เปอร์มัสเรียกร้องสหประชาชาติตรวจสอบการจับนักศึกษาช่วงเดือนตุลาคมนี้

สมชาย ขวัญกิจเศวต
2016.10.24
กรุงเทพฯ
TH-permas-1000 นายอัสมาดี บือเฮง เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปัตตานี(เปอร์มัส)พูดต่อสื่อมวลชน ที่หน้าสหประชาชาติ วันที่ 24 ตุลาคม 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์(24 ตุลาคม 2559)นี้ ตัวแทนสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปัตตานี (PERMAS-เปอร์มัส) ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อตัวแทนข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNOHCHR)

เพื่อให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการเลือกปฎิบัติต่อเยาวชน จากสามจังหวัดชายแดนใต้ ในการจับกุมตัวเยาวชนมุสลิมที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

นายอัสมาดี บือเฮง เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปัตตานี (เปอร์มัส) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า การที่ตัวแทนสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปัตตานีมายื่นหนังสือเพื่อให้ส่งต่อไปยังเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อเรียกร้องให้สหประชาชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

“การจับกุมครั้งนี้ เป็นการจับกุมที่มีตัวเลขสูงมาก ทำให้เรากังวลใจว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะซ้ำรอยเหตุการณ์ที่ตากใบ เพราะที่ผ่านมาระดับนโยบายภาครัฐที่ออกมานั้นดูเหมือนจะส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติกลับทำตรงกันข้าม ริดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน ริดรอนสิทธิมนุษยชนของเยาวชนอย่างมาก ที่ผ่านมาเราเรียกร้องผ่านรัฐมาโดยตลอด อยากให้รัฐแสดงความจริงใจที่แท้จริง” นายอัสมาดีกล่าว

“เรากังวลเป็นอย่างยิ่งต่อสถานการณ์จับกุมตัวเยาวชนมุสลิมโดยไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบอำนาจนิติรัฐ” นายอัสมาดีเพิ่มเติม

นายอัสมาดีระบุว่า ปัจจุบัน มีเยาวชนที่ถูกรัฐควบคุมตัว 105 คน แต่มีการเปิดเผยรายชื่อเพียง 44 คน การจับกุมตัวเยาวชน-นักศึกษาโดยอ้างเหตุผลการป้องกันเหตุวินาศกรรมเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย และอาจจะกระทบต่อการเจรจาพูดคุยสันติสุขระหว่างฝ่ายรัฐและกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐอีกด้วย โดยชี้ว่า การพุ่งเป้าผู้ต้องสงสัยการก่อเหตุวินาศกรรมมายังเยาวชนมุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนใต้มีนัยยะทางการเมือง

นายอัสมาดียังเพิ่มเติมอีกว่า เหตุผลที่กลุ่มต้องยื่นหนังสือต่อสหประชาชาติ เนื่องจากที่ผ่านมาพยายามเรียกร้องผ่านหน่วยงานของรัฐบาลแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบรับ และเหตุผลที่ไม่ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนไทยโดยตรง เนื่องจากเห็นว่า กสม.เป็นองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐ อาจทำให้การดำเนินการต่างๆมีความติดขัดได้

การจับกุมเยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงตุลาคม 2559

หลังจากการเปิดเผยของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า หน่วยข่าวกรองได้แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังการก่อเหตุระเบิดในพื้นที่กรุงเทพฯระหว่างวันที่ 25-30 ตุลาคม 2559 ในวันที่ 10 ตุลาคม 2559

ในวันที่ 10-12 ตุลาคม 2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลได้ปฎิบัติการบุกเข้าจับนักศึกษาและนักกิจกรรม จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มาอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ไปแล้วทั้งสิ้น 44 คน เป็นชาย 36 คน และหญิง 8 คน

โดยเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559 เจ้าหน้าที่ได้บุกตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องสงสัยจากห้องพักในซอยรามคำแหง 53/1 และ ซอย 53 จำนวน 9 คน, 11 ตุลาคม 2559 เจ้าหน้าที่ได้บุกตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องสงสัยจากห้องพักในซอยรามคำแหง 61 จำนวน 25 คน และวันที่ 12 ตุลาคม 2559 เจ้าหน้าที่ได้บุกตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องสงสัยจากห้องพักในซอยรามคำแหง 79 และ ซอย 81 จำนวน 10 คน โดยการจับกุมทั้ง 3 ครั้ง เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นการเข้าจับกุมเนื่องจากมีเหตุต้องสงสัยว่า เยาวชนกลุ่มดังกล่าว อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเตรียมการก่อวินาศกรรม เนื่องในโอกาสครบรอบ 12 ปี การสลายการชุมนุมตากใบ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง