ธนาธรและพวกรับทราบข้อกล่าวหา คดี ม.116
2020.11.05
กรุงเทพฯ

ในวันพฤหัสบดีนี้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมด้วย นายปิยบุตร แสงกนกกุล และน.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา มาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา ที่ สน.พญาไท ซึ่งนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธอิสระ เป็นผู้แจ้งความ ขณะที่คณะราษฎร ประกาศว่า จะจัดกิจกรรมเดินขบวนใหญ่ เพื่อส่งจดหมายถึงพระมหากษัตริย์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563
การเข้ารับทราบข้อกล่าวหาครั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่ นายสุวิทย์ ซึ่งเป็นอดีตแกนนำ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ได้ให้ทนายความเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พญาไท ให้เอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กับ นายธนาธร, นายปิยบุตร และ น.ส.พรรณิการ์ โดยใช้หลักฐานเป็นบทความ หนังสือ การบรรยายวิชาการ และการเสวนาบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดช่วงระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา เพราะเชื่อว่า สิ่งที่บุคคลทั้งหมดกระทำมา เป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมโดยเยาวชนที่เกิดขึ้นในช่วงปีนี้
นายปิยบุตร อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวหลังการเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า การฟ้องร้องครั้งนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องการปิดปากฝ่ายตรงข้าม และจะไม่เป็นผลดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะทำให้ประเทศไม่สามารถออกจากวิกฤตทางการเมืองที่กำลังเผชิญอยู่ได้
“ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ถูกนำมาใช้ในการกลั่นแกล้ง จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกนั่นเอง... เขาเอาสิ่งที่เขาโยงไปโยงมา แล้วก็บอกว่า นี่เป็นเหตุที่ยุยงปลุกปั่นให้นักเรียนนิสิตนักศึกษาออกไปชุมนุมบนท้องถนน ออกไปมีข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นี่คือเหตุให้เขาเชื่อมโยงเข้ากับ 116” นายปิยบุตร ระบุ
“หมายความว่า การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งแง่อภิปรายทางวิชาการ ทั้งในแง่ความหวังดี อาจจะเข้าข่าย 116 ได้หมด ในความคิดของคุณสุวิทย์ ทองประเสริฐ หมายความว่าจะพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องพูดแบบ คุณสุวิทย์ และพวกเท่านั้น อย่างนั้นหรือถึงจะไม่เข้า 116 … สิ่งที่ผมกังวลใจมากไปกว่าเดิมก็คือ การที่คุณสุวิทย์ ทองประเสริฐ เอาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์แบบนี้มาแจ้งความ 116 ไม่เป็นคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตรงกันข้ามจะทำให้เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องเอาไปสู้กันในโรงในศาล” นายปิยบุตร กล่าว
ด้านนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า พนักงานสอบสวนก็ยังไม่ทราบว่า การฟ้องร้องครั้งนี้เป็นเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อใด โดยหลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้น
“ยังไม่รู้เลยว่าถูกกล่าวหาตามมาตรา 116 ที่ไหน อย่างไร ส่วนไหนที่ต้องหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม อาจขอพนักงานสอบสวน” นายกฤษฎางค์ กล่าวแก่สื่อมวลชน
ทั้งนี้ ต่อการฟ้องร้องที่เกิดขึ้น นายธนาธร อดีต ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า การฟ้องร้องดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศทางการเมือง โดยคดีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่นายธนาธร ถูกฟ้องดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
“ถ้าอยากจะสมานฉันท์ ถ้าอยากจะหาทางออกให้กับประเทศ อย่างแรกที่หยุดได้ แสดงความจริงใจได้ก็คือ หยุดการยัดเยียดคดีความให้กับกลุ่มคนที่เห็นต่างทางการเมือง หยุดยัดเยียดคดีความให้กับกลุ่มคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ตราบใดที่ยังไม่หยุดเรื่องนี้ มองไม่เห็นเลยครับจะหาทางออกร่วมกันได้อย่างไร มองไม่เห็นเลยครับว่า ฝ่ายรัฐบาลมีความจริงใจที่จะหาทางออก” นายธนาธร กล่าว
ด้าน นายสุวิทย์ ผู้ฟ้องคดีซึ่งไม่ได้เดินทางไปยัง สน.พญาไท ได้เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ หลวงปู่พุทธะอิสระ ถึงกรณีการฟ้องร้องที่เกิดขึ้นว่า การฟ้องร้องดังกล่าวเป็นสิทธิในระบอบประชาธิปไตยและเป็นความเห็นต่างทางการเมือง
“เมื่อคุณใช้สิทธิ์ของพวกคุณ มองว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ คือตัวปัญหา ฉันก็มีสิทธิ์ที่จะมองได้ว่า ต้นตอของปัญหาที่แท้จริงก็คือ คนอย่างพวกคุณนั่นแหละ ที่จ้องจองล้างจองผลาญ ด้อยค่าสถาบัน ทั้งที่ต้นตอแห่งปัญหาที่แท้จริง ล้วนแต่เกิดจากพวกคุณ ที่พยายามสร้างละครน้ำเน่าให้สังคมเชื่อว่า สถาบันพระมหากษัตริย์คือตัวปัญหา” นายสุวิทย์ ระบุ
“ฉันก็มีหน้าที่ ที่จะใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 50 บุคคลมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (1) พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (6) เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิด ความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม และหากจะว่ากันตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว คุณปิยบุตร และพวกนั่นแหละ ที่ได้ละเมิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 50(6) เองด้วยซ้ำ” นายสุวิทย์ เขียน
การชุมนุมของประชาชนและเยาวชนที่เห็นต่างจากรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อเรียกว่า “คณะราษฎร” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนกลางกรกฎาคม 2563 ขณะที่ฝ่ายต่อต้านกลุ่มผู้ชุมนุมเชื่อว่า อดีตพรรคอนาคตใหม่ หรือคณะก้าวหน้าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวครั้งนี้
ในวันเดียวกัน น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ แกนนำคณะราษฎร ได้เดินทางไปยัง สน.ทุ่งมหาเมฆ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการชุมนุมที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 โดยเบื้องต้น น.ส.ภัสราวลี ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และระบุว่า ปัจจุบัน ตนเองมีคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทั้งสิ้น 4 คดี
ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยสถิติ ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2563 มีผู้ชุมนุม และแกนนำการประชุมนุมถูกควบคุมตัว 90 คน ในนั้น 84 คน ถูกดำเนินคดีทางกฎหมายในข้อหาต่าง ๆ ขณะที่ 6 คน ถูกควบคุมตัว แต่ไม่ได้มีการระบุข้อหา
ขณะเดียวกัน พลตำรวจตรี ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แถลงในวันพฤหัสบดีนี้ว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน มีผู้ต้องหาในคดีเกี่ยวกับความมั่นคงและความผิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไปแล้วจำนวน 85 ราย เป็นผู้ต้องหาจำนวน 79 คน ข้อหาสำคัญคือข้อหามั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, การกระทำผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 68 ราย, ความผิดประทุษร้ายตามมาตรา 110 จำนวน 3 ราย,
กระทำผิดตามมาตรา 116 จำนวน 13 ราย, และความผิดเกี่ยวกับพ.ร.บ.เปรียบเทียบปรับ เช่น พ.ร.บ.ความสะอาด หรือ พ.ร.บ.อื่น ๆ จำนวน 2 ราย ขณะที่การชุมนุมทั่วประเทศพบมีผู้ถูกดำเนินคดี 140 คดีใน 26 จังหวัด
คณะราษฎรนัดเดินขบวนส่งจดหมายถึงในหลวง 8 พ.ย. 63
กลุ่มประชาชนในนามคณะราษฎร ประกาศรวมตัวทำกิจกรรมทางการเมืองอีกครั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน 2563 นี้ โดยนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
“เวลา 16.00 น. ออกมาร่วมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนเตรียมเดินขบวน เขียนจดหมายของทุกคน เพื่อเตรียมยื่นถึงกษัตริย์ของเรา ขอทุกคนจงออกมาร่วมกันยืนยันว่าประเทศนี้ดีกว่านี้ได้ ร่วมกันยืนยันใน 3 ข้อเรียกร้อง… นี่ไม่ใช่ทางเลือก แต่คือหนทางเดียวที่จะนำพาประเทศหลุดพ้นวิกฤตนี้ได้” ข้อความบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ เยาวชนปลดแอก-Free YOUTH ระบุ
“1. ประยุทธ์และองคาพยพต้องออกไป! เนื่องจากมีที่มาอย่างไม่ถูกต้อง และเพื่อเปิดทางให้ประเทศไทยกลับไปสู่ครรลองของระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ 2. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่จากประชาชน เพื่อนำพากติกาที่เป็นธรรม และไม่บิดเบี้ยว เป็นกติกาที่เขียนเพื่อประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ใช่เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่มีความหมายว่าทำให้ดีขึ้น และให้กลับมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเพื่อให้สามารถดำรงอยู่ในประเทศไทยได้อย่างสง่างาม” ตอนหนึ่งของข้อความระบุ
ขณะช่วงเย็นวันเดียวกัน ภาคีนักศึกษาศาลายา ได้จัดชุมนุมปราศรัยที่ วงเวียนหอนาฬิกา มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โดยมีผู้เข้าร่วมหลายร้อยคน โดยรวมการปราศรัยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน หรือ ศ.ป.ป.ส. ได้นำหลักฐานภาพถ่าย การจัดกิจกรรมของกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ที่บริเวณแยกท่าพระ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 เข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สน.ท่าพระ ให้ดำเนินคดีเกี่ยวกับการหมิ่นเบื้องสูงด้วย