ์ กล่าว

“คสช. และรัฐบาลมองถึงความผาสุข และการร้องเรียนเรื่องความทุกข์จากพี่น้องประชาชนเป็นเรื่องหลัก ในเรื่องต่างๆ ซึ่งอาจจะแบ่งได้เป็น 16 กลุ่มตามที่เคยได้เรียนไปแล้วนะครับว่า ไม่ว่าจะเป็นอาวุธสงคราม ยาเสพติด บุกรุกป่า เรียกค่าคุ้มครอง บ่อนการพนันอะไรต่างๆ ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับสุจริตชนโดยทั่วไปเนี่ย เราถือว่าการใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม หรือหลักธรรมาภิบาลคือเรื่องสำคัญที่สุด ทำให้การบังคับใช้กฎหมายนั้นศักดิ์สิทธิโดยไม่กลั่นแกล้ง รังแก กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง บุคคลใดบุคคลหนึ่ง” พันเอกปิยพงศ์ เพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง