พลังประชารัฐมีมติเสนอประยุทธ์เป็นนายกฯ
2019.01.30
กรุงเทพฯ

ในวันพุธนี้ พรรคพลังประชารัฐ มีมติให้เสนอชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในบัญชีนายกรัฐมนตรี ของพรรคฯ พร้อมด้วยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคฯ ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ต้องใช้เวลาตัดสินใจ เพราะมีหลายพรรคทาบทามมา
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงกับสื่อมวลชนถึงมติการประชุมกรรมการบริหารพรรค ในการพิจารณารายชื่อบุคคลที่พรรคเห็นควรที่จะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า กรรมการบริหารพรรคได้ใช้เวลาในการพิจารณาดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลามากกว่า 2-3 เดือนแล้ว โดยได้ดำเนินการสอบถามและตรวจสอบกับสมาชิกขณะลงพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงให้สมาชิกทั่วประเทศแสดงความจำนงกลับมาที่พรรคฯ ซึ่งคณะทำงานได้พิจารณารายชื่อทั้งหมดที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ามา และเสนอต่อที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคในวันนี้
“เรียงตามรายชื่อที่เราเห็นว่าเหมาะสมแล้ว เรียนกรรมการบริหาร รายชื่อแรก ก็คือท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เสนอเป็นรายชื่อที่หนึ่ง รายชื่อที่สอง ท่านอุตตม สาวนายน และท่านสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรายชื่อที่สาม คณะกรรมการได้มีการพิจารณารายชื่อทั้งสาม มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้พรรคนำทั้งสามรายชื่อนั้นเป็นผู้สมัครที่จะนำเสนอในนามเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรค ซึ่งขั้นตอนต่อไปพรรคก็จะประสานนัดหมาย เพื่อที่จะทำการเรียนเชิญแล้วก็ทาบทาม ท่านที่ได้รับการเสนอรายชื่อต่อไป” นายสนธิรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ นายสนธิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมถึงหลักการในการพิจารณาเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ คือ 1. ความรู้ความสามารถในการบริหารประเทศ และนำพาประเทศให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้ 2. การได้รับการยอมรับจากพี่น้องประชาชนว่า เป็นบุคคลที่พี่น้องประชาชนชื่นชม ชื่นชอบ และเห็นว่าเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย 3. ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตอันเป็นที่ประจักษ์ได้ว่า มีการทำงานที่ผ่านมานั้นเป็นผู้มีจริยธรรม เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตในการที่จะนำพาประเทศไทยเดินไปข้างหน้าโดยปราศจากข้อกังขาใดๆ
ด้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผู้สื่อข่าว ซึ่งถามถึงกรณีที่พรรคพลังประชารัฐเตรียมเสนอชื่อตนเองให้เป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคพลังประชารัฐนั้นว่า ขอเวลาในการศึกษานโยบายของแต่ละพรรคก่อน เพราะขณะนี้ ก็มีหลายพรรคสนับสนุนอยู่ โดยชี้แจงว่า การสนับสนุนมี 2 แบบ คือ การเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะสามารถตอบรับเป็นตัวแทนพรรคได้เพียงพรรคเดียว และขณะที่พรรคการเมืองอื่นที่บอกว่า จะเสนอชื่อตนนั้นเป็นการสนับสนุนการบริหารราชการแผ่นดิน
“ขอดูก่อนสิ หลายๆ พรรคเขาก็สนับสนุนเรา แต่ปัญหาคือ เราเลือกได้พรรคเดียว ก็ต้องดูก่อนว่า นโยบายเขาเป็นอย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอบ
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ไม่รู้สึกกลัวหากเข้าสู่สนามการเมืองแล้วจะถูกขุดคุ้ย และตกเป็นเป้าหมายในการโจมตีทางการเมือง
“ถ้ามันโจมตีไม่ใช่เรื่อง ผมก็ไม่สนใจ และถ้าผมกลัว ผมจะเข้ามาทำไม ถ้ากลัวก็ต้องกลัวตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 แล้ว จบไหม ถ้ากลัวผมไม่ตัดสินใจแบบนี้หรอก” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 ให้กำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2562 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2562 โดย กกต. กำหนดวันรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง คือ วันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2562 โดยพรรคการเมืองจะส่งรายชื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองนั้นจะเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย โดยกำหนดว่าจะต้องประกาศรายชื่อผู้สมัครในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562