กอ.รมน. 4 ยืนยันการแจ้งความดำเนินคดีหมิ่นประมาทกับนักสิทธิมนุษยชน
2016.06.10
ปัตตานี

พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวในวันศุกร์ (10 มิ.ย. 2559) นี้ว่า ทางกองอำนวยการฯ ได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานที่สถานีตำรวจภูธรปัตตานี เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่องค์พัฒนาเอกชนสามราย ในข้อหาหมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่
“เราได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2559 ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างเรียกพยานมาสอบสวน ส่วนรายละเอียดเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้
“เอ็นจีโอสามคนที่เราฟ้องมีนายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และนางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นลักษณะนี้ เป็นมาหลายครั้งแล้ว เป็นการหมิ่นเจ้าหน้าที่ แล้วสร้างความเสื่อมเสียต่อประเทศชาติ” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าว
พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวว่า มูลเหตุการแจ้งความดำเนินคดีมาจากการเผยแพร่ “รายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ในจังหวัดชายแดนใต้” เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ศกนี้ ซึ่งเป็นรายงานที่นำเสนอโดยองค์กรพัฒนาเอกชนสามองค์กร คือ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และกลุ่มด้วยใจ
รายงานดังกล่าว มีความยาวรวม 120 หน้า มีการกล่าวถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ที่อ้างว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กระทำการทรมานผู้ถูกต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยรายงานดังกล่าว ได้อ้างอิงคำบอกเล่าของผู้ต้องสงสัยจำนวน 54 ราย
“จากนั้น เขาก็ได้ทำหนังสือให้เราตรวจสอบ ทางแม่ทัพก็เลยมีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ จึงขอรายชื่อจากเขามาทั้ง 54 คน เพื่อจะไปตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อตรวจสอบแล้ว จำนวน 54 คน ที่กล่าวมาในรายงาน พบว่า โคว้ต (คำบอกเล่า) ที่เขาใช้ มีซ้ำกันสิบกว่าราย พบข้อมูลแค่ 18 ราย และเป็นเคสของหลายปีที่ผ่านมา" พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวที่ห้องประชุม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคที่ 4 ส่วนหน้า ใน ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
เมื่อวันพฤหัสบดี นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ตนเองทราบจากทางสื่อมวลชนว่า มีผู้แจ้งความแล้ว แต่ตนยังไม่ได้รับหมายเรียกจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกำลังรอดูว่า ทาง กอ.รมน. ภาคสี่ จะถอนแจ้งความหรือไม่
นางสาวพรเพ็ญ กล่าวแย้ง กอ.รมน.ภาคสี่ว่า ในมุมการทำงานของนักสิทธิมนุษยชน การทำรายงานเป็นการบันทึกข้อเท็จจริงที่ได้มาจากผู้เสียหาย เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการสืบสวนสอบสวน เพื่อให้ข้อกล่าวหานี้มีความชัดเจนมากขึ้น และนำคนผิดมาลงโทษ หรือเป็นการป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น
“เป็นหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่รัฐจะมากล่าวหาว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อร้องเรียนเหล่านี้ไม่ตรงกับความเป็นจริง แล้วเราหมิ่นประมาทเขา” นางสาวพรเพ็ญกล่าว
“จริงๆ งานด้านสิทธิมนุษยชน ตอนนี้เราให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหว เราพร้อมที่จะแก้ปัญหาอยู่แล้ว การทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง จะมีการทำบันทึกข้อมูลทั้งหมด เราไม่ได้เลือกปฏิบัติจริงๆ เราสามารถใช้กฏหมายพิเศษได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการละเมิดสิทธิ์ แต่เป็นการบังคับใช้กฏหมาย” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวเพิ่มเติม